ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : 'นพ.ณรงค์' เมินข้อเสนอยุบ 'โรงพยาบาลชุมชน' แก้ปัญหาขาดทุน ยก 'รพ.บางกล่ำ' สงขลา ต้นแบบบริหารจัดการในรูปเขตสุขภาพ ยันได้ประโยชน์ทุกฝ่าย

นสพ.มติชน : เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณี นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการ สธ.เสนอให้ สธ.ยุบโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ที่ดูแลประชากรในพื้นที่น้อยกว่า 20,000 คน และอยู่ในภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยปรับให้เป็นอาคารผู้ป่วยนอกสำหรับโรงพยาบาลขนาดใหญ่แทน ว่า แนวทางนี้จะสร้างภาระงานให้กับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพราะการปฏิรูประบบบริการสุขภาพของ สธ.ขณะนี้คือ เขตสุขภาพที่พยายามถ่ายโอนงานจำนวนมากในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ไปยังโรงพยาบาลชุมชนที่ไม่มีงาน และว่าการถ่ายงานไปยังโรงพยาบาลชุมชน จะช่วยให้โรงพยาบาลชุมชนมีทั้งงานและเงิน ที่สำคัญยังเป็นการสร้างความรู้สึกของการมีคุณค่าที่ได้ทำงานด้วย

"ยกตัวอย่าง รพ.บางกล่ำ จ.สงขลา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ใกล้ รพ.หาดใหญ่ พบว่า ที่ผ่านมา รพ.บางกล่ำ ไม่มีคนไข้ใน อัตราการครองเตียงไม่ถึงร้อยละ 40 ส่งผลให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในแต่ละปีจำนวนน้อยจนประสบปัญหาขาดทุน จึงมีการหารือร่วมกันระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) รพ.หาดใหญ่ และ รพ.บางกล่ำ ว่าควรปรับระบบและมีการถ่ายโอนงานไปที่ รพ.บางกล่ำ เพื่อให้เกิดการครองเตียงอย่างคุ้มค่า จึงเลือกงานส่วนของเวชศาสตร์ฟื้นฟูมาดำเนินการ ซึ่งช่วยลดความแออัดใน รพ.หาดใหญ่ ได้" นพ.ณรงค์กล่าว และว่า ส่วนข้อกังวลที่ว่าโรงพยาบาลชุมชนไม่ยอมรับการทำงานนั้น ขึ้นอยู่กับการเจรจา

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า จากการติดตามผลของ รพ.บางกล่ำ ทราบข้อมูลจากพยาบาลว่า หลังจากได้รับการถ่ายโอนงานมา ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าที่ได้ทำงาน ขณะที่ รพ.นาหม่อม จ.สงขลา ก็เช่นกัน เภสัชกรประจำโรงพยาบาลสามารถเตรียมยารักษาโรคมะเร็งที่มีความยุ่งยากได้ เพราะเมื่อรับกระจายงานและผู้ป่วยไปดูแล โรงพยาบาลใหญ่จะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้โรงพยาบาลชุมชนด้วย ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลชุมชนสามารถอยู่ได้ ไม่จำเป็นต้องปิดตัว และว่า ยังมีโรงพยาบาลชุมชนรอบเขต อ.หาดใหญ่ อีกหลายแห่งที่เตรียมจะดำเนินการในรูปแบบดังกล่าว

นพ.ณรงค์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สธ.ยังได้วางแผนพัฒนาโรงพยาบาลขนาด 120 เตียงขึ้นไป มีอยู่ 20 แห่งทั่วประเทศ ให้มีศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วย มีแพทย์เฉพาะทาง 6 สาขาหลัก สาขาละ 2 คน เป็นอย่างน้อย มีห้องผ่าตัด ห้องคลอด หอผู้ป่วยหนัก ห้องปฏิบัติการและห้องเอกซเรย์ เพื่อประกอบการวินิจฉัยรักษาของแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งจะลดการส่งต่อไปโรงพยาบาลจังหวัด และสนับสนุนการทำงานของทีมหมอครอบครัวของแต่ละอำเภอด้วย

ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 28 ก.พ. 2558 (กรอบบ่าย)