ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯและเอฟเอโอ จัดโครงการสร้างความเข้มแข็งระบบบริหารจัดการผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ของประเทศไทยตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ฟาร์ม ถึงตลาด ร้านอาหาร เป็นประเทศนำร่องในอาเซียนโดยศึกษาที่เชียงใหม่และสระบุรี ระยะดำเนินการ 2 ปี เพื่อสร้างความปลอดภัยผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไทย ผู้บริโภคมั่นใจ พร้อมสนับสนุนเป็นศูนย์กลางระบบการขนส่งในประชาคมอาเซียน เผยขณะนี้คนไทยกินเนื้อสัตว์เฉลี่ยคนละ 27 กิโลกรัมต่อปี ส่วนระดับโลกเฉลี่ยคนละ 43 กิโลกรัมต่อปี

วันนี้ (30 มกราคม 2558) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ร่วมเปิดประชุมผู้บริหารระดับสูง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องด้านอาหารปลอดภัย จากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 30 คน พร้อมทั้งลงนามสัญญาระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือเอฟเอโอ (FAO) โดยนายวิลลิ เอ เฟาวอ (Mr. Vili A. Fuavao) และกระทรวงเกษตรฯ ในโครงการความร่วมมือ “เสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันความปลอดภัยด้านอาหารและการควบคุมคุณภาพอาหารในการบริหารจัดการห่วงโซ่ของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์”(Institutional strengthening on Food Safety and Quality Control in Supply Chain Management of Livestock Products) เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยเนื้อสัตว์

นพ.สุริยะ กล่าวว่า เนื้อสัตว์เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เป็นอาหารที่มนุษย์จำเป็นต้องบริโภคทุกวัน ปัญหาที่พบที่ผ่านมา เช่น การปนเปื้อนเชื้อโรค เช่นเชื้อวัวบ้า การใช้สารเร่งเนื้อแดง ยาปฏิชีวนะตกค้าง รวมทั้งการบริโภคที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้เกิดอันตรายตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงระดับรุนแรงเป็นอันตรายต่อชีวิต ต่อปีทั่วโลกบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิดกว่า 300 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหมู รองลงมาคือเนื้อสัตว์ปีก โดยเฉลี่ยคนละ 43 กิโลกรัมต่อปี อัตราการบริโภคในประเทศพัฒนาแล้วสุงกว่าประเทศกำลังพัฒนาประมาณ 2 เท่าตัว ในส่วนของไทยบริโภคเนื้อสัตว์เฉลี่ยคนละ 27 กิโลกรัมต่อปี

ในการสร้างความมั่นใจผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย ประสานการทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเอฟเอโอ จัดทำโครงการ “เสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันความปลอดภัยด้านอาหารและการควบคุมคุณภาพอาหารในการบริหารจัดการห่วงโซ่ของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์” ตามกรอบความร่วมมือไทยและเอฟเอโอ ปี 2555-2559 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในปี 2555 เพื่อร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารตลอดห่วงโซ่ระบบอาหารของประเทศไทย เช่นกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการอาหารตลอดทั้งห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์ (Livestock Product) ของประเทศไทย ตั้งแต่ฟาร์ม ถึงตลาด ร้านอาหาร และผู้บริโภค เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ของไทยปราศจากสิ่งปนเปื้อนและเชื้อโรคต่างๆ สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางระบบการขนส่งในอาเซียน โดยเอฟเอโอได้สนับสนุนงบประมาณ และผู้เชี่ยวชาญจากเอฟเอโอ จำนวน 261,000 เหรียญสหรัฐ ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ตั้งแต่ มกราคม 2558-ธันวาคม 2559

นพ.สุริยะ กล่าวต่อว่า ตามโครงการดังกล่าว จะมีการวิเคราะห์และการประเมินจุดที่ยังเป็นปัญหาในระบบการควบคุมอาหารขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมปศุสัตว์ กระทรวงสาธารณสุข องค์กรท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อปรับบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน ลดช่องว่างและความซ้ำซ้อน จัดทำแผนและกิจกรรมส่งเสริมความเข้มแข็งการควบคุมคุณภาพอาหารทั้งห่วงโซ่อาหารร่วมกัน เพื่อพัฒนาคุณภาพความปลอดภัยของเนื้อสัตว์และนม โดยดำเนินการตามแผนนำร่องใน 2 จังหวัดคือเชียงใหม่และสระบุรี พร้อมทั้งพัฒนาเว็บไซต์ www. Foodsafetythailand.net เพื่อเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชน และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยด้านความปลอดภัยอาหารระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก หรืออินโฟแซน (International Food Safety Authority Network : INFOSAN) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคส่งเสริมระบบการค้าในประเทศและระหว่างประเทศ รวมไปถึงการปรับปรุงหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงาน INFOSAN ของประเทศไทยให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งไทยเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีสมาชิกทั่วโลก 181 ประเทศเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิด