ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การฝังเข็ม (Acupuncture) เป็นการแพทย์ทางเลือกแขนงหนึ่งที่คนไทยรู้จักกันมาก เป็นวิธีการแทงเข็มรักษาโรค ด้วยการใช้เข็มซึ่งมีหลายขนาด แทงลงไปตรงตำแหน่งของจุดฝังเข็มตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยใช้หลักการรักษาของแพทย์แผนจีนที่มีการบันทึกไว้ตั้งแต่โบราณมาแล้วว่าตำแหน่งของจุดฝังเข็มมีความสำคัญและสัมพันธ์กับอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย จุดฝังเข็มบนร่างกายมนุษย์มีอยู่หลายร้อยจุด แต่จุดที่มีการบันทึกไว้อย่างชัดเจน ในเอกสารตำราแพทย์จีนโบราณและในเอกสารอ้างอิงขององค์การอนามัยโลก (WHO) มีอยู่จำนวน 349 จุด

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศยอมรับการรักษาโรคและบรรเทาอาการด้วยวิธีฝังเข็ม พร้อมกับยืนยันการรักษาที่ได้ผลเด่นชัดเป็นพิเศษ ได้แก่ อาการปวดต้นคอเรื้อรัง หัวไหล่ ข้อศอก สันหลัง ปวดเอว ปวดหัวเข่า ปวดจากโรครูมาตอยด์ ปวดจากการเคล็ดขัดยอก ปวดประจำเดือน ปวดนิ่วในถุงน้ำดี ปวดศีรษะ มีสาเหตุมาจากความเครียด หรือก่อนการมีประจำเดือน ปวดเนื่องจากสาเหตุต่างๆ ปวดในระบบทางเดินปัสสาวะ ปวดเส้นประสาท หรือปวดเส้นประสาทบนใบหน้า ปวดหลัง การผ่าตัด ปวดไมเกรน อาการซึมเศร้า รวมถึงโรคอาการทั่วไป ได้แก่ อัมพฤกษ์ และผลข้างเคียงหลังจากป่วยด้วยโรคทางสมอง ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ งูสวัด เม็ดเลือดขาวน้อยกว่าปกติ สมรรถภาพทางเพศถดถอย ภูมิแพ้ หอบหืด หวาดวิตกกังวล นอนไม่หลับ ขากรรไกรค้าง แพ้ท้อง คลื่นเหียรอาเจียน การเลิกเหล้าบุหรี่ ยาเสพติด

การรักษาที่ให้ผลดี  ได้แก่ อาการเจ็บเฉียบพลันหรือเรื้อรังในลำคอ (ต่อมทอนซิล) อาการวิงเวียนศีรษะสาเหตุจากน้ำในช่องหู สายตาสั้นในเด็ก เด็กในครรภ์มารดาอยู่ในท่าขวาง (ทำให้คลอดยาก) อาการผิดปกติของลำไส้เมื่อเกิดความเครียด ส่วนการรักษาที่ได้ผล ได้แก่ ท้องผูก ท้องเดิน การมีบุตรยาก ที่มีสาเหตุจากทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย กระเพาะอาหารเลื่อนต่ำ เรอบ่อย ปัสสาวะไม่รู้ตัว ไม่คล่อง ไซนัสอักเสบ หญิงหลังคลอดมีน้ำนมไม่พอ

จุดที่ใช้ในการฝังเข็มบริเวณศีรษะ            

การฝังเข็มเป็นแขนงหนึ่งของการแพทย์แผนจีน ซึ่งสามารถสืบย้อนประวัติได้ยาวนานหลายพันปี สำหรับประเทศไทย หนังสือว่าด้วยประวัติการแพทย์ ซึ่งเขียนโดย วอล์เคอร์ (Kemeth  Walker, ค.ศ.1959 (พ.ศ.2502) กล่าวถึงวิชาการแพทย์แผนจีนที่เข้ามาสู่ประเทศไทยในสมัยสุโขทัย พ.ศ.1800-1920 ว่ามีหลักฐานความเกี่ยวข้องระหว่างประเทศไทยในเวลานั้นกับประเทศจีน คือ การทำเครื่องถ้วยชามเคลือบ หรือที่เรียกว่า "สังคโลก" แม้ประวัติศาสตร์ของถ้วยชามสังคโลกในประเทศไทยจะกล่าวไว้อย่างหลากหลาย แต่ลักษณะของเครื่องปั้นดินเผาในสมัยนั้น นับเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงการเข้ามาของผู้คนและวัฒนธรรมจีนในแผ่นดินไทย และเป็นไปได้มากว่าได้นำเอาวิชาการแพทย์จากประเทศจีนมาสู่ประเทศไทยด้วย

เป็นที่ทราบกันดีว่าการแพทย์ของจีนนั้นเก่าแก่ สามารถย้อนไปสมัยเมื่อสี่ถึงห้าพันปีเท่าๆ กับระยะเวลาของการแพทย์แผนปัจจุบันของประเทศตะวันตก หรืออาจตามเรื่องราวย้อนไปถึงสมัยอียิปต์โบราณเมื่อสี่ถึงห้าพันปีมาแล้วเช่นกัน เพราะนักปราชญ์ของจีนได้บันทึกเรื่องราวหลักฐานเกี่ยวกับการแพทย์ไว้แทบทุกยุคทุกสมัยตลอดมา

วิธีการหาจุด และแทงเข็มบริเวณศีรษะ

หนังสือว่าด้วยวิธีการแพทย์ของจีนซึ่งแต่งโดย ฮูม (Hume, 1940 (พ.ศ.2483) ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการแพทย์ของจีน และกล่าวถึงแพทย์คนสำคัญ 14 คน คนหนึ่งในจำนวนนี้คนไทยรู้จักกันดีในหนังสือสามก๊ก ก็คือ “หมอฮัวโต๋” (เกิดใน พ.ศ.733) นายแพทย์สงัด เปล่งวานิช ผู้เรียบเรียงประวัติของหมอผู้นี้ ยกย่องท่านมากในวิชาศัลยกรรม กล่าวว่าเป็นผู้ใช้วิธีบำบัดด้วยน้ำ (hydro-therapy) และเป็นคนแรกที่ใช้การออกกำลังกายช่วยในการบำบัดโรค เป็นผู้ใช้ยาระงับความรู้สึกซึ่งยังเป็นที่โต้เถียงกันว่าผู้ใช้คนแรกอาจเป็นหมอเบียงเฉียว ศัลยแพทย์ที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง ยาที่หมอฮัวโต๋ใช้เป็นยาผง เมื่อใส่ลงในเหล้าก็เดือดเป็นฟองช่วยให้หมอฮัวโต๋ผ่าตัดในช่องท้องได้ แต่ที่คนไทยรู้จักกันมาก ก็คือการผ่าตัดแผลเกาทัณฑ์ที่ต้นแขนของกวนอู ซึ่งเป็นเกาทัณฑ์อาบยาพิษทำให้กระดูกตาย ถ้าเป็นการผ่าตัดในสมัยนี้ก็ต้องวางยาสลบ เพราะเป็นการผ่าตัดที่เจ็บปวดมากและกินเวลาในการผ่าตัด ไม่มีผู้ใดทนได้ถ้าไม่ได้รับยาระงับปวดอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่หนังสือต้องการจะยกย่องกวนอูว่ามีความอดทนเป็นเลิศ ไม่ยอมให้หมอฮัวโต๋มัดตัวติดกับเสาก่อนผ่าตัด คงเสพแต่สุราและเล่นหมากรุกจนการผ่าตัดสิ้นสุด เภสัชตำรับของจีนต่อมากล่าวว่า ยาระงับความเจ็บปวดของหมอฮัวโต๋อาจเป็น “ลำโพง” และได้ใช้ยานี้บำบัดโรคไข้หวัด โรคชักกระตุก เมื่อผสมกับกัญชา และยาอื่นอีกบางอย่างยังสามารถใช้เป็นยานอนหลับได้

หมอฮัวโต๋ ศัลยแพทย์มีชื่อของจีน

จากบทความของนายแพทย์สงัด แสดงให้เห็นว่าในสมัยหมอฮัวโต๋ แพทย์จีนมีความก้าวหน้าเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์มากทีเดียว โดยเฉพาะในวิชาการแพทย์ สาขาศัลยกรรม แต่อย่างไรก็ตาม บันทึกหลักฐานเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการแพทย์ของจีน เรียกได้ว่ามีแนวทางของตัวเองจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของการแพทย์แผนตะวันออก เนื่องจากความคิดความเชื่อเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์นั้นแตกต่างไปจากการแพทย์ตะวันตก

กล่าวคือ นายแพทย์สงัดได้สรุปข้อความในตอนท้ายไว้ว่า “ทั้งๆ ที่ หมอฮัวโต๋ได้ค้นพบยาระงับความรู้สึกและใช้ได้ผลดีมานานถึง 1,700 ปีมาแล้ว แต่วิชาศัลยกรรมของจีนก็หาได้ก้าวหน้าไป ทั้งนี้ว่ากันว่าเพราะคำสั่งสอนของท่านศาสดาขงจื้อ (ประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว สมัยพุทธกาล) ซึ่งสอนให้เคารพเทิดทูนร่างกายของคน การที่จะเชือดเฉือนเนื้อหนัง ถือเป็นการทำลายสิ่งที่ควรแก่การเคารพ เป็นเหตุให้ความรู้ซึ่งควรจะก้าวหน้าเกี่ยวกับร่างกาย ต้องชะงักงัน”

เอกลักษณ์ของการแพทย์แผนจีนอย่างการฝังเข็ม จึงเป็นศาสตร์การแพทย์ที่เคารพต่อร่างกายมนุษย์ การฝังเข็ม เป็นวิธีการรักษาที่ให้ความสำคัญกับจุดต่างๆ บนร่างกายที่สัมพันธ์กับอวัยวะในร่างกาย และเป็นวิธีการกระตุ้นระบบประสาทอย่างหนึ่งที่สามารถปรับการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายที่เสียสมดุลไปให้กลับสู่สภาพปกติโดยผ่านทางระบบประสาท การปรับควบคุมการทำงานของอวัยวะระบบต่างๆ ด้วยการฝังเข็มนั้น มีลักษณะพิเศษที่เรียกว่า "ทวิภาพ" (Biphasic effect) หมายความว่า การฝังเข็ม ณ จุดเดียวกันสามารถปรากฏผลออกมาได้ 2 แบบ คือ อาจ "กระตุ้น" ให้อวัยวะทำงานเพิ่มขึ้น หรืออาจ "ยับยั้ง" ให้อวัยวะทำงานลดลงก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะของอวัยวะหรือร่างกายของผู้ป่วยในขณะนั้น ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่แตกต่างจากการใช้ "ยา" เพราะยาจะมีฤทธิ์เพียงอย่างหนึ่งอย่างเดียวเท่านั้นคือ "กระตุ้น" หรือไม่ก็ "ยับยั้ง"

เก็บความและภาพจาก

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล, เวชศาสตร์แผนจีน (ฝังเข็ม).แหล่งที่มา : http://www.tm.mahidol.ac.th/hospital/hospital-alternative-chinese-th.php

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, การแพทย์สมัยโบราณของประเทศอินเดียและจีน. แหล่งที่มา : http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=8&chap=1&page=t8-1-infodetail02.html

สมาคมแพทย์ฝังเข็มและสมุนไพร, การฝังเข็มรักษาโรคอะไรได้บ้าง. แหล่งที่มา :  http://www.thaiacupuncture.net/web/index.php/2012-09-02-15-30-15/85-2012-08-28-04-00-20.html