สถานการณ์ความขัดแย้งในระบบหลักประกันสุขภาพรอบล่าสุด ที่ปะทุขึ้นมาปีกว่า และยังคงยืดเยื้อชนิดที่ไม่แน่ใจว่า ถึงที่สุดแล้วสถานการณ์นี้จะจบลงอย่างไรนั้น ประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วงคือ ความขัดแย้งครั้งนี้อาจจะกำลังทำให้ระบบสุขภาพไทย ซึ่งมีขอบเขตมากกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพหรือระบบประกันสุขภาพภาครัฐ (แต่เป็นส่วนที่สำคัญมากในระบบสุขภาพไทย) ติดกับดักและไม่สามารถพัฒนาเดินหน้าไปได้อย่างที่ควรจะเป็น

ขณะที่มุมมองมองอีกด้าน กลับมองว่า ความขัดแย้งที่เกิดจากความเห็นต่างนั้น จะเป็นตัวที่ก่อเกิดทำให้ระบบสุขภาพของไทยเดินหน้าไปได้ เพราะผ่านการปะทะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนความเห็นต่างจนตกผลึกและนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพในภาพใหญ่ได้

ขณะเดียวกัน เมื่อมองหลักหมุดหมายที่สำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ปี 2558 ถือเป็นปีที่ 13 ที่ไทยสามารถทำให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้า และแน่นอนว่า เป้าหมายไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ แต่ต้องมีการพัฒนาและเดินหน้าต่อไป ซึ่งเป็นไปตามพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งยังคงมีภารกิจที่ท้าทายหลายประการในปัจจุบันและอนาคตสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นภาวะสังคมผู้สูงอายุ ความยั่งยืนด้านการคลัง การขยายตัวของเทคโนโลยี และการตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชน รวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และการสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ในระบบสาธารณสุขในประเทศไทย

ที่ผ่านมา ได้เกิดข้อเสนอด้านปฏิรูประบบสาธารณสุขที่หลากหลายและมีทิศทางตลอดจนการมุ่งเน้นเป้าหมายที่แตกต่างกัน กระทรวงสาธารณสุขเสนอการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการสาธารณสุข ผ่านกลไกเขตบริการสุขภาพ โดยเชื่อว่าเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขโดยใช้กลไกด้านการเงินการคลังได้ ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นำเสนอทิศทางการปฏิรูป โดยเน้นที่การกระจายอำนาจ และความเท่าเทียมในการเข้ารับบริการสาธารณสุขดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทั้งสองหน่วยงานหลักในระบบสาธารณสุขให้ความสำคัญกับทิศทางการปฏิรูปที่ต่างกัน โดยฝ่ายหนึ่งมุ่งเน้น การเพิ่มประสิทธิภาพเป็นหลัก และความเท่าเทียมเป็นรอง ขณะที่อีกฝ่ายมุ่งเน้นเรื่องการสร้างความเท่าเทียมเป็นหลัก และประสิทธิภาพเป็นรอง

สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำซีรีย์ (series) ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้าขึ้น โดยสัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานในระบบสาธารณสุข ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียในระบบสุขภาพไทย จำนวน 15 คน เพื่อร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนในประเด็น ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้า และหวังว่าซีรีย์ชุดระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้านี้ จะนำไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมสำหรับทุกฝ่ายในการออกแบบระบบสุขภาพที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทยอย่างแท้จริง

ตอนแรกพบกับ นพ.รัชตะ ศึกกระทรวงหมอต้องจบบนโต๊ะเจรจา

นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน

ความเคลื่อนไหวในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ช่วงชิงพื้นที่ข่าวบนหน้าสื่อมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วงการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส.ดูเหมือนว่า สธ.จะมีบทบาทสอดรับการเคลื่อนไหวมากที่สุด

แม้ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเข้าควบคุมอำนาจบริหารราชการและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เพื่อเดินหน้าปฏิรูป แต่บรรยากาศใน สธ.ก็ยังคงคุกรุ่นไม่เปลี่ยนแปลง

ขัดแย้งต้องจบในวงเจรจา

"ปัญหาแค่นี้หาทางออกได้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร" คือคำยืนยันของ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) ต่อความเห็นต่างเรื่องรูปแบบการจ่ายเงินใน "เขตสุขภาพ" ระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

นั่นเพราะหลักใหญ่ใจความของนโยบายเขตสุขภาพเป็นสิ่งที่ดี และทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าควรดำเนินการต่อไป

"เขตบริการสุขภาพหมายถึงกลุ่มจังหวัดที่สังกัดในเขต เราอยากให้แต่ละเขตใช้ทรัพยากรร่วมกันมากที่สุด โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นทรัพยากรของใคร ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยที่มีศักยภาพมากขึ้น ลดความแออัดและกระจุกตัวของผู้ป่วยในโรงพยาบาลส่วนกลาง เพราะสามารถผ่องถ่ายผู้ป่วยกันในเขตได้ ซึ่งแนวทางเหล่านี้ทุกคนเห็นด้วยกันหมด ที่ยังเห็นไม่ตรงกันอยู่ก็คือเรื่องเงิน"

สำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น นพ.รัชตะ มั่นใจว่าสามารถจบลงได้ด้วยการเจรจา โดยที่ผ่านมามีการพูดคุยกันน้อยเกินไปจนทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งหลังจากนี้จะต้องพูดคุยกันให้มากขึ้น เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นกันให้มากขึ้น

"หลักการที่ผมใช้คือปรึกษาหารือกันโดยอิงความถูกต้องของข้อมูล เอาข้อมูลมาดูกันว่ามันผิดตรงไหน แก้กันอย่างไร และใช้กระบวนการรับฟังความเห็นให้มากขึ้น ปีนี้ผมต้องการรับฟังกันอย่างจริงจังถือเป็นนโยบาย เพราะครบรอบ 12 ปี ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เข้ามาช่วยเหลือประชาชนแล้ว เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ต้องเอาให้จบ"

ในส่วนของการบริหารจัดการงบประมาณก็ต้องทำให้ดี แต่ยอมรับว่าอย่างไรแล้วก็ต้องเพิ่มขึ้น นั่นเพราะประเทศไทยมีผู้สูงอายุมากขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทุกปี หรือแม้แต่เทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่จะนำเข้ามาใช้สอยก็ทำให้ค่าใช้จ่ายก็ต้องเพิ่มขึ้น

"รัฐบาลต้องจัดงบประมาณให้เพียงพอ ไม่ใช่น้อยเกินไป อย่างปีที่แล้วก็ถูกตัดงบประมาณทั้งที่เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมันเพิ่มขึ้นทุกปี และแต่ละปีก็ไม่ได้ใช้เงินมากในการดูแลสุขภาพคนไทย แต่หลังจากนี้ต้องมุ่งไปเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค"

เดินหน้า 'มะเร็ง' มาตรฐานเดียว

ท่ามกลางกระแสปฏิรูปที่ดำเนินมานานกว่า 7 เดือน ภายใต้การบริหารราชการของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สธ.ได้วางรากฐานนโยบายสุขภาพสำหรับอนาคต เริ่มตั้งแต่การพึ่งพาตนเองด้านทรัพยากรทางการแพทย์ให้ได้ รวมไปถึงการลดความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพ

ประการแรก ต้องสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชนอย่างครอบคลุม ทั้งด้านยา วัคซีน หรือเครื่องมือทางการแพทย์ เพราะในขณะนี้เราไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ หรืออย่างยาที่บอกกันว่าสามารถผลิตเองได้ในประเทศไทยนั้นก็ไม่เป็นความจริง เรายังต้องนำเข้าสารตั้งต้นมาจากต่างประเทศ แล้วนำมาทำเป็นเม็ดหรือน้ำ และควบคุมคุณภาพก่อนจะนำออกไปขาย หรือแม้แต่วัคซีนก็มีเพียงส่วนน้อยที่ผลิตได้เองในประเทศ

"หากเกิดภาวะวิกฤตสงคราม ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาดหนัก ถามว่าเราจะทำกันอย่างไร ตัวอย่างน้ำท่วมที่ผ่านมาเราขาดแคลนน้ำเกลือ ดังนั้นต้องสร้างความมั่นคงทางด้านนี้ให้มากขึ้น ต้องสนับสนุนให้เกิดการผลิตยาเอง"

ประการต่อมาเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพ เราไม่ได้มองถึงเรื่องการยุบรวมกองทุน เพราะจะเป็นที่ยอมรับได้ยาก แต่จะพยายามทำให้ทั้ง 3 กองทุน ซึ่งประกอบด้วยกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) กองทุนประกันสังคมและกองทุนสวัสดิการข้าราชการ เชื่อมโยงกันในการบริหารจัดการข้อมูล

"ตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้ให้บริการกับกลุ่มผู้ซื้อก็จะต้องไปคิดว่าทำอย่างไรจะได้สะดวกรวดเร็วในการจัดซื้อ ไม่มีอะไรติดขัด มีมาตรฐานที่ถูกต้อง และหากมีการจัดเก็บข้อมูลที่ถูกต้อง ก็ทำให้การจัดทำงบประมาณง่ายมากขึ้น เนื่องจากจะได้รู้ว่ากลุ่มโรคใดต้องใช้งบเท่าไรจึงจะเหมาะสม" นอกจากนี้ ต้องทำให้แต่ละกองทุนมีสิทธิประโยชน์ที่คล้ายคลึงกันมากขึ้น โดยขณะนี้ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกันหมด หรืออุบัติเหตุฉุกเฉินก็เท่าเทียมกันหมด ซึ่งต่อไปที่ต้องดำเนินการก็คือเรื่องมะเร็งที่อาจจะทำให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด

สังคมสูงวัย-โรคเรื้อรังสุม

สิ่งที่น่ากังวลและจะเกิดขึ้นแน่ในอนาคตอันใกล้นี้ คือการเติบโตขึ้นของสัดส่วนผู้สูงอายุ โดยคาดกันว่าในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 20% ซึ่งหากไม่มีการเตรียมพร้อมตั้งรับก็จะทำให้ไม่สามารถดูแลประชากรกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสิ่งที่ตามมาเป็นเงาตามตัวคืองบประมาณที่จะสูงขึ้น แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจต่อไป

อีกหนึ่งความกังวลก็คือ ประชาชนชาวไทยจะเผชิญกับโรคไม่ติดต่อที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรม เช่น โรคความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ที่กระทบส่งต่อไปยังโรคหัวใจ หรือโรคไต ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายเช่นกัน

"เมื่อคนวัยทำงานตายก่อนวัย ก็ไม่สามารถใช้แรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ แต่เรื่องนี้สามารถป้องกันได้"

อย่างไรก็ดี หากเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกันแล้วการแพทย์ของประเทศไทยไม่เป็นรองใคร ต่างชาติให้การยอมรับและเข้ามารักษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล

"เมื่อชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการในประเทศไทยก็จะไปเชื่อมโยงกับรายได้ของโรงแรม ภาคการท่องเที่ยว สายการบิน นับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องหาจุดสมดุลเพื่อไม่ให้ประชาชนชาวไทยได้รับผลกระทบจาก โกลบอลเฮลท์ (Global Health) ด้วย"

ทั้งหมดคือทิศทางระบบสุขภาพไทย ฉายผ่านวิสัยทัศน์ของเจ้ากระทรวงสาธารณสุข

เผยแพร่ครั้งแรก : นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 26 มกราคม 2558

ตอนต่อไปพบกับ ‘นพ.ณรงค์’ เขตสุขภาพ จุดเริ่มต้นปฏิรูประบบสาธารณสุข