“ปธ.เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์” ชี้ เลือกตั้ง กรรมการแพทยสภา โอกาสปฏิรูปแก้ปัญหาความขัดแย้ง “หมอ-คนไข้” หนุนนโยบาย “ฟ้องกองทุนชดเชยผู้เสียหาย” แทนการฟ้องแพทย์และ รพ.กรณีไม่รับการเยียวยา พร้อมเรียกร้องผู้สมัครหาเสียงบนหลักการความเป็นจริงและเป็นไปได้ เชื่ออาจมีแพทย์ลงคะแนนเสียงเพิ่ม เหตุมีกลุ่มทางเลือกใหม่ลงสมัคร
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา
6 ม.ค.58 นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่างถึงทิศทางการดำเนินงานของแพทยสภา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาชุดใหม่ ว่า หากแพทยสภาหากทำตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ในมุมมองตนเองเห็นว่า ที่ผ่านมาแพทยสภาไม่ได้ปฎิบัติตามวัตถุประสงค์การก่อตั้งคือการควบคุมจริยธรรมแพทย์และปกป้องสวัสดิภาพการรับการรักษาพยาบาลของประชาชน แต่กลับกระทำในสิ่งตรงกันข้าม เป็นผลให้เกิดความขัดแย้งและร้าวฉานระหว่างแพทย์และผู้ป่วยขึ้น ดังนั้นแพทยสภาในยุคปฏิรูประบบสาธารณสุขควรจะโน้มตัวลงมารับฟังเสียงประชาชน ใส่ใจต่อปัญหามากขึ้น โดยนำปัญหาเหล่านั้นขึ้นมาวางและแก้ไขร่วมกัน เพราะหมอกับคนไข้ต้องอยู่ร่วมกัน ซึ่งปัญหาขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตสำหรับตนเองแล้วก็อยากให้จบ
นางปรียนันท์ กล่าวว่า แพทยสภาเองต้องอยู่บนหลักการและเหตุผลในการหาทางออกร่วมกัน อย่างปัญหาความขัดแย้งระหว่างหมอและผู้ป่วย ซึ่งแพทยสภาเองไม่ควรคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เนื่องจากแพทยสภาต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาเป็นตัวปัญหาทำให้ผู้ป่วยไปฟ้องร้องหมอมากขึ้น เพราะแพทยสภาที่ต้องทำหน้าที่พิจารณาและให้ความเป็นธรรมเป็นกลไกที่พึ่งไม่ได้ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยต้องไปฟ้องศาล และต้องต่อสู้กันยาวนานหลายสิบปี และแม้ว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะแพ้คดี แต่กรณีที่ผู้ป่วยชนะแพทยสภาก็ลบชื่อแพทย์ออกจากคำพิพากษาไม่ได้ ที่ทำให้หมอเกิดความเสียหายมากกว่า ดังนั้นวันนี้ทั้งฝ่ายแพทย์และผู้ป่วยเองต้องจับมือเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง
ทั้งนี้ในการเลือกตั้งแพทยสภาครั้งนี้ ส่วนตัวมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เนื่องจากมีทีมแพทย์ที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าเชื่อถือ มีท่าทีต่อสังคมและผู้ป่วยในทางที่ดี ทั้งยังสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข แม้ว่าจะมีความเห็นต่างในบางประเด็น แต่เน้นการสนับสนุนให้เกิดการเยียวยา ทั้งฝ่ายผู้ให้บริการและรับบริการในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น
“ทางฝ่ายผู้ป่วยเห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้ทำการฟ้องร้องกับกองทุนแทนที่จะฟ้องแพทย์และโรงพยาบาล ในกรณีผู้ป่วยไม่ต้องการรับเงินกองทุนและต้องการฟ้องร้องต่อ ประเด็นนี้คนไข้ไม่คัดค้าน ซึ่งในการพิจารณาจะมีผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ความเห็น ทั้งฝ่ายผู้ป่วย แพทย์ แพทยสภา และผู้แทนกองทุนรักษาพยาบาล” ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าว
นางปรียนันท์ กล่าวว่า จากที่ติดตามนโยบายการหาเสียงของกลุ่มแพทย์ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น เห็นว่า ในการหาเสียงควรตรงไปตรงมา ไม่เกินจริง ซึ่งในกลุ่มที่คัดค้านการออก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ขอชี้จงข้อเท็จจริงว่า กฎหมายฉบับเดิมได้ถูกตีตกไปแล้ว ขณะนี้เป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ที่มีการปรับปรุงเนื้อหา แม้แต่หมอหลายคนที่เคยคัดค้านต่อต้าน พออ่านรายละเอียดเนื้อหาแล้วก็ได้มีท่าทีที่เปลี่ยนไป และหันกลับมาสนับสนุนการออกกฎหมายฉบับนี้ เนื่องมองว่าเป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายแพทย์และผู้ป่วย
ขณะที่การขยายการคุ้มครองใน ม. 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 นั้น ตรงนี้ฝ่ายผู้ป่วยเองไม่คัดค้าน แม้ว่าในช่วงแรกจะไม่เห็นด้วยกับการนำเงินงบประมาณมาชดเชยให้กับผู้ป่วยแทนเอกชน แต่เมื่อดูแล้วผู้ป่วยที่กำลังเดือดร้อนได้ประโยชน์ จึงได้สนับสนุน และได้เข้าร่วมประชุมในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยเพื่อดูแนวโน้มการแก้ไขกฎหมาย ที่มีผู้แทนฝ่ายผู้ป่วย แพทยสภา กรมบัญชีกลาง และผู้แทนกองทุนต่างๆ ตลอดจนนักกฎหมายเข้าร่วม แต่สรุปแล้วว่าทำไม่ได้ เพราะแต่ละกองทุนมีกฎหมายของตัวเอง จะเอาเงินไปใช้นอกวัตถุประสงค์ไม่ได้ และการแก้ไขเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะต้องปรับแก้กฎหมายถึง 3 ฉบับ จึงเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้
ส่วนการนำบริการทางการแพทย์ออกจาก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคนั้น นางปรียนันท์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ ทางฝ่ายศาลยุติธรรมเป็นผู้ยกร่าง และขับเคลื่อนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหากจะปรับแก้ต้องไปสู้กับสำนักงานศาลยุติธรรม ดังนั้นหลักการจึงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นแม้ว่าจะมีการนำเสนอโนบายนี้ แต่จะทำสำเร็จหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะขัดกับหลักยุติธรรม เช่นเดียวกับการหาเสียงออกกฎหมายห้ามฟ้องอาญาแพทย์ ในข้อเท็จจริงไม่มีใครอยากฟ้องอาญาแพทย์อยู่แล้ว แต่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายหลักของประเทศกำหนดไว้เช่นนั้น ดังนั้นแม้ว่าจะมีการออกกฎหมายฉบับต่างๆ ออกมา เพื่อไม่ให้ฟ้องอาญาก็ทำไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อความสงบเรียบร้องของบ้านเมือง แม้แต่นักกฎหมายก็สรุปแล้วว่าทำไม่ได้
“ในการเลือกตั้งแพทยสภาครั้งนี้เป็นโอกาสของการปฏิรูปและควรปฏิรูปมานานแล้ว เพราะที่ผ่านมามีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ผู้เป็นกรรมการแพทยสภามีทั้งที่เป็นเจ้าของโรงพยาบาลเอกชน คลินิกเสริมความงาม เป็นต้น เราไม่ได้ห้ามทำธุรกิจการค้า แต่เมื่อมีผู้ป่วยร้องเรียนและกรรมการเหล่านี้ต้องทำหน้าที่พิจารณาทำให้เกิดคำถามความน่าเชื่อถือ” นางปรียนันท์ กล่าวและว่า แพทย์ในประเทศมีจำนวนสองถึงสามหมื่นคน ที่ผ่านมาใช้สิทธิ์เพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น ยังมีพลังเงียบอยู่มาก ที่ผ่านมาแพทย์บางส่วนเลือกงดออกเสียงหรือ No Vote เพราะว่ามองว่าไม่มีทางเลือกที่ดี แต่ครั้งนี้มีทางเลือกใหม่ อาจทำให้มีแพทย์ออกเสียงเพิ่มขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เจาะลึกเลือกตั้งแพทยสภา (3) นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ แพทยสภาภิวัฒน์ “ประกาศปฏิรูปแพทยสภา”
เจาะลึกเลือกตั้งแพทยสภา (4) พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา : พลังแพทย์ ขอโอกาสพัฒนาวิชาชีพแพทย์
เจาะลึกเลือกตั้งแพทยสภา (5) หนุน ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม วาระนายกแพทยสภาไม่เกิน 2 สมัย
- 11 views