ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับการยอมรับการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในด้านการรักษา โดยเฉพาะการเข้าถึงยาต้านไวรัสภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อไอวี/เอดส์ได้รับยาต้านไวรัสอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แต่ในด้านการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์พบว่า ประเทศไทยยังให้ความสำคัญไม่มากนัก แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลง โดยในปี 2557 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22 รายต่อวัน แต่จำนวนดังกล่าวยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ชาติ ปี 2555-2559 ซึ่งกำหนดให้ลดอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้ได้ 2 ใน 3 จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ได้คาดการณ์ไว้ โดยปี 2557คาดการณ์ไว้ที่ 8,535 ราย

จากมุมมองคนทำงานด้านเอดส์มากว่า 20 ปี อย่าง นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มองว่า ปัจจัยส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการสนับสนุนงบด้านการป้องกันผู้ติดเชื้อรายใหม่จากกองทุนโลก (Global Fund) อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี เพื่อนำมาใช้ดำเนินด้านเอดส์ รวมถึงในโครงการลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชน ในชุมชน แรงงานข้ามชาติ หรือกลุ่มหลากหลายทางเพศ อย่างการให้ความรู้เพศศึกษาในโรงเรียน ตามชุมชนต่างๆ รวมถึงการลดจำนวนผู้ติดเชื้อจากการใช้สารเสพติด จึงทำให้ที่ผ่านมาประเทศไทยนอกจากมีการจัดงบประมาณในส่วนนี้ไม่มากแล้ว ยังมีสัดส่วนที่ลดลงต่อเนื่อง  

แต่ด้วยงบประมาณจากกองทุนโลกที่มอบให้กับประเทศไทยเพื่อดำเนินงานด้านเอดส์สิ้นสุดลง จึงจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีแผนจัดเตรียมบูรณการเพื่อต่อยอด โดยเฉพาะในด้านการป้องกันเอดส์ในประเทศ ขณะที่งานด้านการรักษามีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นเจ้าภาพที่ชัดเจนแล้ว ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการเอดส์ชาติที่ผ่านมา จึงได้มีมติให้มีการจัดตั้งงบเพื่อดำเนินงานในส่วนการป้องกันผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์นี้

นิมิตร์ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ในการจัดทำงบประมาณ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2559” จึงได้เพิ่มเติม “งบค่าบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี 400.29 ล้านบาท” ในส่วนของงบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและงบผู้ป่วยเอดส์ โดยให้ สปสช.เป็นหน่วยงานที่นำเสนองบประมาณ แต่การดำเนินการคงต้องให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ ซึ่งจะมีการกระจายงบประมาณอย่างไรนั้น คงต้องมาช่วยกันคิดและทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“งานการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ต้องเน้นการมีส่วนร่วม ใช้กลไกทีมดำเนินการจากทุกภาคส่วน  ซึ่งควรตั้งคณะกรรมการที่มีโครงสร้างจากภาคส่วนต่างๆ ขึ้นมาบริหารจัดการ โดยมีหลักการสำคัญคือทำอย่างไรให้คนตระหนักและให้ความสำคัญต่อการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อเอชไอวี และสร้างความตื่นตัวให้มีการออกมารับบริการตรวจเลือดกันมากขึ้น เพื่อการเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วและลดการแพร่รกระจาย นอกจากนี้ต้องนำบทเรียนจากอดีต โดยก่อนหน้านี้ ในปี 2552 บอร์ด สปสช.ได้เคยอนุมัติงบประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อรณรงค์ป้องกันเอดส์มาปรับใช้เพื่อพัฒนากลไกการป้องกันเอดส์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวและว่า พร้อมกันนี้จะต้องเดินตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ชาติ ปี 2555-2559

นิมิตร์ กล่าวต่อว่า จากสถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่ แม้ว่าเมื่อดูอัตราการติดเชื้อรายใหม่ล่าสุดจะมีจำนวนลดลง แต่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามแผนยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านเอดส์ โดยยังมีบางกลุ่มที่ต้องทำการรณรงค์เพิ่มเติม อย่างกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานทั่วไปซึ่งพบว่ายังขาดความตระหนักต่อการป้องกัน นอกจากนี้ต้องเพิ่มการเข้าถึงถุงยางอนามัย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการป้องกันการแพร่กระจายโรคทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญน้อยมาก ภาพรวมมีการจัดงบซื้อถุงยางอนามัยเพื่อแจกให้ประชาชนที่เน้นกลุ่มเสี่ยงเพียงแค่ 50 ล้านบาทเท่านั้น เป็นงบจากกรมควบคุมโรค 20 ล้านบาท และงบ สปสช. 50 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่องานป้องกัน

ด้าน อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ กล่าวว่า งบประมาณดังกล่าวเป็นงบสนับสนุนเครือข่ายการทำงานด้านเอดส์ เพื่อต่อยอดงานต่างๆ ที่กองทุนโลกให้การสนับสนุนต่อเนื่องหลายปี ภายหลังจากได้ยุติการสนับสนุนงบประมาณประเทศไทย เนื่องจากมองว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องดำเนินการงานด้านเอดส์โดยเฉพาะการป้องกันการติดเชื้อให้อยู่ในงบประมาณปกติของประเทศ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าจากการสนับสนุนของกองทุนโลกที่ผ่านมา ได้สร้างศักยภาพเครือข่ายภาคประชาชนไว้เป็นอย่างดี และนับเป็นขุมกำลังที่ภาครัฐควรมองเห็นและใช้ประโยชน์ เพื่อดำเนินงานต่างๆ ที่ระบบราชการปกติทำไม่ได้ อย่างการทำงานในระดับชุมชน     

“ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องยืนด้วยตัวเองในการทำงานด้านเอดส์ โดยใช้งบประมาณของประเทศ และต้องต่อยอดงานที่กองทุนโลกได้สนับสนุนไว้และพัฒนาต่อจากนี้ โดยเฉพาะงานขับเคลื่อนเครือข่าย ทั้งงานด้านการรักษา การป้องกัน เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานด้านเอดส์ขับเคลื่อนเดินหน้า ซึ่งหากไม่มีการสนับสนุนต่อ งานเครือข่ายที่ดำเนินมาอาจสูญเปล่าได้” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี กล่าวและว่า ทั้งนี้งบประมาณ 400 ล้านบาท ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อยู่ระหว่างการนำเสนองบขาขึ้นนั้น เป็นเพียงงบเริ่มต้น ซึ่งจะทำให้สามารถทำงานด้านเอดส์ต่อไปได้ โดยเฉพาะตามแผนยุทธศาสตร์เอดส์ชาติ  

ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการเอดส์ชาติที่ผ่านมา นอกจากเสนอให้มีการจัดงบประมาณเพื่อสนับสนุนการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ข้างต้นแล้ว ยังได้ตั้งเป้าการดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อยุติปัญหาการแพร่ระบาดโรคเอดส์ภายในปี 2573 หรือในอีก 16 ปี คือ จะไม่มีเด็กที่คลอดมาแล้วติดเชื้อเอชไอวี มีผู้ใหญ่ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ไม่เกินปีละ 1,000 คน ผู้ติดเชื้อทุกคนสามารถเข้าถึงระบบบริการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัส ไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ สอดคล้องกับมติขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ล้วนแต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน รวมถึงการทำงานของเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย.