ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมช.สธ.ยันไม่เคยระบุเหมืองปฏิบัติตามมาตรฐาน เพราะไม่มีความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการทำเหมืองทองคำ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร แต่จากรายงานโดยเหมืองระหว่างการบรรยายสรุป พบระดับแมงกานีสในน้ำสูงเกินมาตรฐาน

ขอบคุณภาพจากเครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทอง

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2558 นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะได้เดินทางไปรับฟังปัญหาของประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำของบริษัทเอกชน ผู้รับสัมปทานการร่อนแร่ทองคำ จากกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร หลังจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจพบมีสารโลหะหนักตกค้างอยู่ในร่างกายของประชาชนที่อาศัยอยู่รอบเหมืองแร่ทองคำ และมีสื่อบางสำนักได้รายงานข่าวว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กำหนดนั้น

นพ.สมศักดิ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า "ทางเหมืองได้เล่าให้ฟังว่าที่ผ่านมาทำตามมาตรฐาน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขคงไม่อาจบอกได้ว่าเป็นตามมาตรฐานหรือไม่ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือความรู้ของภาคสาธารณสุข ในทางตรงข้ามเรากลับพบว่า จากการตรวจน้ำในบ่อรอบบริเวณบ่อกักแร่กลับมีปริมาณสารแมงกานีสและเหล็กเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดจากการตรวจติดต่อกันหลายครั้งโดยทางเหมืองเอง อีกประการหนึ่งจากข้อมูลทั้ง 3 แหล่งคือ ผลการตรวจบ่อตรวจสอบของเหมืองเอง ผลการตรวจน้ำประปาหมู่บ้านรอบบริเวณเหมืองโดยกรมอนามัย และผลการตรวจเลือดโดยทีมงานจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พบชัดเจนว่า สารแมงกานีสเกินมาตรฐาน"

จากข้อมูลจากการเฝ้าระวังการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจากการตรวจคุณภาพน้ำประปาและน้ำผิวดิน ในบริเวณตำบลเขาเจ็ดลูก ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เหมืองในปี 2557 โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ร่วมกับศูนย์อนามัยที่ 8 นครสวรรค์ พบเหล็กสูงเกินกว่าค่าปกติ 3 แห่ง และแมงกานีสสูงเกินกว่าค่าปกติ 2 แห่ง นอกจากนั้นผลการตรวจหาการปนเปื้อนโลหะหนักในเลือด ซึ่งได้รับมอบผลจากแพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2558 มีประชาชนได้รับการตรวจเลือด 732 คน พบโลหะหนักสูงเกินค่าปกติ 401 คนคิดเป็นร้อยละ 54.78 โดยแบ่งเป็น พบแมงกานีสสูงเกินค่าปกติ 241 คนคิดเป็นร้อยละ 32.92 พบสารหนูสูงเกินค่าปกติ 109 คน คิดเป็นร้อยละ 14.98 และพบแมงกานีสและสารหนูสูงเกินค่าปกติ 51 คน คิดเป็นร้อยละ 6.97 ทั้งยังมีหลายคนที่ตรวจพบการปนเปื้อนโลหะหนักในเลือดสูงผิดปกติอย่างมาก เช่น ด.ช.อายุ 10 ปี ซึ่งได้ตรวจเลือดเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2557 พบแมงกานีสในเลือดสูงถึง 17.42 ไมโครกรัมต่อลิตร (?g/L) จากค่าปกติซึ่งไม่ควรเกิน 1.1 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ต้องมีการวิเคราะห์หาสาเหตุให้ชัดเจนต่อไป แต่จำเป็นต้องหาแนวทางการแก้ไขในระยะเฉพาะหน้าโดยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังต่อไปโดยเร่งด่วน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข จะเน้นการลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือกับประชาชนในเรื่องสุขภาพอนามัย โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือกลุ่มที่มีอาการเป็นโรคชัดเจนโดยไม่จำกัดว่าจะมีผลตรวจพบโลหะหนักในเลือดและปัสสาวะหรือไม่ โดยจะให้ทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ให้การดูแล กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่มีระดับโลหะหนักในเลือดสูงเกินค่ามาตรฐานไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม และกลุ่มที่สามคือกลุ่มที่มีความกังวลไม่ว่าจะมีผลการตรวจเลือดหรือไม่ก็ตาม โดยจะให้การดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต และทีมสาธารณสุขในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดโดยรอบเหมือง ได้แก่ จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และจ.พิษณุโลก จะได้ประชุมร่วมกันเพื่อจัดทีมงานและวางแผนเฝ้าระวังทางสุขภาพ และให้ความช่วยเหลือกับประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วนต่อไป