ชมรม รพศ./รพท. และสสจ.ประกาศงดร่วมสังฆกรรม สปสช. ลั่นปี 2558 งดส่งข้อมูลงบเหมาจ่ายรายหัว จนกว่าบอร์ด สปสช.จะแก้ไขปัญหาการจัดสรรงบบัตรทองอย่างจริงจัง ยันไม่กระทบการบริการประชาชน
นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล
25 ธ.ค.57 เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผอ.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีข้อเสนอให้ปรับการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัว โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เพื่อให้งบประมาณลงไปถึงประชาชนได้อย่างเหมาะสม เท่าเทียม และเป็นธรรม โดยจัดสรรที่ระดับเขตสุขภาพ ซึ่งตรงนี้ก็จะช่วยให้หน่วยบริการอยู่ได้ด้วย เนื่องจากมีการแชร์ทรัพยากรกันภายในเขตสุขภาพ แต่ที่ผ่านมาข้อเสนอดังกล่าวกลับไม่ได้รับความสนใจจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เนื่องจากมีการหารือมานานหลายเดือนก็ยังไม่ได้ข้อสรุป และ สปสช.ก็มักออกมาแก้ตัวแต่ไม่ได้ร่วมมือแก้ไข
"ยืนยันว่าข้อเสนอนี้ สธ.ไม่ได้ต้องการนำงบมาบริหารเอง ไม่ได้ต้องการแย่งชิงเงิน หรือต้องการล้มระบบหลักประกันสุขภาพ หรือหักล้างเรื่องหลักการผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการ แต่ผู้ซื้อบริการอย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อซื้อบริการแล้ว และส่งเงินไปยังหน่วยบริการก็ไม่ควรมากำกับว่าการรักษาโรคนี้จะต้องให้เงินกี่บาท เพราะ สปสช.ไม่ได้รักษาคนไข้ แต่กลับเอาข้อมูลตัวเลขมาคิด ทั้งที่จริงแล้วข้อมูลดังกล่าวควรนำมาเป็นข้อมูลค่ารักษากลางในการเสนอของบประมาณขาขึ้นแต่ละปี มิใช่มากำหนดการรักษาในโรงพยาบาล โดย สปสช.ดูแต่เพียงตัวเงิน แต่ไม่เคยรับทราบปัญหาเชิงระบบจนทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องเรื้อรัง" นพ.สุทัศน์ กล่าว
นพ.สุทัศน์ กล่าวอีกว่า แม้จะมีการยื่นให้หน่วยงานกลางเข้ามาช่วยตรวจสอบ ทั้งกรมบัญชีกลาง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลปกครองเรียบร้อยแล้ว แต่คงใช้เวลาดำเนินการนาน เราอยากให้ความสุขมาถึงโดยเร็ว ชมรม รพศ./รพท. และชมรมสาธารณสุขจังหวัด จึงเห็นพ้องกันว่า โดยตั้งแต่ต้นปี 2558 เป็นต้นไป รพศ. รพท. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) จะงดการสังฆกรรมทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณของ สปสช. โดยจะงดส่งข้อมูลงบเหมาจ่ายรายหัวที่ต้องการให้ปรับการจัดสรรใหม่ อาทิ ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และการส่งเสริมสุขภาพ ให้แก่ สปสช. ยกเว้น ข้อมูลตามมาตรา 41 ในการคุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
ผู้สื่อข่าวถามว่า การไม่ส่งข้อมูลให้แก่ สปสช. อาจทำให้เกิดปัญหาการจัดสรรงบไปยังหน่วยบริการ และส่งผลต่อการให้บริการประชาชนหรือไม่ นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า ส่งผลกระทบต่อ สปสช.หรือไม่ ทางเราไม่ทราบ แต่หาก สปสช.อยากได้ข้อมูลก็ต้องมาประสานในระดับกระทรวงฯ แทน เพราะเรายังส่งข้อมูลให้แก่กระทรวงฯ ตามปกติ ส่วนประชาชนผู้มารับบริการไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะยังคงให้บริการตามปกติ แต่ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อให้รัฐบาลเห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้น และจะต้องเกิดการแก้ไขปัญหาหรือปฏิรูปงานหลักประกันสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ยังไม่ได้แจ้งให้ปลัด สธ.ทราบ เพียงแค่คุยกันในระดับชมรม แต่ไม่ทราบว่าเสนอแล้วปลัด สธ.จะเห็นด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ การไม่ร่วมสังฆกรรมจะทำจนกว่าบอร์ด สปสช.จะเห็นปัญหาและแก้ไขอย่างจริงจังออกมาในรูปมติบอร์ด
- 3 views