หลังจากที่ไทยสามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าแล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาขาดทุนของโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ได้กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง การถกเถียงอยู่ใน 2 กลุ่มใหญ่ คือ ฝั่งของ สป.สธ. ในฐานะเจ้าของหน่วยบริการ ที่ระบุว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากการจัดสรรงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะผลกระทบจากการปรับวิธีจัดสรรงบประมาณที่กระจายตามรายหัวประชากร การบริหารด้วยวิธีแยกกองทุน และการส่งงบประมาณลงไปยังหน่วยบริการโดยตรง รวมถึงปัญหาการบริหารงานของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

ขณะที่ฝั่งของ สปสช.ในฐานะผู้จัดสรรเงิน ก็ระบุว่า สปสช.มักตกจำเลยว่าเป็นตัวการทำให้ รพ.ขาดทุน เสมอมา แต่คำถามที่ สปสช.ถามกลับคือ การที่รพ.ขาดทุนนั้น มีสาเหตุมาจากการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หรืออยู่ที่จำนวนงบประมาณที่ไม่เคยได้ตามที่ขอ การบริหารของ สธ. และการบริหารของผู้บริหาร รพ.

จากปัญหาข้างต้นเหล่านี้ได้นำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่าง สธ. และ สปสช. โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นที่มาข้อเสนอการปรับจัดสรรงบเหมาจ่ายขาลงจากทาง สธ. ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในขณะนี้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่เห็นการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ล่าสุด เพียงแค่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหา รพ.ขาดทุน นัดแรก ที่มี นพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธานกรรมการ ก็มีอันล่มอย่างไม่เป็นท่า เมื่อตัวแทนฝั่งสธ.ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุม

สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำรายงานพิเศษ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน ขึ้น โดยสัมภาษณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ในตอนแรกได้นำเสนอ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (1) เปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรรเงินเหมือนเดิม

ตอนที่ 2 นโยบาย “บริการไร้รอยต่อ จ.ชุมพร” ส่งผล รพ.หลังสวน วิกฤตขาดทุนระดับ 7

ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 3 “รพ.ศรีเชียงใหม่” ติดกลุ่มขาดทุน เหตุ “ฐานเงินเดือนสูง ร้อยละ 65”

“รพ.ศรีเชียงใหม่” ติดกลุ่ม รพ.ขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 เหตุ “ฐานเงินเดือนสูง” เผยสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 65 ของงบเหมาจ่ายรายหัว เหลืองบบริหารร้อยละ 35 ต่อปี แถม ปี 56 ถูก มท.ประกาศแยกกิ่งอำเภอ ตั้ง รพ.ใหม่ ส่งผลผู้มีสิทธิบัตรทองลดเหลือแค่ 30,000 คน ทำงบถูกตัดไปกว่า 14 ล้านบาท ทำ รพ.ขาดทุนต่อเนื่อง แจงแนวทางแก้ปัญหา เน้นบริการผู้ป่วยในเพิ่ม เปิดผ่าตัดต้อกระจก พร้อมระดมเงินบริจาคจากชาวบ้านหนุน

รพ.ศรีเชียงใหม่ ขอบคุณภาพจาก google street view

โรงพยาบาลศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ที่ประสบภาวะขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 โดยเข้าข่ายต้องได้รับการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน จากการพูดคุยกับ นพ.แหลมทอง แก้วตระกูลพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ได้วิเคราะห์สาเหตุการขาดทุนของ รพ.ศรีเชียงใหม่

นพ.แหลมทอง กล่าวว่า ปัญหา รพ.ขาดทุนแต่ละแห่งมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป แต่ในส่วนของ รพ.ศรีเชียงใหม่ การขาดทุนและถูกจัดกลุ่มให้อยู่ใน รพ.ขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก ซึ่งก่อนอื่นต้องอธิบายว่า หลักการวิเคราะห์ รพ.ขาดทุนของ สป.สธ. เป็นการวิเคราะห์ตัวเลขย้อนหลัง 12 ไตรมาส หรือ 3 ปี โดยรพ.ขาดทุนวิกฤตระดับ 7 จะต้องมีตัวเลขขาดทุนตั้งแต่ 6 ไตรมาสขึ้นไป ซึ่ง รพ.ศรีเชียงใหม่มีตัวเลขขาดทุน 7 ไตรมาส จึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย     

ทั้งนี้สถานการณ์การเงินของ รพ. ในช่วงแรกยอมรับว่า รพ.ศรีเชียงใหม่มีตัวเลขติดลบต่อเนื่องถึง 6 ไตรมาส แต่ช่วงหลังการบริหารทำให้ภาวะการขาดทุนลดลง แต่กลับมาประสบปัญหาขาดทุนอีกครั้งในช่วงปลายปี 2556 จากปัญหาขัดแย้งการบริหารงบระหว่าง สป.สธ. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เนื่องจากการจัดส่งงบลงหน่วยบริการที่ล่าช้า เห็นเหตุให้ รพ.ประสบภาวะขาดทุนอีกครั้ง ทำให้ตัวเลขการขาดทุนเป็น 7 ไตรมาส จึงถูกจัดกลุ่มอยู่ใน รพ.ขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 ซึ่งนี่เป็นเหตุผลหนึ่ง

นพ.แหลมทอง กล่าวว่า ส่วนสาเหตุการขาดทุนแรก คือ รพ.ศรีเชียงใหม่ติดอยู่ในกลุ่มโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนเงินเดือนข้าราชการที่สูงมาก ซึ่งหลังจากมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่กระจายงบตามรายหัวประชากรจะมีการหักงบประมาณเงินเดือนไว้ที่ส่วนกลางก่อน และเมื่อหักเหลือเท่าไหร่จึงจัดสรรมายัง รพ. เพื่อใช้สำหรับการบริหารและดูแลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งผลให้ รพ.ใดที่มีสัดส่วนรายจ่ายเงินเดือนสูง งบที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วยก็จะเหลือน้อย

“รพ.ศรีเชียงใหม่ เมื่อนำเงินเดือนบุคลากรมาคิดคำนวณจะพบว่า เฉพาะเงินเดือนบุคลากรที่นี่ก็ถูกตัดงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพื่อกันเป็นเงินเดือนไว้ที่ส่วนกลางไปแล้วร้อยละ 65 จากค่าเฉลี่ยเงินเดือนที่ สธ.กำหนดจะต้องไม่เกินร้อยละ 50 ดังนั้น รพ.ศรีเชียงใหม่จึงเหลืองบเพื่อใช้จ่ายเพียงแค่ร้อยละ 35 จากงบที่ได้ ถือว่าน้อยมาก และเป็นที่มาของสาเหตุการขาดทุน” ผอ.รพ.ศรีเชียงใหม่ กล่าวและว่า เวลาที่พูดคุยถึงปัญหาขาดทุน รพ.ที่มีปัญหาเดียวกับ รพ.ศรีเชียงใหม่จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม รพ.ที่มีฐานเงินเดือนสูง แบ่งเป็น รพ.ที่มีจำนวนข้าราชการมาก และ รพ.ที่มีข้าราชการที่มีอายุงานนานทำให้ฐานเงินเดือนสูง ซึ่งปัญหาหลังนี้ สป.สธ.ทราบมานานแล้ว แต่ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะ รพ.ต่างจังหวัด บุคลากรส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่และทำงานมานาน ซึ่งมีโรงพยาบาลเกือบ 10 แห่งที่อยู่ในสภาวะเดียวกัน เป็นปัญหาที่ประสบปัญหามานานตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่รวมงบเงินเดือน        

นพ.แหลมทอง กล่าวว่า ส่วนสาเหตุที่ 2 ซึ่งทำให้ รพ.ศรีเชียงใหม่เกิดภาวะขาดทุนนั้น คือเมื่อต้นปีงบประมาณ 2556 กระทรวงมหาดไทยได้ทำการแยกอำเภอในการบริหาร ทำให้มีการจัดตั้ง รพ.ใหม่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ รพ.ศรีเชียงใหม่จากเดิมรับผิดชอบประชากรอำเภอศรีเชียงใหม่และกิ่งอำเภอโพธิ์ตาก จึงเหลือเพียงการดูแลรับผิดชอบเฉพาะประชากรในอำเภอศรีเชียงใหม่เท่านั้น ส่งผลให้งบเหมาจ่ายรายหัวที่เคยได้รับลดลงไปด้วย จากเดิมที่เคยได้รับ 45,000 คน เหลือเพียง 30,000 คนเท่านั้น ส่วนประชากรที่เหลือ 15,000 คน ถูกโอนสิทธิขึ้นทะเบียนยังหน่วยบริการที่ตั้งขึ้นใหม่ ทำให้งบประมาณ รพ.ศรีเชียงใหม่ลดลงถึง 14 ล้านบาท หรือร้อยละ 40 ของงบประมาณที่ได้รับ ส่งผลให้งบ รพ.ปี 2556 ติดตัวแดงทั้งปี

“จากสถานการณ์ดังกล่าว ทาง รพ.ได้ปรับวิธีการบริหาร ลดรายจ่ายทุกอย่าง อย่างเช่น การลดค่าล่วงเวลาร้อยละ 10 การทบทวนการใช้ทรัพยากรทุกอย่าง พร้อมกับเพิ่มรายได้ให้กับ รพ. อย่างเช่น การตั้งกองทุนผ้าป่า การจัดตั้งมูลนิธิรับบริจาคเพื่อนำเงินมาสนับสนุน รพ. ส่งผลให้ รพ.สามารถฟื้นตัวได้ช่วงกลางปี 2557 อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว รพ.จึงได้จัดบริการรักษาเพิ่มขึ้น โดยดึงแพทย์เฉพาะทางมารักษาผู้ป่วยเพื่อหาเงินเข้าสู่ระบบ อย่างเช่น โครงการผ่าต้อกระจก แม้ว่าเราจะเป็น รพ.เล็กๆ ไม่สามารถผ่าตัดเองได้ แต่ได้ร่วมกับ รพ.บ้านแพ้ว มาผ่าตัดให้กับชาวบ้านที่นี่ทุก 2 ปี เฉลี่ยประมาณ 100 ราย ไม่เพียงแต่ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น แต่ยังทำให้ รพ.เบิกจ่ายจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เพิ่มขึ้น” นพ.แหลมทอง กล่าวและว่า นอกจากนี้ รพ.ยังเพิ่มบริการผู้ป่วยใน เน้นให้การรักษาโรคซับซ้อนเพิ่มเติม ทำให้สามารถเบิกจ่ายจาก สปสช.เพิ่มขึ้น

ผอ.รพ.ศรีเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ในการบริหารเพื่อแก้ปัญหาขาดทุนนี้ เกิดจากการพูดคุยกันภายในโรงพยาบาล จังหวัด และส่วนกลางเองก็มีส่วนในการช่วยเหลือ ทั้งนี้ต้องบอกว่า หากปลายปี 2556 ไม่เกิดปัญหาขัดแย้งระหว่าง สป.สธ. และ สปสช. รพ.ศรีเชียงใหม่ก็จะไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม รพ.ขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 และหาก สป.สธ. และ สปสช.ยังไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งนี้ได้ เชื่อว่าจะทำให้ รพ.ขาดทุนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากสาเหตุความไม่ชัดเจนของงบประมาณที่จะได้รับซึ่งส่งผลต่อการบริหารของ รพ. จนกลายเป็นภาวะวิกฤตในที่สุด

“หาก สป.สธ.และ สปสช.เคลียร์กันได้ จะได้เกิดความแน่นอนในการบริหาร เพราะความไม่แน่นอน เป็นสิ่งที่บริหารได้ยาก จะได้รับงบประมาณมากหรือน้อย ขาดทุนหรือกำไรว่ากันไปเลยง่ายกว่า เช่น ขาดทุนจะขาดทุนเท่าไหร ทั้งนี้เพื่อที่ รพ.ได้เตรียมบริหารจัดการถูก”

ส่วนข้อเสนอให้มีการแยกงบเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวนั้น นพ.แหลมทอง กล่าวทิ้งท้ายว่า เป็นข้อเสนอที่พูดกันมานาน  มี รพ.ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ โดย รพ.ที่ได้ประโยชน์อย่าง รพ.ตนคงสนับสนุนแนวคิดนี้ แต่ รพ.ที่เสียประโยชน์ อย่าง รพ.ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ มีข้าราชการไม่มาก หรืออายุงานน้อยก็จะไม่เห็นด้วย เรื่องนี้จึงเป็นข้อเสนอที่มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยคงจะเดินหน้าได้ยาก และหากจะดำเนินการจริงคงต้องมีการพูดคุยกัน สอบถามความเห็นผู้บริหาร รพ.ทั้ง 800 แห่ง ดังนั้นขณะนี้จึงยังไม่มีผู้ใหญ่กล้าฟันธงในเรื่องนี้ 

ตอนต่อไปติดตาม “โหนดบริการ” กระทบ รพ.หนองไผ่ ทำรายรับลดต่อเนื่อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (1) เปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรรเงินเหมือนเดิม

วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (2) นโยบาย “บริการไร้รอยต่อ จ.ชุมพร” ส่งผล รพ.หลังสวน วิกฤตขาดทุนระดับ 7

วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (4) “โหนดบริการ” กระทบ รพ.หนองไผ่ ทำรายรับลดต่อเนื่อง

วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (5) รพ.โพนทอง แบกภาระค่าตอบแทน ถูกเบี้ยวค่าตรวจแลป ต้นเหตุทำขาดทุน

หมายเหตุ ภาพประกอบข่าวหน้า homepage ไม่ใช่ภาพบริการรักษาพยาบาล รพ.ศรีเชียงใหม่ ใช้เป็นภาพประกอบข่าวแสดงถึงการรักษาพยาบาลใน โรงพยาบาลชุมชนเท่านั้น