ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลังจากที่ไทยสามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าแล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาขาดทุนของโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ได้กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง การถกเถียงอยู่ใน 2 กลุ่มใหญ่ คือ ฝั่งของ สป.สธ. ในฐานะเจ้าของหน่วยบริการ ที่ระบุว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากการจัดสรรงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะผลกระทบจากการปรับวิธีจัดสรรงบประมาณที่กระจายตามรายหัวประชากร การบริหารด้วยวิธีแยกกองทุน และการส่งงบประมาณลงไปยังหน่วยบริการโดยตรง รวมถึงปัญหาการบริหารงานของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

ขณะที่ฝั่งของ สปสช.ในฐานะผู้จัดสรรเงิน ก็ระบุว่า สปสช.มักตกจำเลยว่าเป็นตัวการทำให้ รพ.ขาดทุน เสมอมา แต่คำถามที่ สปสช.ถามกลับคือ การที่รพ.ขาดทุนนั้น มีสาเหตุมาจากการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หรืออยู่ที่จำนวนงบประมาณที่ไม่เคยได้ตามที่ขอ การบริหารของ สธ. และการบริหารของผู้บริหาร รพ.

จากปัญหาข้างต้นเหล่านี้ได้นำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่าง สธ. และ สปสช. โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นที่มาข้อเสนอการปรับจัดสรรงบเหมาจ่ายขาลงจากทาง สธ. ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในขณะนี้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่เห็นการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ล่าสุด เพียงแค่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหา รพ.ขาดทุน นัดแรก ที่มี นพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธานกรรมการ ก็มีอันล่มอย่างไม่เป็นท่า เมื่อตัวแทนฝั่งสธ.ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุม

สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำรายงานพิเศษ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน ขึ้น โดยสัมภาษณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ในตอนแรกได้นำเสนอ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (1) เปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรรเงินเหมือนเดิม

ตอนที่ 2 นโยบาย “บริการไร้รอยต่อ จ.ชุมพร” ส่งผล รพ.หลังสวน วิกฤตขาดทุนระดับ 7

ตอนที่ 3 “รพ.ศรีเชียงใหม่” ติดกลุ่มขาดทุน เหตุ “ฐานเงินเดือนสูง ร้อยละ 65”

ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 4 “โหนดบริการ” กระทบ รพ.หนองไผ่ ทำรายรับลดต่อเนื่อง

รพ.หนองไผ่ (ขอบคุณภาพจาก google street view)

ผอ.รพ.หนองไผ่ เพชรบูรณ์ แจงเหตุ รพ.ติดกลุ่มขาดทุนรุนแรงระดับ 7 ทั้งจากขาดสภาพคล่องปลายปี 56 ได้รับโอนงบบัตรทองเพียง 3 เดือน แถมถูกสปสช.เรียกเงินคืน 5 ล้านบาท เพราะไม่มีแพทย์เฉพาะทางที่จะสร้างผลงานดูแลผู้ป่วยหนักและโรคซับซ้อนได้ แม้ก่อนหน้านั้นจะมี แต่ผลจากนโยบายโหนดบริการของ จ.เพชรบูรณ์ ทำแพทย์เฉพาะทางถูกดึงไปที่อื่น แถมถูกดึงงบอื่นไปทั้งหมด ทั้งงบลงทุน ค่าตอบแทนพิเศษ และทุนเรียนต่อ รายรับลดลงต่อเนื่องจาก 100 ล้านบาท เหลือ 80 ล้านบาท ซ้ำงบรายหัวไม่เพิ่มมา 3 ปี แต่เงินเดือนเพิ่มขึ้น 10% ยอมรับโหนดบริการเป็นนโยบายที่ดี แต่ไม่ดีต่อ รพช. ชี้ควรให้ รพช.ได้เติบโตตามบริบทของพื้นที่ จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนมากกว่า

นอกจาก รพ.หลังสวน จ.ชุมพร และ รพ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคายที่ทางสำนักข่าว Health focus ได้เจาะสัมภาษณ์ถึงปัญหา รพ.ขาดทุนไปก่อนหน้านี้แล้ว รพ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ เป็น รพ.อีกแห่ง ที่อยู่ในกลุ่ม รพ.ที่ประสบภาวะขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 ซึ่งทางสำนักข่าวฯ ได้ติดตามข้อมูลเพื่อนำเสนอ

นพ.สงวนชัย เจนศิริกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองไผ่ กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.หนองไผ่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม รพ.ขาดทุนวิกฤติรุนแรงระดับ 7 แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้สาเหตุหลักที่ทำให้ รพ.หนองไผ่ถูกจัดอยู่ใน รพ.ขาดทุนกลุ่มนี้มาจากการขาดสภาพคล่องช่วงปลายปี 2556 เนื่องจากได้รับโอนงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาเพียง 3 เดือนเท่านั้น ประกอบกับถูกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เรียกเงินคืนประมาณ 5 ล้านบาท จึงส่งผลกระทบอย่างมาก

ทั้งนี้สาเหตุที่ รพ.หนองไผ่ถูกเรียกเงินคืนนั้น สาเหตุหลักเนื่องจาก รพ.ไม่มีบริการแพทย์เฉพาะทางที่จะสร้างผลงานดูแลผู้ป่วยหนักและโรคซับซ้อนได้ เพื่อให้ได้รับงบประมาณจากการคำนวณค่า RW จากที่เมื่อก่อน รพ.เคยมีบริการเหล่านี้ รวมถึงการผ่าตัดโรคที่ไม่ซับซ้อนมากนัก แต่หลังจากมีนโยบายเขตบริการที่มีการกำหนด รพ.ขึ้นเป็นโหนดบริการ(node) โดยที่ จ.เพชรบูรณ์ 10 แห่ง กำหนดให้ รพ.หล่มสัก และ รพ.วิเชียรบุรี เป็นโหนดบริการ ทำให้แพทย์เฉพาะทางของ รพ.หนองไผ่ถูกดึงไปที่อื่น ส่งผลไม่เพียงแต่ให้การผ่าตัดลดลง แต่ปัจจุบัน รพ.หนองไผ่ไม่มีการผ่าตัดผู้ป่วยแล้ว จึงทำให้ขาดรายได้ส่วนนี้เพื่อมาสนับสนุน ประกอบกับจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการยังลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผู้ป่วยกลุ่มข้าราชการและผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ก็ไม่รักษาที่ รพ. เนื่องจากต่างต้องการรักษากับแพทย์เฉพาะทาง จึงไหลไปที่อื่น

นพ.สงวนชัย กล่าวว่า เมื่อช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ รพ.หนองไผ่ไม่ได้ถูกจัดอยู่กลุ่ม รพ.วิกฤตเลย เรามีสภาพคล่องที่ดีตลอด แต่หลังจากมีการจัดทำโหนดบริการ นอกจากปัญหาที่กล่าวข้างต้นแล้ว การลงทุนในหน่วยบริการทั้งหมดถูกดึงไปยังหน่วยบริการที่ถูกกำหนดเป็นโหนดบริการหมด ไม่ว่าจะเป็นทุนก่อสร้าง วัสดุ อุปกรณ์การแพทย์ แม้แต่ทุนเรียนต่อและค่าตอบแทนพิเศษ ที่เป็นการดึงแพทย์เฉพาะไปหมด

“จากการกำหนดโหนดบริการ ทำให้เราเหมือนถูกตอนไม่ให้โต รายรับลดลงต่อเนื่องทุกปี จาก 3 ล้านบาท เป็น 4 ล้านบาท และ 5 ล้านบาท และปี 2558 นี้ คาดว่ารายได้จะลดลงไปถึง 10 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณเหมาจ่าย แต่เดิม รพ.หนองไผ่เคยได้รับงบประมาณเกือบ 100 ล้านบาท แต่ปี 2558 นี้เหลือเพียงแค่ 80 ล้านบาท” ผอ.รพ.หนองไผ่ กล่าวและว่า นอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้ รพ.เจ๊งกันทั่วประเทศ คืองบเหมาจ่ายรายหัวต่อประชากรในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เพิ่มมา 3 ปีแล้ว ขณะที่เงินเดือนลูกจ้างเพิ่มขึ้นปีละ 6% และปีนี้เพิ่มเป็น 10% รวมถึงค่ายาและเวชภัณฑ์ที่ปรับเพิ่ม แต่รายได้กลับลดลง สิ่งที่ รพ.ทำได้คือประหยัด ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป ซึ่งอาจกระทบต่อการพัฒนาหน่วยบริการบ้าง   

ต่อข้อซักถามว่า การจัดเขตบริการที่กำหนดโหนดบริการแสดงว่าไม่ดีต่อ รพ. นพ.สงวนชัย กล่าวว่า เป็นนโยบายที่ดี แต่ดีเฉพาะ รพ.ที่กำหนดเป็นโหนดบริการเท่านั้น แต่ในส่วนโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) นั้นนับวันก็จะแย่ลง ซึ่งหากมองในแง่การบริการต่อชาวบ้านก็ไม่ดีเช่นกัน ซึ่งความเห็นส่วนตัว ควรให้ รพช.มีโอกาสเติบโตตามบริบทของตนเอง เพราะแต่ละพื้นที่อาจต้องการบริการทางการแพทย์ที่แตกต่างกัน เช่น บางพื้นที่อาจต้องการหมอเด็ก บางพื้นที่ต้องการหมอเฉพาะทางด้านอื่นๆ แต่การจัดเป็นโหนดบริการแบบนี้ รพ.จะไม่มีแพทย์เฉพาะทางเลย ประกอบกับแพทย์ที่จบใหม่ ในการรักษาส่วนใหญ่จะส่งตรวจแลปอย่างเดียว ส่งผลให้รายจ่าย รพ.เพิ่มขึ้นอีก

“ในทางทฤษฎี นโยบายโหนดบริการเป็นหลักการดี แต่ในทางปฏิบัติกลับทำให้ รพช.ที่ไม่ใช่โหนดบริการเจ๊ง ไม่เจ๊งก็เกือบเจ๊ง แต่ รพ.ที่ถูกกำหนดเป็นโหนดบริการนั้นดีขึ้น ซึ่งขณะนี้ รพช.ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ต่างกันไป ซึ่งที่ รพ.หนองไผ่ ผมโชว์ตัวเลขขาดทุนให้เห็นชัดเจน และจากวิกฤตนี้ผมได้คาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่า รพ.หนองไผ่จะเข้าสู่วิกฤตระดับ 7 ณ วันที่ 30 ก.ย. 2556 เรารู้ตัวล่วงหน้าแล้วว่าไม่รอดแน่นอน” ผอ.รพ.หนองไผ่ กล่าว

นพ.สงวนชัย กล่าวว่า ส่วนทางออกในการแก้ไขปัญหานั้น คือต้องให้งบประมาณเพิ่มเติมกับ รพ.ขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 โดยในส่วน รพช.อาจใช้เงินเพียงแค่ 5-20 ล้านบาทต่อแห่ง ซึ่งถือว่าไม่มากหากดูภาพรวมงบประมาณทั้งระบบ แต่ในส่วนของโรงพยาบาลทั่วไปอาจต้องใช้งบประมาณมากกว่านี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (1) เปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรรเงินเหมือนเดิม

ตอนที่ 2 นโยบาย “บริการไร้รอยต่อ จ.ชุมพร” ส่งผล รพ.หลังสวน วิกฤตขาดทุนระดับ 7

ตอนที่ 3 “รพ.ศรีเชียงใหม่” ติดกลุ่มขาดทุน เหตุ “ฐานเงินเดือนสูง ร้อยละ 65”

ตอนต่อไป ติดตาม รพ.โพนทอง แบกภาระค่าตอบแทน ถูกเบี้ยวค่าตรวจแลป ต้นเหตุทำขาดทุน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง