ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เขต 4 สระบุรีเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ภายใต้กฎหมายหลักประกันสุขภาพ ประจำปี 2558 รุกเปิดเวทีระดับจังหวัดและนำร่องระดับตำบล เพื่อรับทราบสภาพปัญหาการรับบริการด้านสุขภาพของประชาชนและการดำเนินงานด้านผู้ให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพ

นางพนิต  มโนการ รอง ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรีกล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ภายใต้ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545  โดยมอบหมายให้ สปสช.เขต ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาต่อยอดสู่การปรับปรุงพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพ นอกจากนั้นยังเป็นการรับทราบสภาพปัญหาของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ยังส่งผลดีสู่การนำมาใช้กำหนดแนวทางและนโยบายเพื่อจัดสรรบริการด้านสาธารณสุขให้กับประชาชนได้อย่างครอบคลุม   ผลจาการรับฟังความคิดเห็นในปีที่ผ่านมา สปสช.ได้มีการนำไปพัฒนาสิทธิประโยชน์และเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพหลายเรื่อง อาทิ เปลี่ยนหน่วยบริการ 4 ครั้งต่อปี  การเพิ่มการเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทย  การเข้าถึงยาที่มีราคาแพง  การปลูกถ่ายตับในเด็ก พัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ 3 กองทุนให้มีมาตรฐานเดียวในเรื่อง มะเร็ง ไตวาย เจ็บป่วยฉุกเฉิน  เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยงานกลางในการทำหน้าที่เบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลแก่สิทธิสวัสดิการ อปท.

นางสาวชลดา บุญเกษม  ผู้แทนภาคประชาชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้นำเสนอสรุปการแสดงความคิดเห็นทั่วไปผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ ว่า ปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้น ขณะที่งบเหมาจ่ายรายหัวไม่เพิ่มขึ้นมาสองปีแล้ว ทำให้การจัดการสุขภาพประชาชนไม่ทั่วถึง  จึงเสนอให้เพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  หากงบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นก็จะทำให้ประชาชนได้รับบริการด้านสุขภาพทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ เพราะปัจจุบันด้วยสิ่งแวดล้อมและมลภาวะทำให้โรคที่เป็นอยู่มีการพัฒนาความรุนแรงเพิ่มขึ้น  ทั้งนี้ยังเสนอให้ สปสช.บริหารจัดการกองทุนสวัสดิการบำนาญประชาชนเพื่อเตรียมรองรับสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพื่อให้ผู้สูงอายุอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีไม่เป็นภาระของสังคม

ขณะที่ผู้แทนจากผู้ให้บริการ ได้เสนอเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำระบบยา ด้านมาตรฐานการบริหารระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ  การผลิตบุคลากรเพิ่มเพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการ ให้มีการเพิ่มศูนย์สำรองเตียงที่ รพ.เอกชน  ด้านการบริหารจัดการสำนักงาน กรณีเงินเหลือค้าง สปสช.ควรทำรายงานเพื่อให้ผู้ให้บริการรับรู้  ขณะที่ โปรแกรมต่างเช่น e-calim ยังไม่เสถียรพอ  ที่ผ่านมาปี 55-57 ผู้ให้บริการใน รพสต.ต้องกลายเป็นหมอหน้าคอม เนื่องจากรับนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุขและจะต้องบันทึกข้อมูลส่งให้ สปสช. จึงเสนอให้ สปสช.จัดสรรงบจ้างเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลให้ รพสต.  ทั้งนี้ยังได้เสนอให้ สปสช. เพิ่มสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้ให้บริการและประชาชน ในประเด็นเจ็บป่วยฉุกเฉิน  การลงทะเบียนสิทธิการปลดสิทธิทางสุขภาพทั้ง 3 กองทุนก็พบว่ายังมีการปลดสิทธิ เปลี่ยนสิทธิล่าช้าไม่ทันต่อการรักษา จึงขอให้ สปสช.ประสานกรมบัญชีการ และประกันสังคมเพื่อบริหารจัดการระบบการลงทะเบียนสิทธิให้เร็วขึ้น

รอง ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าวต่อว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นในปี 2558 นี้  ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯระดับจังหวัดและครอบคลุมถึงระดับตำบล  คือจังหวัดปทุมธานีและนนทบุรี เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2558 ที่จังหวัดปทุมธานี,จังหวัดสิงห์บุรีและลพบุรี วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ที่จังหวัดสิงห์บุรี, จังหวัดสระบุรีและนครนายก วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ที่จังหวัดสระบุรี,จังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยา วันที่  23 กุมภาพันธ์ 2558 ที่จังหวัดอ่างทอง และเวทีระดับตำบล วันที 24 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ตำบลเพนียด อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี และเวทีระดับเขต จะมีขึ้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 ที่โรงแรมภูเขางาม จ.นครนายก โดยมีกลุ่มเป้าหมายจากผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อปท. เข้าร่วมเกือบ 200 คน โดยมีประเด็นในการเสนอความคิดจำนวน 7 ด้านได้แก่ 1.ด้านประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข  2.ด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข  3.ด้านการบริหารจัดการสำนักงาน  4. ด้านการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  5. ด้านการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและพื้นที่ 6.ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน  และ 7.ด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธิ โดยท่านที่สนใจสามารถรับชมรับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นจากการถ่ายทอดสดในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไปผ่าน www.aorsocho.com