ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

www.devex.com : จากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ (United Nations General Assembly หรือ UNGA) ครั้งที่ 69 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงนิวยอร์กเมื่อเดือนกันยายนในปีที่ผ่านมา ตัวแทนจากประเทศสมาชิกได้ร่วมกันอภิปรายถึงแนวทางในอนาคตเกี่ยวกับการเจรจาระหว่างรัฐบาลในอันที่จะนำกรอบการทำงานจาก “วาระการพัฒนาหลังปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015)” มาปรับใช้ภายในระยะเวลาไม่ถึงปีนับจากนี้ 

ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมต่างๆ  รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาได้จัดทำข้อมูลเชิงลึกที่จัดลำดับความสำคัญของปัญหาด้านต่างๆของประเทศไว้ เพื่อให้ที่ประชุมนำไปใช้อภิปรายและกำหนดกรอบในการทำงาน ทั้งนี้ การเตรียมการเพื่อรับมือกับปัญหาด้านสาธารณสุขต่างๆ ของโลกคือหัวข้อแรกของการเจรจา ซึ่งเราพบว่าที่ประชุมได้อภิปรายถึงใจความสำคัญหลักๆ  6 เรื่อง กล่าวคือ

บริเวณทางเข้าสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2557 ซึ่งถ่ายโดยหนึ่งในผู้เยี่ยมชมจำนวนมากมายที่เข้าร่วมกิจกรรมด้านการพัฒนาที่จัดขึ้นพร้อมกันหลายงาน ณ กรุงนิวยอร์กเมื่อวันที่ 21-24 กันยายนที่ผ่านมารวมทั้งการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 69 ภาพประกอบโดยYubi Hoffmann / U.N.

1.มีเป้าหมายการพัฒนาข้อสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพหลายข้อถูกตั้งคำถาม แต่ในขณะเดียวกันเป้าหมายการพัฒนาเหล่านั้นก็ได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญเกินกว่าจะยกเลิกได้

ระหว่างการจัดประชุม UNGA ได้มีการเสนอให้ทบทวนรายงานสรุปของคณะทำงาน The Open Working Group (OWG) ซึ่งผู้แทนจากหลายประเทศ เช่น สวีเดน สหราชอาณาจักร ได้เสนอให้จัดการอภิปรายขึ้นอีกครั้งเพื่อพิจารณาปรับลดจำนวนเป้าหมายการพัฒนาลงและทำให้เป้าหมายที่เหลือมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันผู้แทนจากประเทศอื่นๆ เช่น เคนย่า อินโดนีเซีย ไนจีเรีย และแกมเบีย ได้แสดงความกังวลว่าการปรับลดเป้าหมายการพัฒนาจากกรอบการทำงานล่าสุดอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการดำเนินงานได้

สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่อาจจะมีความเสี่ยงอย่างยิ่ง มีดังต่อไปนี้ :

เป้าหมายข้อที่ 8 ซึ่งเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงานที่มีคุณค่าเพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงโอกาสในการมีงานทำ

เป้าหมายข้อที่ 10 การลดความไม่เท่าเทียมกันทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

เป้าหมายข้อที่ 12 การบริโภคและรูปแบบการผลิตที่ยั่งยืน

เป้าหมายข้อที่ 16 การเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนในทุกระดับ

เป้าหมายข้อที่ 17 รูปแบบของการดำเนินงานและความร่วมมือของประชาคมโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความตกลงเรื่องสิทธิบัตรในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights) หรือ TRIPS

นอกจากนี้ เป้าหมายการพัฒนาที่มีความเสี่ยงสูงอีกข้อก็คือ เป้าหมายข้อที่ 5 ซึ่งเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ  โดยเฉพาะการออกกฎหมายและนโยบายที่ให้อำนาจแก่สตรีและเด็กผู้หญิงอย่างเท่าเทียม และเป้าหมายข้อที่ 3 การมอบหลักประกันด้านสุขภาพและสุขภาวะให้แก่ประชาชนทุกเพศทุกวัย ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ประเทศสมาชิกทุกประเทศต่างต้องการที่จะเก็บไว้ แม้ว่าจะมีการทบทวนรายงานสรุปใหม่อีกครั้ง เนื่องจากเป้าหมายดังกล่าวมุ่งไปสู่ผลลัพธ์ในการพัฒนาที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเอดส์ ปัญหาด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งครอบคลุมพันธกิจที่ยังไม่บรรลุตาม "เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ" และปัญหาที่มีความสำคัญเร่งด่วนอย่างกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

2.แม้จะมีการอภิปรายเพื่อหาทางยุติความไม่เท่าเทียมกันหลายครั้ง แต่เมื่อพิจารณากรอบการทำงานล่าสุดก็พบว่ายังมีความไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง

ในระหว่างที่มีการอภิปรายเนื้อหาในรายงานสรุปของคณะทำงาน OWG เราพบว่าแนวทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นเฉพาะคนกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาสได้ถูกตัดออกจากเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะแนวทางการตรวจสอบความครอบคลุมของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เสนอโดยองค์การอนามัยโลกและธนาคารโลกได้ระบุให้หลักประกันต้องคุ้มครองสุขภาพของประชากรอย่างน้อยร้อยละ 80    

นับเป็นข่าวร้ายสำหรับกลุ่มประชากรชายขอบที่ถูกตราหน้าและเลือกปฏิบัติ รวมถึงคนที่โดนกล่าวหาและถูกกีดกันในทุกประเทศทั่วโลก ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ ตราบใดที่ประชาชนทุกคนยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่ต้องคำนึงถึงอายุ เพศ ศาสนา สภาพความเจ็บป่วย รสนิยมทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ  

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการพัฒนาเพื่อลดความไม่เท่าเทียมกันทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ คือเป้าหมายเดียวที่ได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศ เพราะเป็นแนวทางเบื้องต้นที่เหมาะสมในการรับมือกับกลุ่มคนชายขอบ ทั้งนี้ในฐานะประชาคมสาธารณสุขโลก นอกจากจะสนับสนุนเป้าหมายเพื่อลดความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขแล้ว การสร้างความมั่นใจว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะไม่ตกเป็นภาระของกลุ่มคนชายขอบและผู้ด้อยโอกาสก็เป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องสนับสนุน

3.การมีส่วนร่วมและการตรวจสอบ

การตรวจสอบและการมีส่วนร่วม นับเป็นประเด็นที่มีการอภิปรายกันมากที่สุดทั้งในกลุ่มประเทศสมาชิกและกลุ่มประชาคมโลกต่างๆ แม้ว่าประเทศในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ต่างเห็นพ้องกันว่ากรอบการทำงานใหม่ควรจะสร้างสรรค์  โปร่งใส เปิดกว้าง ครบวงจร และดำเนินงานด้วยโครงสร้างของระบบเดิมที่มีอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม คำถามข้อสำคัญกลับยังค้างคาอยู่ นั่นก็คือ ทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนประเด็นการพูดคุยจากเรื่อง “เงินและอำนาจ” ไปเป็นประเด็นเรื่อง “การตรวจสอบ” ได้ เนื่องจากประชาสังคมควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าหลังจากปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ.2558) ควรจะจ่ายเงินไปในทิศทางไหนบ้าง

ในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ เราได้เชิญองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ มาประชุมนอกรอบเพื่อสะท้อนรูปแบบการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในประเทศต่างๆ และเราก็ได้เห็นสัญญาณอันตรายเมื่อพบว่า แทนที่จะได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนด วางแผนดำเนินงาน และประเมินนโยบายสุขภาพอย่างเท่าเทียม การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมส่วนใหญ่กลับเป็นเพียงแค่การติ๊กเครื่องหมายลงในแบบฟอร์มเท่านั้น   

และอีกหนึ่งความท้าทายที่พบ เกิดขึ้นเมื่อเราเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมอภิปรายเรื่องการตรวจสอบเพื่อเปิดประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการทางธุรกิจและการตรวจสอบได้ในระดับองค์กร โดยมุ่งเน้นเรื่องความโปร่งใสในการกำหนดราคาและอัตราค่าบริการของภาคเอกชน รวมทั้งเปิดเผยถึงการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างด้วย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าของเงินในการทำธุรกิจนี้ หากมองในแง่ของความโปร่งใส คงเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่ามันเป็นธุรกิจที่ใสสะอาด

นอกจากนี้ ในการอภิปรายยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เป้าหมายในวาระการพัฒนาหลังปี ค.ศ.2015(พ.ศ.2558) ได้มุ่งเน้นเรื่องการตรวจสอบได้มากกว่า เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) หรือ MDGs และด้วยกรอบการพัฒนาใหม่ที่มุ่งเน้นความครอบคลุมและเท่าเทียม ส่งผลให้เกิดความตระหนักรู้ทั้งในส่วนของภาครัฐและประชาสังคม ด้วยเหตุนี้องค์กรปฎิบัติการส่งเสริมสุขภาพโลก (Action for Global Health) หรือ AfGH จึงได้รับการสนับสนุนเพื่อเพิ่มจำนวนเครือข่ายในกระบวนการติดตามและเกิดความร่วมมือที่ตรงตามเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

ติดตามต่อ 6 บทเรียนระบบสุขภาพโลก (จบ) 'สมดุลการค้าและสุขภาพ'