สถานการณ์ความขัดแย้งในระบบหลักประกันสุขภาพรอบล่าสุด ที่ปะทุขึ้นมาปีกว่า และยังคงยืดเยื้อชนิดที่ไม่แน่ใจว่า ถึงที่สุดแล้วสถานการณ์นี้จะจบลงอย่างไรนั้น ประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วงคือ ความขัดแย้งครั้งนี้อาจจะกำลังทำให้ระบบสุขภาพไทย ซึ่งมีขอบเขตมากกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพหรือระบบประกันสุขภาพภาครัฐ (แต่เป็นส่วนที่สำคัญมากในระบบสุขภาพไทย) ติดกับดักและไม่สามารถพัฒนาเดินหน้าไปได้อย่างที่ควรจะเป็น

ขณะที่มุมมองมองอีกด้าน กลับมองว่า ความขัดแย้งที่เกิดจากความเห็นต่างนั้น จะเป็นตัวที่ก่อเกิดทำให้ระบบสุขภาพของไทยเดินหน้าไปได้ เพราะผ่านการปะทะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนความเห็นต่างจนตกผลึกและนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพในภาพใหญ่ได้

ขณะเดียวกัน เมื่อมองหลักหมุดหมายที่สำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ปี 2558 ถือเป็นปีที่ 13 ที่ไทยสามารถทำให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้า และแน่นอนว่า เป้าหมายไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ แต่ต้องมีการพัฒนาและเดินหน้าต่อไป ซึ่งเป็นไปตามพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งยังคงมีภารกิจที่ท้าทายหลายประการในปัจจุบันและอนาคตสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นภาวะสังคมผู้สูงอายุ ความยั่งยืนด้านการคลัง การขยายตัวของเทคโนโลยี และการตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชน รวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และการสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ในระบบสาธารณสุขในประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ได้เกิดข้อเสนอด้านปฏิรูประบบสาธารณสุขที่หลากหลายและมีทิศทางตลอดจนการมุ่งเน้นเป้าหมายที่แตกต่างกัน กระทรวงสาธารณสุขเสนอการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการสาธารณสุข ผ่านกลไกเขตบริการสุขภาพ โดยเชื่อว่าเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขโดยใช้กลไกด้านการเงินการคลังได้ ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นำเสนอทิศทางการปฏิรูป โดยเน้นที่การกระจายอำนาจ และความเท่าเทียมในการเข้ารับบริการสาธารณสุขดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทั้งสองหน่วยงานหลักในระบบสาธารณสุขให้ความสำคัญกับทิศทางการปฏิรูปที่ต่างกัน โดยฝ่ายหนึ่งมุ่งเน้น การเพิ่มประสิทธิภาพเป็นหลัก และความเท่าเทียมเป็นรอง ขณะที่อีกฝ่ายมุ่งเน้นเรื่องการสร้างความเท่าเทียมเป็นหลัก และประสิทธิภาพเป็นรอง

สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำซีรีย์ (series) ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้าขึ้น โดยสัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานในระบบสาธารณสุข ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียในระบบสุขภาพไทย จำนวน 15 คน เพื่อร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนในประเด็น ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้า และหวังว่าซีรีย์ชุดระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้านี้ จะนำไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมสำหรับทุกฝ่ายในการออกแบบระบบสุขภาพที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทยอย่างแท้จริง 

ตอนที่ 1 ‘นพ.รัชตะ’ ศึกกระทรวงหมอต้องจบบนโต๊ะเจรจา

ตอนที่ 2 ‘นพ.ณรงค์’ เขตสุขภาพ จุดเริ่มต้นปฏิรูประบบสาธารณสุข

ตอนที่ 3 ‘จอน อึ๊งภากรณ์’ อนาคตระบบสุขภาพต้องยุบรวมเหลือกองทุนเดียว

ตอนที่ 4 ต้องลงทุนสร้างระบบปฐมภูมิ วาระปฏิรูปในมุมมอง ‘อัมมาร สยามวาลา’

ตอนที่ 5 นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์  ได้เวลากระจายอำนาจ รพ. กระตุกรัฐชัดเจนการเงินการคลัง

ตอนที่ 6 นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช 3 กับดักจมปลักระบบสาธารณสุขไทย

ตอนที่ 7 บริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน 3 ระบบต้องทัดเทียม ‘วิทยา กุลสมบูรณ์’

ตอนที่ 8 นพ.วิโรจน์ วิโรจนวัธน์ "หากยังขัดแย้งต่อไม่มีทางไปไหนได้เลย"

ตอนที่ 9 เปิดความคิด หมอรางวัลเจ้าฟ้า “ความเท่าเทียมต้องสำคัญที่สุด” นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร

ตอนที่ 10 ระบบบริการสุขภาพต้องเป็นของ “รัฐ” อย่าปล่อยให้เข้าสู่ “ตลาดเสรี”

ตอนที่ 11 ‘นพ.วัฒนา นาวาเจริญ’ ถึงเวลา “ร่วมจ่าย” แก้ปัญหาเงินฝืด

ตอนที่ 12 นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ตั้งรับความเปลี่ยนแปลงโลก ระบบบริการสุขภาพต้องปรับตัว

ตอนที่ 13 นพ.ศราวุธ สันตินันตรักษ์ ระบบสุขภาพ รากฐานสำคัญต้องอยู่ที่ชุมชน

ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 14 สุรีรัตน์ ตรีมรรคา สุขภาพมาตรฐานเดียว ราคาเป็นธรรม สร้างความมั่นคงทางยา

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา

แม้ระบบสุขภาพไทยคุ้มครองสิทธิการรักษาพยาบาลได้อย่างกว้างขวาง แต่หากมองระบบในมุมมองของตลาดกับผู้บริโภค พบว่ายังมีช่องโหว่อีกมาก

“ระบบสุขภาพไทยยังขาดมาตรฐานของข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ใครอยากพูดอะไรก็พูด ทำให้เกิดการเอาเปรียบซึ่งกันโดยหลายฝ่าย เช่น ประชาชนด้วยกัน บุคลากรด้านการแพทย์ บริษัทประกัน” สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือแพ็คเก็จการตรวจสุขภาพและบริการของโรงพยาบาลเอกชนที่มีการประชาสัมพันธ์ โดยรัฐไม่เข้ามาควบคุม ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงทางช่องทางสื่อต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคยอมจ่ายเพื่อซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและราคาไม่เป็นธรรม สั่งสมปัญหาการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล เช่น ยาสเตียรอยด์ที่แพร่หลายทั่วไป ทั้งๆ ที่มีโทษมากหากบริโภคอย่างไม่เหมาะสม ในหลายครั้ง มีการเลือกให้เฉพาะข้อมูลด้านสุขภาพที่เอื้อประโยชน์ต่อการทำการตลาดของสถานประกอบการหรือแพทย์บางกลุ่ม ขาดการควบคุมราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่าบริการสูง และเติบโตอย่างรวดเร็วมากจนถูกนำเข้าตลาดหลักทรัพย์

“ทั้งหมดนี้ทำให้คนไทยถูกครอบงำ หลายคนมีรายได้ต่ำ แต่กลับใช้จ่ายด้านสุขภาพเกินตัว” สุรีรัตน์กล่าว

10 ปีข้างหน้า ข้อมูลเข้มแข็ง ราคาเป็นธรรม

ในมุมมองของสุรีรัตน์ การสร้างความเข้มแข็งด้านข้อมูลข่าวสารเป็นรากฐานของการยกระดับผู้บริโภค และเป็นงานรณรงค์ทางสังคมที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะได้รับการเชิดชูเป็นอย่างมาก หากก้าวเข้ามาทำหน้าที่นี้อย่างภาคภูมิ และควรมีการจัดทำ “คู่มือสุขภาพประจำครอบครัว” สำหรับทุกครัวเรือน เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้

ข้อเสนออื่นๆ ที่น่าทำให้เกิดผลจริง เช่น ต้องมีการสร้างระบบตรวจสอบข้อมูล เปิดช่องให้ผู้ป่วยสามารถขอความเห็นซ้ำหรือ Second opinion จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกคนก่อนที่จะตัดสินใจทำการรักษา และมีระบบสายด่วนปรึกษาเรื่องสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ

ในส่วนของการควบคุมราคาบริการด้านการแพทย์อย่างเป็นธรรม ต้องไม่สนับสนุนให้เอกชนนำธุรกิจโรงพยาบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์ สุรีรัตน์เชื่อว่าการเติบโตโดยหวังผลกำไรด้านธุรกิจมหาศาลจะส่งผลให้ระบบสุขภาพรัฐถดถอยจากการแย่งชิงทรัพยากรด้านการแพทย์ และยิ่งทำให้กลไกลการควบคุมราคาทำได้ยากยิ่งขึ้นอีก อีกด้านหนึ่ง การเร่งทำการตลาดเพื่อทำกำไรจะส่งผลให้เกิดการประชาสัมพันธ์บริการที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคได้

เธอฉายภาพแบบอย่างจากระบบสุขภาพในประเทศญี่ปุ่นว่า มีคณะกรรมการกำกับราคาอย่างเข้มข้น เพื่อให้เป็นธรรมกับทั้งฝ่ายแพทย์และประชาชนซึ่งต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือในกรณีของโรงพยาบาลในยุโรป ซึ่งหลายโรงพยาบาลเป็นขององค์กรด้านศาสนาหรือองค์กรสาธารณะที่ไม่ส่งเสริมการนำธุรกิจโรงพยาบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำให้สามารถดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างเต็มที่และมีมนุษยธรรม   

สร้างความมั่นคงทางยา

“การใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผลเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งมีผลต่อระบบสุขภาพไทยในอนาคตอย่างแน่นอน ต้องลดมายาคติ และสร้างทัศนคติที่ถูกต้องในการใช้ยา”

ที่ผ่านมา การใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผลได้ส่งผลต่องบประมาณและสุขภาพประชาชนเป็นอย่างมาก ระบบปล่อยให้ประชาชนใช้ยาแก้ปวดซ้ำซ้อน ใช้ยารักษาโรคข้ออักเสบเพื่อแก้ปวดทั้งที่ผิดวัตถุประสงค์ มีการแพร่หลายของยาในท้องถิ่นที่ถูกนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม หรือมีการจ่ายยาเกินความจำเป็น เช่น ในระบบรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการที่มีการจ่ายยาราคาแพง ในหลายครั้งที่พบเห็นผู้ป่วยเรียกร้องขอยาเกินความต้องการจากแพทย์

สุรีรัตน์เห็นว่า รัฐต้องจริงจังในการแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยประชาชนต้องได้รับข้อมูลข่าวสารด้านการใช้ยาอย่างเหมาะสม ซึ่งอาจนำไปรวมในคู่มือสุขภาพประจำครอบครัวที่เธอเสนอไว้ และต้องมีการส่งเสริมจริยธรรมของแพทย์และบริษัทยา เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วย มีการกำกับโฆษณา การขายตรง และการส่งเสริมการขายที่เข้มงวด ในภาพใหญ่ รัฐควรมีการบรรจุหลักสูตรในโรงเรียนเพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้นในเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล

“ที่สำคัญ ต้องส่งเสริมการผลิตยาในประเทศ โดยเฉพาะองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ต้องมีความเข้มแข็ง และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น"”สุรีรัตน์กล่าว

“อาจทำให้อภ.เป็นองค์กรณ์อิสระเพื่อให้สามารถบริหารได้โดยไม่มีการแทรกแทรง สามารถกำหนดราคาที่เหมาะสม และเป็นหลักประกันความมั่นคงทางยา”

ในภาคธุรกิจเองก็ควรมีการส่งเสริมให้บริษัทยาเอกชนดำเนินการผลิตยาและวิจัยในประเทศไทยได้เช่นกัน รัฐต้องไม่ทำให้ระบบยาไทยถูกควบคุมด้วยข้อตกลงการค้าเสรี

มาตรฐานเดียว-กระจายรายได้

ในระบบสุขภาพในภาพรวม สุรีรัตน์เห็นว่ายังมีความเหลื่อมล้ำมาก ไม่ใช่แค่เรื่องการเข้าถึงข้อมูลและยาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชุดสิทธิประโยชน์ของสามกองทุน คุณภาพและมาตรฐาน นอกจากนี้ การแยกจ่ายเงินของทั้งสามกองทุนยิ่งทำให้การควบคุมคุณภาพและมาตรฐานไม่มีทิศทางเดียวกัน และรัฐก็ไม่สามารถเข้าไปกำกับได้

“ต้องทำให้ระบบสุขภาพเป็นระบบเดียว มีมาตรฐานและคุณภาพเดียว ควรจะมีการออกกฎหมายใหม่ เพื่อตั้งหน่วยงานใหม่มากำกับดูแล ควบคุมให้เกิดการบริหารระบบเดียวและเกิดการคุ้มครองสิทธิทุกคนอย่างทั่วถึงทำให้ออกแบบและพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม” เธอกล่าว

ช่วงระยะหนึ่งทศวรรษเพียงพอที่จะใช้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้รัฐวางระบบการจัดการรวมและระบบการเบิกจ่ายเงินได้ ย่างไรก็ตาม ต้องมีการพัฒนาระบบหรือนโยบายอื่นไปพร้อมๆกันด้วย เช่น การยกระดับค่าแรง ทำภาษีมรดกให้สำเร็จ ทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมจากคนรวยสู่ระบบภาษีแก่รัฐ ซึ่งจะเป็นผู้นำเงินไปพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรทั้งหมดให้ดีขึ้น

ที่ผ่านมามีการพูดถึงการร่วมจ่ายในระบบสุขภาพ แต่สุรีรัตน์มองว่าต้องทำให้การกระจายรายได้สำเร็จก่อน จึงจะนำระบบร่วมจ่ายมาใช้ได้ เช่นในระบบสุขภาพของประเทศญี่ปุ่น ที่เมื่อประชากรไม่มีช่องว่างของรายได้ พวกเขาก็มีศักยภาพในการร่วมจ่ายได้

เมื่อถามสุรีรัตน์ว่าเธอมีความหวังหรือไม่ ที่จะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เธอคาดหวังภายใน 10 ปี เธอตอบว่า “เราต้องฝันอย่างนั้น ยิ่งตอนนี้อยู่ในช่วงปฏิรูป มีข้อเสนอ มีการทำรัฐธรรมนูญไป อาจมีโอกาสสร้างการเปลี่ยนแปลงได้”

แม้รัฐธรรมนูญจะถูกฉีกบ่อยในประวัติศาสตร์ไทย การรัฐประหารจะไม่เป็นที่ยอมรับ แต่เนื้อหารัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นใหม่มักไม่ค่อยถอยหลัง ประเด็นการเมืองการปกครองอาจมีการเปลี่ยนเยอะ แต่สิทธิในการคุ้มครองประชาชนมีการพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะรัฐมีการทำนโยบายสาธารณะที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้มากกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะหากมีข้อเสนอที่ได้ประโยชน์กับทั้งฝ่ายประชาชนและฝ่ายนโยบาย

“ฝ่ายการเมืองควรคำนึงการเงินการคลังเพื่อสังคม ไม่ใช่เพื่อเศรษฐกิจอย่างเดียว เช่น รัฐควรคิดว่าจะสร้างจีดีพีอย่างไรเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์” สุรีรัตน์กล่าวทิ้งท้าย

ตอนต่อไป ‘แอนน์ มิลส์’ รวม 3 กองทุนสุขภาพ ยกระดับบริการปฐมภูมิ (ตอนจบ)