ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผย ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยโลก และเลขาธิการภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบ ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี หนุนไทยออกกฎหมายบุหรี่โดยเร็ว ชี้ไทยมาถูกทางที่คุมเข้มเรื่องบุหรี่ เหมือนที่นานาประเทศกำลังทำ ชมที่ผ่านมาไทยทำได้ดี

วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.โยนาส เทคเกิน (Dr.Yonas Tegegn) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO Representative to Thailand) ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. .... ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการออกพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ โดยปรับปรุงจากกฎหมายเดิมที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ ที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เพื่อให้ข้อบังคับต่างๆ มีความทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จุดประสงค์หลักคือปกป้องเยาวชนไทยไม่ให้เข้าถึงการบริโภคยาสูบง่าย ป้องกันกลยุทธ์การตลาดและผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ รวมทั้งคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่ไทยร่วมลงนามกับ 180 ประเทศทั่วโลก

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับจดหมายจาก พญ.มาร์กาเร็ต ชาน (Dr. Margaret Chan) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก และจาก ดร.เวอรา ลุยซา ดา คอสตา อี ซิลวา (Dr.Vera Luiza da Costa e Silva) เลขาธิการภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบ โดยทั้ง 2 ฉบับได้สนับสนุนการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลไทย ในการออกพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบดังกล่าว ซึ่งความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป ยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ห้ามขายบุหรี่หรือห้ามสูบ แต่เป็นการอนุญาตที่มีขอบเขต เพื่อคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ และป้องกันการตกเป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อว่าบุหรี่เป็นของดี

ทั้งนี้ ข้อความในจดหมายของผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้แจ้งว่า องค์การอนามัยโลกสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่กระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาลไทย ได้พัฒนามาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศให้ครอบคลุมตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก และชี้ว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีเนื้อหาครอบคลุมทุกด้าน ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้การควบคุมการบริโภคยาสูบในประเทศไทยเป็นผลยิ่งขึ้น เนื่องจากช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความพยายามของประเทศไทยในการลดอัตราการสูบบุหรี่ได้ผล แต่ยังมีข้อจำกัดในกลุ่มประชากรที่อยู่ในชนบทซึ่งยังมีปัญหาสูบบุหรี่สูง

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ยังได้กล่าวในจดหมายว่า “ดิฉันไม่แปลกใจที่เห็นปฏิกิริยาจากธุรกิจยาสูบหรือกลุ่มต่างๆ ที่บริษัทบุหรี่สนับสนุนองค์กรบังหน้าเช่นสมาคมผู้ค้าปลีก ออกมาต่อต้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ดิฉันขอยืนยันต่อท่านว่า ธุรกิจยาสูบได้ดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ในหลายประเทศแต่ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตามการคัดค้านของธุรกิจยาสูบและเครือข่าย ซึ่งมักอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นเท็จหรือเสนอข้อมูลเกินจริงเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการควบคุมการบริโภคยาสูบนั้น ไม่ควรทำให้รัฐบาลลังเลในการดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนไทย”

ขณะที่ จดหมายของ ดร.เวอรา ลุยซา ดา คอสตา อี ซิลวา เลขาธิการภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบ ได้กล่าวว่า สำนักเลขาธิการฯ ขอสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ เพราะเป็นมาตรการที่เข้มแข็งในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก โดยประเทศไทยได้ลงสัตยาบันในอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 ร่างพระราชบัญญัติใหม่นี้ จะทำให้มาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศไทยสอดคล้องและครอบคลุมตามข้อบัญญัติในอนุสัญญาฯ และยืนอยู่บนแนวทางการปฏิบัติที่ได้รับฉันทามติจากที่ประชุมของประเทศภาคีสมาชิกทั่วโลก มั่นใจว่าการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องนี้จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ ที่จะคุ้มครองสุขภาพของประชาชนไทย”

ด้าน ดร.โยนาส เทคเกิน ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้กล่าวแสดงความยินดีกับประเทศไทย สำหรับความสำเร็จในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นต้นแบบของการควบคุมการบริโภคยาสูบ ที่โดดเด่นและประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ซึ่งประเทศไทยได้นำนวัตกรรมใหม่ๆ ในการณรงค์เรื่องนี้ และกำหนดมาตรการที่มีประสิทธิภาพเป็นระยะๆ จึงไม่แปลกใจที่ประเทศไทยมีการยกร่างกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับใหม่ ที่ได้มีการปรับปรุงมาตรการต่างๆ ให้เป็นไปตามกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ และในนามขององค์การอนามัยโลก ขอสนับสนุนกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่อย่างเต็มที่

สำหรับสถานการณ์การสูบบุหรี่ของประเทศไทยล่าสุด สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานผลสำรวจในปี 2557 พบประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีจำนวน 54.8 ล้านคน มีผู้สูบบุหรี่ 11.4 ล้านคน หรือร้อยละ 20.7 ในจำนวนนี้เป็นผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ 10 ล้านคน และสูบนานๆ ครั้ง 1.4 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในปี 2556 ที่พบร้อยละ 19.9 โดยอายุเฉลี่ยของผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำที่เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกคือ 17.8 ปี ที่น่าห่วงคือพบว่าในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี เริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุ 15.6 ปี ลดลงกว่าในปี 2550 ที่เริ่มสูบเมื่ออายุ 16.8 ปี ชี้ให้เห็นว่า นักสูบหน้าใหม่มีอายุน้อยลง จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน นำมาตรการต่างๆ และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสกัดกั้นนักสูบหน้าใหม่ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม