ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ.1913 (พ.ศ.2456) โดยตระกูลร็อคกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเป็นตระกูลเศรษฐีนักธุรกิจที่มีบทบาทอำนาจสูงในสหรัฐอเมริกา โดยผู้ก่อตั้งได้แก่ จอห์น เดวิสัน ร็อคกี้เฟลเลอร์ (John Davison Rockefeller) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของมนุษยชาติทั่วโลก (to promote the well-being of mankind throughout the world) โดยมูลนิธินี้ส่งเสริมทั้งด้านการสาธารณสุข ความรู้ทางด้านการแพทย์ ส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตทางอาหาร ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ การวิจัยทางสังคม ศิลปะ และด้านอื่นๆ ทั่วโลก

John Davidson Rockefeller จาก http://th.wikipedia.org/wiki/จอห์น_ดี_ร็อกเกอะเฟลเลอร์

การมีปฎิสัมพันธ์กันระหว่างมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์กับไทยนั้น เริ่มตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากกิจการน้ำมันของบริษัทสแตนดาร์ดออยส์แห่งนิวยอร์ก ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของตระกูลร็อคกี้เฟลเลอร์เริ่มเข้ามาลงทุนในเมืองไทยสมัยนั้น และจากนโยบายของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ที่มีความประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในด้านต่างๆ ทำให้ได้มีการช่วยเหลือประเทศไทยในการปรับปรุงด้านการแพทย์และแพทยศาสตร์ศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่ พ.ศ.2458 (ค.ศ.1915) โดยมี ดร.วิกเตอร์ จี ไฮเซอร์ (Dr. Victor G. Heiser) ผู้อำนวยการฝ่ายสาธารณสุขระหว่างประเทศภาคตะวันตกของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ทางไทยมี สมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้บัญชาการราชแพทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกสอนแพทย์แห่งเดียวในประเทศในขณะนั้น เป็นผู้ประสานงาน โดย ดร.ไฮเซอร์ ได้นำสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เสด็จไปดูงานการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อนำความรู้มาใช้ในการปรับปรุงแพทยศาสตร์ศึกษา ทั้งยังได้ส่ง ดร.สตรอง (Strong) ศาสตราจารย์ทางศัลยศาสตร์ และดร.เอ.จี. เอลลิส (A.G. Ellis) ศาสตราจารย์ทางพยาธิวิทยา มาประจำที่โรงเรียนราชแพทยาลัยอีกด้วย ผลงานที่สำคัญของมูลนิธิในช่วงนั้น ได้แก่ การช่วยดำเนินการปราบปรามการแพร่ระบาดของโรคพยาธิปากขอในภาคเหนือ ร่วมกับสภากาชาดและกรมสุขาภิบาลของไทย อย่างไรก็ตามเนื่องจากความช่วยเหลือมีลักษณะอย่างไม่เป็นทางการ การดำเนินการจึงไม่ได้เต็มที่

การตกลงร่วมมือให้ความช่วยเหลือประเทศไทยของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์อย่างเป็นทางการ เริ่มต้นขึ้นในพ.ศ.2464 (ค.ศ.1921) รัฐบาลไทยในขณะนั้น พยายามแสวงหาบุคคลที่จะมาทำหน้าที่เป็นผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อประสานงานด้านต่างประเทศร่วมกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ โดยคุณสมบัติของผู้ประสานงานนั้น ควรจะเป็นเจ้านายในพระราชวงศ์ไทยชั้นสูงที่ทรงเป็นที่เคารพนับถือ ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ สามารถสื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศได้หลายภาษา และควรจะต้องทรงมีความรู้ทางการแพทย์อยู่ด้วยพอสมควร

เมื่อพิจารณาแล้วจึงเห็นว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ พระอิสริยยศในขณะนั้น ทรงเป็นบุคคลที่เหมาะสมอย่างยิ่ง รัฐบาลไทยจึงให้มหาเสวกเอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ทำหนังสือกราบทูลไปยังพระองค์ที่ทรงประทับอยู่ที่เมืองเอดินเบอร์ก สก็อตแลนด์ ขอให้ทรงดำรงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งก็ทรงตอบรับด้วยความเต็มพระทัย

ทรงฉายพระรูปร่วมกับแพทย์ปริญญา รุ่นที่ 1 ซึ่งมีจำนวน 18 คน  และคณาจารย์ที่มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ส่งมาช่วยพัฒนาการศึกษาด้านการแพทย์ของไทย http://www.princemahidolfoundation.com/education/education.html

พ.ศ.2464 (ค.ศ.1921)  สมเด็จพระบรมราชชนก พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จไปทรงพบและเจรจากับผู้แทนของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ตามเมืองต่างๆ ในทวีปยุโรป การประชุมครั้งแรกมีขึ้นที่กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2464 ทางฝ่ายไทยมีสมเด็จพระบรมราชชนกเป็นผู้แทน ทางฝ่ายมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ มี Dr.G.E. Vincent และ Dr. W. Rose เป็นผู้แทน ครั้งต่อๆ มาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2464 ที่กรุงเบอร์น สวิตเซอร์แลนด์ ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2465 และนิวยอร์ค จนสามารถจัดให้มีการร่างข้อตกลงขั้นสุดท้าย เป็นบันทึกข้อตกลง (Memorandum) ที่ได้รับการรับรองทั้งจากทางมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ และได้รับพระบรมราชานุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปลายปี พ.ศ.2465 (ค.ศ.1922) จากนั้นจึงทรงร่วมกับมูลนิธิฯ เสาะหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อมาเป็นอาจารย์แพทย์ ปรับปรุงหลักสูตรแพทย์ของไทยให้ถึงระดับแพทยศาสตรบัณฑิต และยังทรงได้คัดเลือกนักเรียนไทยที่กำลังเรียนวิชาแพทย์ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ให้ได้รับทุนของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ทำการศึกษาฝึกอบรมต่อ เพื่อที่จะกลับมาเป็นอาจารย์ในคณะแพทยศาสตร์ต่อไป

ในปี พ.ศ. 2466 (ค.ศ.1923) สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ทรงตั้งพระทัยจะเสด็จไปทรงศึกษาวิชาแพทย์ต่อที่มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ แต่จากการที่พระวรกายไม่แข็งแรง เนื่องจากทรงพระประชวรด้วยโรคของพระวักกะ (โรคไต) ประกอบกับที่อังกฤษมีอากาศชื้นและหนาวเย็น ไม่เหมาะกับโรค ทำให้ต้องเสด็จกลับประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย และรับตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2466 เพื่อให้สะดวกแก่การที่จะทรงประสานงานกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ในการพัฒนาโรงเรียนราชแพทยาลัยที่กระทรวงธรรมการประกาศให้เข้าร่วมสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ.2460 (ค.ศ.1917) ซึ่งมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ได้ให้เงินสนับสนุนทุนก่อสร้าง ตึก อุปกรณ์ทางการแพทย์ ทุนอุดหนุน บุคลากรทางการแพทย์ ให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศและหาอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ต่างประเทศมาประจำตามแผนกต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงหลักสูตรและ ให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนการสอนแก่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ 

พระองค์จึงได้ทรงปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับผู้แทนของมูลนิธิ ตั้งแต่ ต้นปี พ.ศ.2466 (ค.ศ.1923) จนถึงกลางปี พ.ศ.2469 (ค.ศ.1926) ทรงช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากการทำงานของฝ่ายไทย และความไม่เข้าใจกันของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้สมเด็จฯ พระบรมราชชนกยังทรงรับตำแหน่งประธานกรรมการโรงพยาบาลศิริราช เพื่อดำเนินการปรับปรุงการบริหารจัดการ โดยรับความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งความสำเร็จจากความร่วมมือจะได้ปรากฏให้เห็นในเวลาต่อมา คือการที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีนิสิตแพทย์ จบการศึกษาระดับปริญญารุ่นแรกใน พ.ศ.2471 (ค.ศ.1928) ส่วนโรงพยาบาลศิริราช ก็ได้พัฒนาเป็นโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานเหมาะสมสำหรับสอนนิสิตแพทย์ด้วย บทบาทของพระองค์ที่ทรงปรับปรุงการแพทย์ไทยร่วมกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ นับว่าเป็นการวางรากฐานการแพทย์ไทยให้เจริญก้าวหน้าเท่าเทียมอารยประเทศจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ยังคงให้การสนับสนุนประเทศไทยในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้วยการให้ทุนสนับสนุนเพื่อการเรียนรู้อันเป็นประโยชน์ในการพัฒนาของนักวิจัยและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและองค์กรระดับชาติ อาทิเช่น มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ที่มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์โดย นายแพทย์สก็อต ฮอลสเตท รองผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้ให้ทุนสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการระบาดวิทยาแห่งชาติ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้นได้ความเห็นชอบ ให้ก่อตั้งมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติรองรับเพื่อความยั่งยืนในการทำงาน อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์กับประเทศไทยนอกจากสนับสนุนการพัฒนาระบบการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงภาคเกษตรกรรม และระบบการศึกษาของประเทศไทยอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกกับการต่างประเทศ , [Online], สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2558. จาก http://www.princemahidolfoundation.com/foreign/foreign5.html

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก. สภาอาจารย์ศิริราช, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ ไพศาลศิลป์การพิมพ์ 2526

เอกสารประวัติศาสตร์ “การเจรจากับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ พ.ศ. 2465” จาก 100 ปี สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก.บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ. มกราคม 2535

เรื่องที่เกี่ยวข้อง