ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สวรส.จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี 58-62” เปิดรับฟังความคิดเห็นภาคี โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการกำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการสำคัญ ร่วมเสนอแนวทางปรับยุทธ์ 5 ปี พร้อมเคลื่อนรับสถานการณ์สุขภาพในอนาคต ให้มีกระบวนการประชาพิจารณ์ที่กว้างขวางขึ้น และพิจารณาสรุปแผนสู่ฉบับสมบูรณ์อีกครั้ง โดยคณะกรรมการ สวรส. ภายในเดือน มีนาคม 2558 นี้  

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการยุทธศาสตร์ สวรส. กล่าวว่า “การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ สวรส.” เป็นการทบทวนเพื่อพัฒนาแผนยุทธศาสตร์เดิมและพัฒนาเป็นแผน 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2558 - 2562) เพื่อร่วมกันมองบนฐานการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคีการทำงาน ผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ปัญหาสุขภาพในอนาคตอย่างรอบด้านมากขึ้น

งานวิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล พบว่า การเร่งเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริการภาครัฐกลายเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งภายหลังจากที่ประเทศมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 99.4 ช่วยลดภาวะล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนยากจนได้อย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของประเทศยังประสบปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น ในปี พ.ศ.2550-2554 พบว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มจาก 300,850 ล้านบาท เป็น 434,207 ล้านบาท และคิดเป็นร้อยละ 4.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี พ.ศ.2555 ในขณะที่ ทรัพยากรสาธารณะเพื่อกิจการด้านสาธารณสุขมีสัดส่วนลดลง โดยเฉพาะทรัพยากรและงบประมาณจากส่วนกลางมีจำกัด ผนวกกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากร จึงเป็นความท้าทายให้ระบบสุขภาพของประเทศต้องมีแนวทางที่เหมาะสมในการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และความเสมอภาคในการรับบริการ รวมถึงการจัดการด้านกำลังคน

ทั้งนี้ ทิศทางและแนวโน้มสำคัญของประเทศ เช่น การกระจายอำนาจสะท้อนถึงความจำเป็นในการปรับบทบาทกลไกภาครัฐในการบริหารจัดการระบบสุขภาพ นโยบายที่สำคัญของกระทรวงสาธารณสุขที่สนับสนุนการวิจัยสุขภาพอย่างครบวงจร ตลอดจนนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ.2555-2559) ของสภาวิจัยแห่งชาติ โดยส่วนหนึ่งมุ่งเน้น “การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาและการฟื้นฟูสุขภาพ” เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและระบบการจัดการสาธารณสุขดีขึ้น และมีความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานคณะทำงานทบทวนแผนยุทธศาสตร์ สวรส. กล่าวว่า (ร่าง)แผนยุทธศาสตร์ สวรส. ปี 2558 - 2562 มองถึงการพัฒนาความเข้มแข็งโดยเริ่มที่ตัวองค์กร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการเปลี่ยนแปลงก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อการเคลื่อนภารกิจการวิจัยระบบสุขภาพของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โดยมีฐานข้อมูลจากงานวิจัยและข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผน เช่น นโยบายกระทรวงสาธารณสุข ยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติฉบับที่ 8 บัญชีรายจ่ายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2555 งานวิจัยภาพอนาคตระบบสุขภาพ มองไกลวิจัยระบบสุขภาพ ข้อเสนอการปฏิรูป สวรส. เป็นต้น

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมา สวรส. สร้างผลงานจากงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม แต่ยังมีความท้าทายใหม่ๆ ที่ต้องดำเนินการวิจัยเพื่อรองรับปัญหาและพัฒนาระบบสุขภาพ เช่น การกระจายอำนาจโดยใช้ประเด็นทางสุขภาพเป็นตัวนำ การศึกษาโครงสร้างบทบาทที่เหมาะสมของกลไกทางด้านสุขภาพ  โรคต่างๆ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของความสูญเสียอันดับต้นๆของประเทศ  เทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ ระบบยาตั้งแต่เรื่องราคา การเข้าถึง กฎระเบียบไปจนถึงรูปแบบที่สมดุลของผู้ซื้อ/ผู้ใช้/หรือธุรกิจเกี่ยวข้องที่จะช่วยลดผลกระทบของ 3 กองทุนสุขภาพ

ด้าน นพ.วินัย  สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้ความเห็นว่า การที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนสำคัญของระบบสุขภาพ ส่วนหนึ่งมาจากการวางตำแหน่งขององค์กรให้เป็นองค์กรที่มีอิทธิพลต่อระบบ โดยต้องพิจารณาถึงการมีกลไกการทำงานที่สนับสนุนการเคลื่อนของระบบได้อย่างไร เช่น บทบาทของการวิจัยตั้งแต่การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ จนถึงขั้นการประเมินผลนโยบายสำคัญๆ ทางสุขภาพ เพื่อการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง

นางสาวนวพร เรืองสกุล ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ สวรส.  เพิ่มเติมว่า สวรส. ควรเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบสุขภาพของประเทศ  โดยส่วนตัวแล้วต้องการเห็นผลลัพธ์การทำงานวิจัยที่ส่งผลทั้งต่อนโยบาย ต่อกลไกในระบบสุขภาพอย่าง เช่น สปสช. รวมทั้งผลลัพธ์ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนของประเทศด้วย ผู้บริหารจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการจัดองค์กรให้เดินไปอย่างไร การใช้เครือข่าย การบริหารจัดการหรือทำงานวิจัยเอง การกำกับทิศทางเป้าหมาย และผลผลัพธ์งานวิจัย การสร้างนักวิจัยและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดความต้องการทำงานวิจัยกับ สวรส. เป็นต้น

จากการประชุม สวรส. ได้รวบรวมความคิดเห็นต่างๆ เพื่อการพัฒนา (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ ปี 2558-2562 โดยจะจัดให้มีกระบวนการประชาพิจารณ์ที่กว้างขวางขึ้น และพิจารณาสรุปแผนสู่ฉบับสมบูรณ์อีกครั้ง โดยคณะกรรมการ สวรส. ภายในเดือน มีนาคม 2558 นี้