หลังจากที่ไทยสามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าแล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาขาดทุนของโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ได้กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง การถกเถียงอยู่ใน 2 กลุ่มใหญ่ คือ ฝั่งของ สป.สธ. ในฐานะเจ้าของหน่วยบริการ ที่ระบุว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากการจัดสรรงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะผลกระทบจากการปรับวิธีจัดสรรงบประมาณที่กระจายตามรายหัวประชากร การบริหารด้วยวิธีแยกกองทุน และการส่งงบประมาณลงไปยังหน่วยบริการโดยตรง รวมถึงปัญหาการบริหารงานของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)
ขณะที่ฝั่งของ สปสช.ในฐานะผู้จัดสรรเงิน ก็ระบุว่า สปสช.มักตกจำเลยว่าเป็นตัวการทำให้ รพ.ขาดทุน เสมอมา แต่คำถามที่ สปสช.ถามกลับคือ การที่รพ.ขาดทุนนั้น มีสาเหตุมาจากการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หรืออยู่ที่จำนวนงบประมาณที่ไม่เคยได้ตามที่ขอ การบริหารของ สธ. และการบริหารของผู้บริหาร รพ.
จากปัญหาข้างต้นเหล่านี้ได้นำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่าง สธ. และ สปสช. โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นที่มาข้อเสนอการปรับจัดสรรงบเหมาจ่ายขาลงจากทาง สธ. ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในขณะนี้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่เห็นการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ล่าสุด เพียงแค่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหา รพ.ขาดทุน นัดแรก ที่มี นพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธานกรรมการ ก็มีอันล่มอย่างไม่เป็นท่า เมื่อตัวแทนฝั่งสธ.ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุม
สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำรายงานพิเศษ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน ขึ้น โดยสัมภาษณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในตอนแรกได้นำเสนอ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (1) เปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรรเงินเหมือนเดิม
ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 2 นโยบาย “บริการไร้รอยต่อ จ.ชุมพร” ส่งผล รพ.หลังสวน วิกฤตขาดทุนระดับ 7
รพ.หลังสวน จ.ชุมพร หนึ่งใน รพ.ขาดทุน วิกฤตรุนแรงระดับ 7 มียอดหนี้สะสม ธันวาคม 57 สูงถึง 85 ล้านบาท ผอ.รพ.หลังสวนเผยผลกระทบนโยบายรักษาพยาบาลไร้รอยต่อ จ.ชุมพร ทำผู้ป่วยล้น รพ.หลังสวน เหตุแห่ขอรักษาแพทย์เฉพาะทาง ทำงบเหมาจ่ายไม่เพียงพอ แจงนำเสนอปัญหาทุกเวที แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ ยอดหนี้ล่าสุดจาก 75 ล้านบาท ทะลุเป็น 85 ล้านบาท ถูกบริษัทยาขึ้นแบล็คลิสต์ เฉพาะหนี้ อภ. 35 ล้านบาท ชี้วิกฤติต้องสั่งยาผ่าน รพ.ชุมพร เพื่อรักษาผู้ป่วย ชี้ติดปัญหาระเบียบใช้เงินทั้งของ สธ. และสปสช.
นพ.ศักดิ์สิทธิ์ มหารัตนวงศ์
โรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร หนึ่งใน รพ.ขาดทุน วิกฤตรุนแรงระดับ 7 มียอดหนี้สะสม ณ เดือนธันวาคม 2557 สูงถึง 85 ล้านบาท จากการพูดคุยกับ นพ.ศักดิ์สิทธิ์ มหารัตนวงศ์ ผู้อำนวยการ รพ.หลังสวน ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม 2557 ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาขาดทุนของ รพ.ว่า เนื่องจาก รพ.หลังสวนเป็น รพ.ขนาด 120 เตียง ในระดับ M2 (ยกระดับเป็น M2 ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา) ปัจจุบันมีแพทย์เฉพาะทางบริการครอบคลุมทุกสาขา และตามเขตพื้นที่จะรับผิดชอบ 5 อำเภอตอนใต้ จ.ชุมพร แต่ด้วยนโยบายสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของชุมพร จะต่างจากจังหวัดอื่น คือที่จ.ชุมพรนั้น เปิดให้ผู้ป่วยเลือกรักษา รพ.ใดก็ได้ ไม่ต้องผ่านหน่วยบริการต้นสังกัดคัดกรองส่งต่อ ขณะที่พฤติกรรมสุขภาพชาวบ้านที่มักเลือกรักษากับแพทย์เฉพาะทางโดยตรง ประกอบกับ รพ.โดยรอบส่วนใหญ่มีแต่แพทย์อายุรกรรมทั่วไป จึงทำให้ผู้ป่วย รพ.หลังสวนมีจำนวนมาก
นพ.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อดูจำนวนผู้มีสิทธิ์ อ.หลังสวน มีผู้ขึ้นทะเบียนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประมาณ 75,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีสิทธิ์ที่ขึ้นทะเบียน รพ.หลังสวน ราว 50,000 คน และที่เหลือขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิ์ รพ.ปากน้ำหลังสวนซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียง และเมื่อดูอัตราการใช้บริการพบว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการร้อยละ 90 ใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีเพียงร้อยละ 10 ที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลอื่น อาทิ ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ เป็นต้น และเมื่อดูงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ รพ.ได้รับ โดยปี 2557 อยู่ที่ประมาณ 2,800 บาท คูณกับจำนวนผู้มีสิทธิ์ของ รพ.หลังสวน ส่งผลให้เกิดปัญหางบประมาณไม่สมดุล
“ผู้มีสิทธิ์ที่ขึ้นทะเบียนบัตรทองที่ รพ.หลังสวนมีน้อย ขณะที่ระบบสุขภาพของ จ.ชุมพร เป็นระบบที่เปิดให้ผู้ป่วยเลือกใช้สิทธิ์ที่ไหนก็ได้ เป็นนโยบายให้บริการแบบไร้รอยต่อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไหลมารักษาที่ รพ.หลังสวน เพื่อรักษากับแพทย์เฉพาะทาง จึงส่งผลต่องบประมาณ รพ.หลังสวน ที่จำกัด ซึ่งที่นี่ให้บริการทั้ง เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ผ่าตัดข้อสะโพก ข้อเข่าเทียม ผ่าตัดศัลยกรรม และยังมีไอซียู 8 เตียง แม้ว่าในส่วนผู้ป่วยในจะเป็นการเบิกจ่ายตามดีอาร์จี แต่การชดเชยของ รพ.ระดับ M2 ก็ไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป” ผอ.รพ.หลังสวน กล่าว และว่า นอกจากนี้ รพ.ยังต้องดูแลกลุ่มผู้ป่วยแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา จึงเป็นอีกหนึ่งภาระที่ รพ.ต้องแบกรับ เหล่านี้เป็นที่มาของภาระหนี้สิน รพ.ที่สะสมเพิ่มขึ้น
เมื่อดูในส่วนของภาระหนี้สิน รพ.นั้น นพ.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า หนี้สะสมส่วนใหญ่เป็นค่ายาและเวชภัณฑ์ ซึ่งยาบางรายการเป็นยาจำเป็นแต่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ และปัจจุบันต้องบอกว่า รพ.ได้ถูกขึ้นแบล็คลิสต์จากบริษัทยา จนไม่สามารถสั่งซื้อยาได้แล้ว ต้องสั่งผ่าน รพ.ชุมพร และตามจ่ายภายหลัง นอกจากนี้เฉพาะองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ขณะนี้เรามีหนี้ค้างจ่ายกับ อภ.ถึงกว่า 35 ล้านบาทแล้ว ที่ผ่านมา รพ.หลังสวน ได้วิเคราะห์ต้นทุนค่าใช้จ่ายตามโปรแกรมของ สธ. และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ รพ.ระดับเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น รพ.ท่าศาลา รพ.กาญจนดิษฐ์ พบว่า ต้นทุนค่าใช้จ่าย รพ.หลังสวนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รพ.ระดับ M2 ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายที่มากเกินไป ดังนั้นโจทย์คือเมื่อ รพ.หลังสวนได้ทำเต็มที่แล้ว ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพ และลดค่าใช้จ่าย แต่เมื่อดูค่าใช้จ่ายปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นค่าสาธารณูปโภค ค่าล่วงเวลาเจ้าหน้าที่ ยังติดลบที่ 3-5 ล้านบาทต่อเดือนจะทำอย่างไร
นพ.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากปัญหางบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไม่สมดุลกับผู้ป่วยแล้ว ยังมีข้อจำกัดการใช้งบประมาณ งบที่ได้รับจาก สปสช.ยังกำหนดให้ใช้เฉพาะในส่วนบริการผู้ป่วยเท่านั้น ห้ามนำไปบริหารในส่วนอื่น ทำให้เกิดความไม่คล่องตัว ขณะที่การจ่ายงบประมาณยังเป็นการแบ่งจ่าย 4 ไตรมาส โดยไตรมาสสุดท้ายเป็นการจ่ายตามผลงาน ตามการคีย์ข้อมูล หากหน่วยบริการใดทำไม่ถึงเกณฑ์ หรือฐานข้อมูลไม่ดีก็จะถูกหักงบประมาณอีก ส่งผลให้งบประมาณได้รับไม่เต็มหน่วยและกระทบเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะบริการอย่างเต็มที่ก็ตาม
นอกจากนี้ยังติดหลักเกณฑ์ระเบียบของ สธ. ทั้งระเบียบพัสดุจัดซื้อจัดจ้าง การจัดซื้อยาร่วม ระเบียบการใช้เงินสวัสดิการ ส่งผลให้ไม่สามารถนำมาบริหารเพื่อชำระหนี้ได้ ขณะที่ผู้ป่วยที่จ่ายเงินเองก็เลือกที่จะเข้ารับบริการยัง รพ.เอกชนเพื่อรับบริการที่ดีกว่า ที่ผ่านมาสิ่งที่ รพ.หลังสวนทำได้ก็คือการขอรับบริจาค แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ตั้งแต่ตนเข้าบริหารจนถึงปัจจุบัน สามารถหาเงินบริจาคได้เพียงแค่กว่าแสนบาทเท่านั้น เพื่อนำมาจ่ายหนี้สะสมค้างจ่าย
“จากปัญหาวิกฤตทางการเงินของ รพ.หลังสวน ที่ผ่านมาหลายเวทีที่เรียกประชุม รพ.ขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 ผมไปนำเสนอปัญหาทุกที่ ตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับเขต จนถึงส่วนกลาง แต่เมื่อกลับมาทุกอย่างเหมือนเดิม วันนี้ผมอยากบอกว่าจากยอดหนี้สะสม 75 ล้านบาท เพิ่มเป็น 85 ล้านบาท ในช่วง 1 เดือน เราได้บริหารและพยายามทำทุกอย่างเต็มที่แล้วความจริงปัญหา ณ วันนี้ไม่ได้อยู่ที่บริหารจัดการ แต่อยู่ที่งบประมาณที่ได้รับไม่เพียงพอกับภาระการบริการของ รพ.” ผอ.รพ.หลังสวน กล่าว และว่า แม้ปัญหาขาดทุน รพ.หลังสวนจะไม่ได้รับการแก้ไข รพ.ก็ยังคงให้บริการได้ เพราะยังคงมีงบเงินเดือนจ่ายให้กับบุคลากร แต่ยอดหนี้สะสมคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และคงเป็นหน้าที่ของ รพ.ที่ต้องดิ้นรนเพื่อหาค่ายามาจ่ายรักษาให้กับประชาชน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (1) เปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรรเงินเหมือนเดิม
วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (3) “รพ.ศรีเชียงใหม่” ติดกลุ่มขาดทุน เหตุฐานเงินเดือนสูง ร้อยละ 65
วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (4) “โหนดบริการ” กระทบ รพ.หนองไผ่ ทำรายรับลดต่อเนื่อง
หมายเหตุ ภาพประกอบข่าวหน้า homepage ไม่ใช่ภาพบริการรักษาพยาบาล รพ.ศรีเชียงใหม่ ใช้เป็นภาพประกอบข่าวแสดงถึงการรักษาพยาบาลใน โรงพยาบาลชุมชนเท่านั้น
- 93 views