สถานการณ์ความขัดแย้งในระบบหลักประกันสุขภาพรอบล่าสุด ที่ปะทุขึ้นมาปีกว่า และยังคงยืดเยื้อชนิดที่ไม่แน่ใจว่า ถึงที่สุดแล้วสถานการณ์นี้จะจบลงอย่างไรนั้น ประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วงคือ ความขัดแย้งครั้งนี้อาจจะกำลังทำให้ระบบสุขภาพไทย ซึ่งมีขอบเขตมากกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพหรือระบบประกันสุขภาพภาครัฐ (แต่เป็นส่วนที่สำคัญมากในระบบสุขภาพไทย) ติดกับดักและไม่สามารถพัฒนาเดินหน้าไปได้อย่างที่ควรจะเป็น

ขณะที่มุมมองมองอีกด้าน กลับมองว่า ความขัดแย้งที่เกิดจากความเห็นต่างนั้น จะเป็นตัวที่ก่อเกิดทำให้ระบบสุขภาพของไทยเดินหน้าไปได้ เพราะผ่านการปะทะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนความเห็นต่างจนตกผลึกและนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพในภาพใหญ่ได้

ขณะเดียวกัน เมื่อมองหลักหมุดหมายที่สำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ปี 2558 ถือเป็นปีที่ 13 ที่ไทยสามารถทำให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้า และแน่นอนว่า เป้าหมายไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ แต่ต้องมีการพัฒนาและเดินหน้าต่อไป ซึ่งเป็นไปตามพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งยังคงมีภารกิจที่ท้าทายหลายประการในปัจจุบันและอนาคตสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นภาวะสังคมผู้สูงอายุ ความยั่งยืนด้านการคลัง การขยายตัวของเทคโนโลยี และการตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชน รวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และการสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ในระบบสาธารณสุขในประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ได้เกิดข้อเสนอด้านปฏิรูประบบสาธารณสุขที่หลากหลายและมีทิศทางตลอดจนการมุ่งเน้นเป้าหมายที่แตกต่างกัน กระทรวงสาธารณสุขเสนอการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการสาธารณสุข ผ่านกลไกเขตบริการสุขภาพ โดยเชื่อว่าเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขโดยใช้กลไกด้านการเงินการคลังได้ ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นำเสนอทิศทางการปฏิรูป โดยเน้นที่การกระจายอำนาจ และความเท่าเทียมในการเข้ารับบริการสาธารณสุขดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทั้งสองหน่วยงานหลักในระบบสาธารณสุขให้ความสำคัญกับทิศทางการปฏิรูปที่ต่างกัน โดยฝ่ายหนึ่งมุ่งเน้น การเพิ่มประสิทธิภาพเป็นหลัก และความเท่าเทียมเป็นรอง ขณะที่อีกฝ่ายมุ่งเน้นเรื่องการสร้างความเท่าเทียมเป็นหลัก และประสิทธิภาพเป็นรอง

สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำซีรีย์ (series) ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้าขึ้น โดยสัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานในระบบสาธารณสุข ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียในระบบสุขภาพไทย จำนวน 15 คน เพื่อร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนในประเด็น ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้า และหวังว่าซีรีย์ชุดระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้านี้ จะนำไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมสำหรับทุกฝ่ายในการออกแบบระบบสุขภาพที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทยอย่างแท้จริง 

ตอนที่ 1 ‘นพ.รัชตะ’ ศึกกระทรวงหมอต้องจบบนโต๊ะเจรจา

ตอนที่ 2 ‘นพ.ณรงค์’ เขตสุขภาพ จุดเริ่มต้นปฏิรูประบบสาธารณสุข

ตอนที่ 3 ‘จอน อึ๊งภากรณ์’ อนาคตระบบสุขภาพต้องยุบรวมเหลือกองทุนเดียว

ตอนที่ 4 ต้องลงทุนสร้างระบบปฐมภูมิ วาระปฏิรูปในมุมมอง ‘อัมมาร สยามวาลา’

ตอนที่ 5 นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์  ได้เวลากระจายอำนาจ รพ. กระตุกรัฐชัดเจนการเงินการคลัง

ตอนที่ 6 นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช 3 กับดักจมปลักระบบสาธารณสุขไทย

ตอนที่ 7 บริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน 3 ระบบต้องทัดเทียม ‘วิทยา กุลสมบูรณ์’

ตอนที่ 8 นพ.วิโรจน์ วิโรจนวัธน์ "หากยังขัดแย้งต่อไม่มีทางไปไหนได้เลย"

ตอนที่ 9 เปิดความคิด หมอรางวัลเจ้าฟ้า “ความเท่าเทียมต้องสำคัญที่สุด” นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร 

ตอนที่ 10 ระบบบริการสุขภาพต้องเป็นของ “รัฐ” อย่าปล่อยให้เข้าสู่ “ตลาดเสรี”

ตอนที่ 11 ‘นพ.วัฒนา นาวาเจริญ’ ถึงเวลา “ร่วมจ่าย” แก้ปัญหาเงินฝืด

ตอนที่ 12 นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ตั้งรับความเปลี่ยนแปลงโลก ระบบบริการสุขภาพต้องปรับตัว

ตอนที่ 13 นพ.ศราวุธ สันตินันตรักษ์ ระบบสุขภาพ รากฐานสำคัญต้องอยู่ที่ชุมชน

ตอนที่ 14 สุรีรัตน์ ตรีมรรคา สุขภาพมาตรฐานเดียว ราคาเป็นธรรม สร้างความมั่นคงทางยา

ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 15 (จบ) ‘แอนน์ มิลส์’ รวม 3 กองทุนสุขภาพ ยกระดับบริการปฐมภูมิ

ศ.แอนน์ มิลส์ (Anne Mills) 

รูปแบบการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย ได้เป็นความหวังของประเทศกำลังพัฒนาอื่น ที่ต้องการยืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยการสร้างการเข้าถึงระบบสุขภาพอย่างเท่าเทียม 

นับตั้งแต่ปี 2545 ที่กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากำเนิดขึ้น ประเทศไทยค่อยๆ เรียนรู้และพัฒนาระบบให้มีศักยภาพมากขึ้น สามารถลดหนี้ครัวเรือนจากค่าใช้จ่ายทางระบบสุขภาพ เพิ่มการเข้าถึงการรักษาให้แก่ประชาชนกว่า 48 ล้านคน แต่ความท้าทายยังรออยู่ข้างหน้า ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูง มาตรฐานการบริการ และการต่อต้านจากกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วย

ถึงกระนั้น แอนน์ มิลส์ (Anne Mills) ศาสตราจารย์ด้านนโยบายและเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ภาควิชาสาธารณสุขและนโยบาย มหาวิทยาลัยลอนดอน (London School of Hygiene and Tropical Medicine) สหราชอาณาจักร ยังเชื่อว่ากองทุนหลักประกันสุขภาพจะยังคงเป็นฐานรากหลัก ในการสร้างความเท่าเทียมและเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนในอีก 10 ปีข้างหน้า พร้อมไปกับการทำให้ระบบปฐมภูมิของประเทศไทยแข็งแรง

ศ.มิลส์มีส่วนสำคัญในการประเมินผล 10 ปีกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งติดตามการพัฒนาระบบสุขภาพไทยอย่างใกล้ชิด เธอได้รับรางวัลรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2552 สาขาการแพทย์สร้างความเปลี่ยนแปลงโลก โดยนำความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์และการคลังมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบสุขภาพ

“ดิฉันคิดว่าระบบสุขภาพไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดี โดยเฉพาะตั้งแต่เริ่มมีการใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ศ.มิลส์กล่าว “กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีการออกแบบที่ดี เช่น การใช้หัวประชากร ระบบการเงิน อย่างไรก็ตาม อาจมีแรงกดดันทางการเงินที่ทำให้ยากแก่การจัดการในอนาคต รวมทั้งคุณภาพในการให้บริการและรักษาที่จะมีราคาสูงขึ้นตามมา”

ยกระดับบริการปฐมภูมิ

การยกระดับบริการปฐมภูมิถูกยิบยกขึ้นมาเป็นจุดขายของ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบัน ได้มีการประกาศเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2557 ว่าจะทำให้ทุกตำบลมีแพทย์ประจำครอบครัวเพื่อขยายการดูแลให้ครอบคลุมทุกครัวเรือนรวมทั้งผู้ป่วยติดเตียง หากแต่ยังมีคำถามว่าประเทศไทยจะยกระดับระบบปฐมภูมิได้มากน้อยเพียงไร เนื่องจากยังขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวอีกจำนวนมาก

“ดิฉันไม่แน่ใจว่าการการขาดแคลนหมอเวชศาสตร์ครอบครัวในประเทศไทยนั้นเป็นเพราะขาดแคลนจริงๆ หรือเป็นเพราะบุคลากรทางการแพทย์ไม่อยากทำงานด้านเวชศาสตร์ครอบครัว หากเป็นเพราะอย่างหลัง ดิฉันว่ารัฐต้องมีการใช้มาตรการทางการเงินมาส่งเสริมบุคลากร เช่น การให้เงินพิเศษ” ศ.มิลส์กล่าวเมื่อได้ทราบเรื่องนโยบาย

“การเน้นระบบบริการปฐมภูมิเป็นเรื่องที่เยี่ยมมาก เพราะนั่นคือรากฐานของระบบสุขภาพที่ดี ประเทศไทยมีระบบบริการปฐมภูมิด้านแม่และเด็กที่เข้มแข็ง แต่ในด้านอื่นนั้นยังไม่แข็งแรงนัก”

ในประเทศอังกฤษและประเทศแถบสแกนดิเนเวีย มีระบบบริการปฐมภูมิที่ให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากรการแพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวอย่างหลากหลาย ไม่ใช่แค่แพทย์เท่านั้น แต่ยังมีพยาบาล นักกายภาพบำบัด และบุคลากรการแพทย์สาขาอื่นที่ถูกฝึกให้มาดูแลครอบครัว

“ต้องทำให้มีบุคลากรการแพทย์ประจำครอบครัวในหลายสาขา โดยเฉพาะเมื่อมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ผู้คนก็อยากไปหาหมอตลอดเวลา ระบบบริการปฐมภูมิที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องให้คนไปหาหมอตลอด พวกเขาสามารถไปที่ศูนย์บริการปฐมภูมิเพื่อปรึกษาเรื่องสุขภาพ และเรียนรู้จากบุคลากรทางการแทย์ว่าจะดูแลตัวเองตัวเองเช่นไร หรือจำทำกายภาพบำบัดแบบไหนเอง”

ทุกคนดูแลตัวเองได้

ปัจจัยหลักที่จะทำให้ระบบสุขภาพไทยเปลี่ยนในอีก 10 ปีข้างหน้า คือการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยมีการคาดการณ์ไว้ว่าจะมีผู้อายุมากกว่า 65 ปีจะมีอัตราส่วนเป็น 25%ของประชากรทั้งหมดในปี 2583  

ศ.มิลส์เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางอายุประชากรมีผลต่อระบบสุขภาพแน่นอน และจะส่งผลต่อการเพิ่มของผู้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Noncommunicable diseases (NCDs) ในขณะที่อุปทานทางการแพทย์ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เช่น เทคโนโลยีและยาที่มีการพัฒนาหรือเปลี่ยนไป วิธีการวินิจฉัยเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้เกิดคำถามว่ากองทุนหลักประกันสุขภาพจะสามารถจ่ายราคาเหล่านี้ได้หรือไม่ หากไม่มีมาตรการรองรับ

การยกระดับปฐมภูมิเป็นหนึ่งในมาตรการที่สำคัญพอๆ กับการส่งเสริมและป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ คนไทยทุกคนต้องมีความตระหนักในการลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ และดูแลรักษาสุขภาพได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของรัฐได้อย่างเป็นผลที่สุด

ศ.มิลล์เสนอว่า สิ่งที่ควรทำตอนนี้และใน 10 ปีข้างหน้าคือการเน้นระบบการส่งเสริมและป้องกันโรคในประเทศไทยให้แข็งแรงขึ้น รวมทั้งต้องมีการรณรงค์ ให้ความรู้ประชาชนในการดูแลตัวเองให้ไกลห่างจากโรค เช่น การสร้างความตระหนักในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ รู้ที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นต้น ประเทศไทยมีตัวอย่างที่ดีในการรณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องมีการใช้องค์ความรู้ด้านสาธารณสุขและหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อทำให้การส่งเสริมและป้องกันโรคในประเทศไทยมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น ประเทศไทยต้องมีนโนยบายที่เข้มแข็งในการสร้างความเข้าใจในการรักษาโรคเบื้องต้น เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลเพื่อป้องกันการดื้อยา หรือการกินยาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การรักษาประสบผลโดยไม่สูญเสียค่าใช้จ่ายเกินพอดี มีตัวอย่างการรักษาโรคหัวใจที่ผ่านมาว่าความรุนแรงของโรคสามารถลดลงได้ หากผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่องและมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบชีวิตให้เป็นมิตรกับสุขภาพมากขึ้น 

รวมกองทุนสุขภาพ

“การปฎิรูบระบบสาธารณสุขไทยไม่ควรจะเป็นการเปลี่ยนอย่างรุนแรง  ประเทศไทยมีระบบสุขภาพที่ออกแบบได้ดีอยู่แล้ว ควรเน้นการปรับและพัฒนาระบบ มากกว่าการเปลี่ยนซึ่งต้องใช้งบประมาณในจำนวนที่มากกว่า” ศ.มิลล์กล่าว

ในส่วนของการกระจายอำนาจ เธอเชื่อว่าต้องมีความสมดุลระหว่างการรวมศูนย์และการกระจายอำนาจ 

จากประวัติการบริหารจัดการของระบบสุขภาพไทย ค่อนข้างจะเอนไปทางการรวมศูนย์อำนาจมาตลอด แน่นอนว่าควรให้มีการกระจายอำนาจได้ แต่ต้องมีการควบคุมในระดับที่เหมาะสมจากส่วนกลางเพื่อความเป็นเอกภาพ การให้โรงพยาบาลบริหารอย่างเป็นเอกเทศโดยสมบูรณ์ อาจทำให้โรงพยาบาลนั้นไม่ให้บริการเพื่อประชากรในพื้นที่อย่างเต็มที่ แต่หากโรงพยาบาลนั้นสามารถเกาะติดกับส่วนกลางได้ ในขณะที่สามารถบริหารงานได้ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น

แม้การเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันจะทำให้เกิดแรงเสียดทานและภาระทางการเงิน ศ.มิลล์ก็ยังหวังว่าวันหนึ่งในอนาคตข้างหน้า กองทุนสุขภาพทั้งสามจะรวมกันได้ เพื่อความเท่าเทียมและการจัดการที่เป็นเอกภาพ

"ภาพรวมกองทุนอาจไม่เกิดภายใน 10 ปีนี้ อย่างไรก็ตามดิฉันหวังว่ามันจะเป็นไปได้ แม้ดิฉันรู้ว่าเป็นไปได้ยาก เพราะแต่ละระบบมีประวัติศาสตร์ การบริหารทางการเงิน และกฎเกณฑ์ที่ต่างกัน นั่นก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมืองด้วย ว่าจะผลักดันให้เป็นไปได้มากน้อยเพียงไร" ศ.มิลล์กล่าว