ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่ม รร.แพทย์ สะท้อนปัญหา “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ในเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความเห็น ชี้งบเหมาจ่ายรายหัวไม่เพียงพอ เหตุรักษาโรคยาก ซับซ้อน ค่าใช้จ่ายสูง ต้องให้บริการบนสิทธิประโยชน์ไม่รู้จบ แถมบางรายการยังเบิกไม่ได้ทั้งที่จำเป็นต้องให้การรักษาผู้ป่วย พร้อมโอดกลไกเบิกจ่ายยุ่งยาก รายละเอียดมาก ซ้ำเปลี่ยนแปลงบ่อย เพิ่มภาระงานหนัก ล่าสุดแพทย์ต้องเป็นผู้กรอกข้อมูลมะเร็ง เสนอ สปสช.ตกลงหน่วยบริการ ก่อนปรับหลักเกณฑ์และกำหนดสิทธิประโยชน์ใหม่ แนะ สธ.- สปสช. ควรจูงมือรุก “สำนักงบ” แจงปัญหางบไม่พอ

ในการประชุมรวบรวมข้อเสนอจากผู้ให้บริการและเครือข่ายด้านสาธารณสุข ต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เพื่อเตรียมข้อมูลเข้าสู่เวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ปีงบประมาณ 2558 โดยในส่วนของการรับฟังความเห็นผู้ให้บริการต่อเนื่องเป็นวันที่สอง (30 ม.ค.) เป็นเวทีของกลุ่มผู้ให้บริการที่อยู่นอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้งในกลุ่มหน่วยบริการที่เป็นโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เวทีนี้แม้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นไม่มากนัก แต่ต้องบอกว่า ในส่วนผู้แทนกลุ่มโรงเรียนแพทย์ได้นำเสนอข้อมูลและความเห็นต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างเข้มข้น โดยเริ่มจาก นางจงดี มิ่งเมือง ผู้แทนจากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เมื่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง แต่จะมากน้อยคงแตกต่างกัน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีไว้เพื่อหนี แต่ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา และต้องยอมรับว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในด้านการรักษา ดังนั้นเราจึงต้องสนับสนุนต่อ

นางจงดี กล่าวว่า วันนี้หากถามว่า รพ.สงขลานครินทร์ อยากเห็นอะไรในระบบ คือ 1.อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี 2.หน่วยบริการไม่ว่าอยู่ในระบบใดต้องมีงบประมาณพอที่จะทำหน้าที่ต่อไปได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่เองต้องมีความสุขในระดับหนึ่ง และ 3.การกำหนดหลักเกณฑ์ที่ให้หน่วยบริการดำเนินการ ต้องมีความเข้าใจร่วมกันและต้องมีการทดสอบว่า หลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นนี้สามารถทำได้ในทางปฏิบัติหรือไม่ อย่างไรก็ตามขณะนี้หน่วยบริการต่างประสบปัญหางบเหมาจ่ายรายหัวที่ได้รับไม่เพียงพอที่จะดูแลประชาชนบนชุดสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มไม่รู้จบ โดยไม่มีงบประมาณเพิ่มเติม สถานการณ์ขณะนี้อยู่บนการจัดบริการที่ผู้ซื้อบริการบอกว่าเหมาะสม แต่ผู้ให้บริการบอกขาดทุน ดังนั้นจึงต้องคิดร่วมกัน ซึ่งหน่วยบริการไม่ได้หวังผลกำไร แต่ต้องทำให้อยู่ได้

“เรื่องอัตราค่าบริการต้องมาดูข้อมูลกัน หน่วยบริการต้องอยู่ได้ หากมีปัญหางบประมาณทั้ง สธ. และ สปสช.และทุกฝ่ายต้องจูงมือกันไปคุยกับสำนักงบประมาณ เพราะขณะนี้ทั้งเงินเดือน เครื่องมือการแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ต่างมีราคาสูงขึ้น ขณะที่งบประมาณและอัตราค่าบริการยังคงเท่าเดิมย่อมกระทบหน่วยบริการแน่นอน และหากรัฐบาลบอกงบประเทศมีเพียงเท่านี้ ก็ต้องหากวิธีอื่นเข้ามาหนุนเสริม” ผู้แทน รพ.สงขลานครินทร์ กล่าว

นางจงดี กล่าวว่า ที่ผ่านมากลไกการจ่ายเงิน สปสช. แม้ว่าจะเป็นการจ่ายเพิ่มคุณภาพการบริการ แต่ก็มีความซับซ้อนในการจัดเก็บ หลักเกณฑ์ที่ สปสช.กำหนดขึ้น เจ้าหน้าที่การเงินต้องอ่าน 2-3 รอบถึงจะเข้าใจ และยังต้องไปค้นหาข้อมูลเพื่อเบิกจ่าย วันนี้จึงต้องถามว่า 12 ปีที่มีระบบหลักประกันสุขภาพฯ มีกี่หน่วยบริการที่สามารถเบิกจ่ายเงินจาก สปสช.ได้ครบถ้วนตามที่ได้บริการไป แม้แต่โรงเรียนแพทย์เองก็ทำไม่ได้ นอกจากนี้ยังไม่ทันที่บุคลากรจะได้พัฒนาเรียนรู้วิธีการเบิกจ่าย สปสช.ก็มีการปรับหลักเกณฑ์ ซึ่งมีการปรับทุกปี ทำให้เป็นปัญหา 

“ก่อนที่ สปสช.จะออกสิทธิประโยชน์ และปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายควรคุยกับหน่วยบริการให้ชัดเจนก่อน และอยากให้ทุกกองทุนเป็นการจ่ายเงินที่เป็นรอบบัญชีเดียวกันเพื่อลดความซับซ้อนและภาระให้หน่วยบริการ ซึ่งถึงเวลาที่ควรมาคุยกันอย่างจริงจัง” นางจงกล กล่าว และว่า การเบิกจ่าย สปสช.มีความซับซ้อน รพ.ต้องใช้บุคลากร 5 เท่าของระบบสวัดิการข้าราชการ เพื่อทำเรื่องเบิกจ่ายกับ สปสช.ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ได้ตั้งใจตำหนิฝ่ายใด แต่ต้องการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นและขอความร่วมมือทุกฝ่ายเพื่อให้ระบบเดินหน้าไปได้ นอกจากนี้ควรมีหน่วยงานกลางในการทำหน้าที่จัดการข้อมูลเบิกจ่าย เพื่อลดปัญหาเหล่านี้

ด้าน .อ.หญิง อุษา ตันติแพทยางกูร ผู้แทนจาก รพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า แม้ว่ากลุ่มโรงเรียนแพทย์จะไม่ได้มีการคุยกัน แต่ก็คงสรุปได้ในประเด็นที่คล้ายกัน ซึ่งในส่วน รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ สรุปปัญหาที่ควรปรับแก้ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใน 10 ประเด็น คือ 1.แยกโครงการพิเศษ-โครงการเฉพาะโรคมากเกินไป 2.การกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ (กทม.) 3.โครงการต่างๆ ที่ให้ตอบรับ มีระบบปลีกย่อยที่ให้ดำเนินการมาก 4.กำหนดกิจกรรมตัวชี้วัดมาก 5.อัตราการจ่ายชดเชยไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่แท้จริง 6.เปลี่ยนแปลงบ่อย 7.ต้องคีย์ข้อมูลเป็นจำนวนมาก 8.ต้องการข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง รพ.ไม่สามารถรองรับภาระงานที่เพิ่มขึ้น 9.ยา จ.2 จ่ายชดเชยเป็นยา ยากต่อการบริการจัดการ และ 10.โปรแกรมไม่เสถียรและช้า

พ.อ.หญิง อุษา กล่าวว่า จาก 10 ประเด็นข้างต้นนี้ ขอสรุป 3 ประเด็นหลักที่เป็นปัญหามากและต้องมีการปรับแก้ไขโดยเร็ว คือ 1.การเก็บข้อมูลของ สปสช.ที่มีรายละเอียดข้อมูลเชิงลึกมากไป อย่างโครงการมะเร็งต้องมีการลงทะเบียนระดับแพทย์ อยากให้มองว่า แพทย์ พยาบาลและเภสัชกร มีสัดส่วนต่อประชากรเท่าไหร่ การบริการปกติก็ไม่ทันอยู่แล้ว หากมองเชิงเศรษฐศาสตร์ถือว่าไม่คุ้มค่า เพราะนำแพทย์เฉพาะทางมาทำงานธุรกรรมแทนที่จะเพิ่มการรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นร้อยเปอร์เซ็น

2.การได้รับเงินชดเชยไม่เพียงพอ เพราะ รพ.ตติยภูมิต่างประสบภาวะขาดทุนทั้งสิ้น อยู่ที่ประมาณร้อยล้านบาทขึ้นไป อยากให้มีการหาทางออก ไม่ว่าจะเป็นการร่วมจ่าย การแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่าย หรือลดจำนวนการส่งข้อมูลเพื่อให้ รพ.สามารถเบิกจ่ายได้ครบ และ 3.การกำหนดหลักเกณฑ์กลางไม่อยู่ในบริบทพื้นที่ทำได้ เราได้ส่งสัญญาณให้ สปสช.กทม.เขต 13 แล้ว เพราะหลักเกณฑ์กลางดังกล่าวที่ สปสช.กำหนดขึ้น ไม่สามารถทำได้ใน กทม.

นพ.อนุรักษ์ รวีวัฒนกุล ผู้แทนจาก รพ.ศิริราช กล่าวว่า ในฐานะที่เป็น รร.แพทย์ การดูแลผู้ป่วยจะมีความซับซ้อน แต่การชดเชยผู้ป่วยสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขณะนี้ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงที่จะทำให้ รพ.อยู่รอดได้ และยังไม่สอดคล้องกับบริบทของ รร.แพทย์ เช่น กรณีการให้ยาบางรายการกับผู้ป่วย ซึ่งจะต้องมีการติดตามผลต่อเนื่องเพื่อดูภาวะการใช้ยาที่ไม่พึงประสงค์ แต่ สปสช.ให้งบสนับสนุนการติดตามเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น ที่เหลือจึงตกเป็นภาระของ รพ. ดังนั้นในมุมของศิริราชเห็นว่า ในการกำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราการชดเชย อยากให้มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้ง แพทย์ผู้ให้การรักษา สธ. และ สปสช. เพื่อให้เกิดความเข้าใจและนำไปสู่การพัฒนาร่วมกัน

นพ.กฤษฎา เปานาเรียง ผู้แทนจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาที่ รพ.ศรีนครินทร์เจอก็เช่นเดียวกับ รพ.ระดับตติยภูมิอื่นๆ ซึ่งเราเป็น รพ.ขนาดใหญ่ รักษาโรคยากๆ แถมมีค่าใช้จ่ายสูง แต่เวลาได้รับการชดเชยผู้ป่วยในสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วหน้าก็ไม่ได้ตามที่เบิกจ่าย แถมบางครั้งยังเบิกไม่ได้ ซึ่งต้องบอกว่าวิทยาการแพทย์ของประเทศไทยไปไกลมาก แต่การพัฒนาระบบการเบิกจ่ายยังช้าอยู่ ทำให้เป็นอุปสรรคและภาระของ รพ. เช่น การผ่าตัดสมอง เราพบกว่าการฉายแสงช่วยลดภาวะทางสมองที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ สปสช.จำกัดให้เบิกจ่ายการฉายแสงเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง ทำให้เก็บค่ารักษาไม่ได้   

นอกจากนี้การดำเนินโครงการต่างๆ ของ สปสช.ยังต้องการข้อมูลเยอะมาก อย่างเช่น การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ปีนี้ก็ให้แพทย์ต้องกรอกข้อมูลมะเร็ง 12 โรค แถมยังต้องลงเว็บ สปสช.อีก ทำให้เสียเวลา เพิ่มภาระงาน อีกทั้งข้อมูล สปสช.ยังเปลี่ยนแปลงบ่อย ซึ่งเป็นปัญหาอย่างยิ่ง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง