ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : สธ.เดินหน้าร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ยันดูแลทั้ง'คนไข้-บุคลากรทางการแพทย์' รองอธิบดี สบส.เผยประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้ายในอีก 1-2 สัปดาห์

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เปิดเผยว่า หลังจากเครือข่ายฯ ผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบ จากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ...มานานกว่า 13 ปี แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากมีบางส่วนเห็นต่างโดยขอให้ขยายมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ในเรื่องการเยียวยาผู้ป่วยให้ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษาพยาบาลของรัฐ

"อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความพยายาม ผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว โดยล่าสุดมี 2 ร่างคือ 1.ร่าง พ.ร.บ.กองทุนคุ้มครอง ผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ซึ่งเป็นร่างหลักของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ 2.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ซึ่งเป็นร่างของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดยในวันที่ 5 มีนาคม กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ซึ่งดูแลเรื่องนี้ จะเรียกตัวแทนเครือข่ายผู้เสียหายฯ เข้าสอบถามความคิดเห็น จากนั้นในวันที่ 12 มีนาคม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะเปิดเวทีสอบถามความคิดเห็นจาก ทุกฝ่าย" นางปรียนันท์กล่าว

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.กองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบฯ ได้ผ่านการประชาพิจารณ์ 4 ภาค และใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า จะมีการระดมความคิดเห็นครั้งสุดท้ายในส่วนภาคประชาชน เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ และสภาวิชาชีพต่างๆ ทั้งแพทยสภา สภาพยาบาล ฯลฯ เพื่อสอบถามความคิดเห็นก่อนจะนำมาประมวล และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ.พิจารณา โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้มีการปรับปรุงเพื่อคุ้มครองทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ เนื่องจากผลกระทบจากการบริการสาธารณสุขเกิดขึ้นได้ทั้งผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์

"กฎหมายนี้จะไม่มีการเอาผิดใคร เป็นลักษณะประนีประนอมเพื่อยุติปัญหาการ ฟ้องร้อง ส่วนอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกองทุนฯ ที่มีรัฐมนตรีว่าการ สธ.เป็นประธานพิจารณา เบื้องต้นในร่างกฎหมายกำหนดให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โอนเงินจากมาตรา 41 และกำหนดให้แต่ละกองทุนสุขภาพภาครัฐจ่ายเข้ากองทุนในอัตราไม่เกินร้อยละ 1" นพ.ธเรศกล่าว

ขณะที่ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า การยกร่าง พ.ร.บ.ใหม่ที่มีการตั้งกองทุนพิเศษขึ้นมา เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ แนะนำว่าควรใช้กฎหมายที่มีอยู่ คือ มาตรา 41 โดยขยายวงเงินช่วยเหลือและขยายให้ครอบคลุมประชาชนทุกสิทธิ

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 5 มีนาคม 2558