ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยังไม่ถึงเดือนที่คนไทยได้ยินข่าวดีที่ยูเอ็นชื่นชมไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาว่ามีความเข้าใจเรื่องเอดส์อย่างลึกซึ้ง ก็มีข่าวว่าเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2557 ชาวบ้านตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีได้ลงประชามติ 131 ต่อ 30 เสียงให้ย้ายผู้ป่วยเอดส์ที่อยู่ในบ้านพักของมูลนิธิกระท่อมพระสิริ ออกจากชุมชน เพราะชุมชนกลัวจะติดเชื้อจากผู้ป่วย ทำให้ไม่มีคนกล้าเข้ามาเช่าห้องเช่าในชุมชน

...ฟังแล้วเศร้าใจ เพราะไม่คิดว่าสังคมยังไม่เข้าใจว่าจะอยู่กับผู้ติดเชื้อได้อย่างไร ทั้งที่เรารณรงค์เรื่องนี้มา 30 ปีเต็มจนถึงวันนี้ เราพยายามบอกว่าการอยู่ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อในบ้านเดียวกัน ที่ทำงานเดียวกัน หมู่บ้านเดียวกัน อำเภอเดียวกัน ไม่ติดเอดส์ เพราะเชื้อเอชไอวีไม่สามารถติดต่อกันได้ทางลมหายใจ น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ ยุง เหงื่อ หรือทางสัมผัส แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่เชื่อ จึงมีเหตุการณ์อย่างที่หนองปรือเกิดขึ้น หรือมีการห้ามไม่ให้คนติดเชื้อเข้าทำงาน หรือมีการไล่พนักงานที่ติดเชื้อออกจากงาน เป็นต้น

เรื่องลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอด 30 ปีที่ผ่านมา จะโทษใครดี ?

จะไปโทษชาวบ้านก็ไม่ได้ เพราะเขาเข้าใจและเชื่อแบบนั้น จะไปโทษเทศบาลตำบลหนองปรือก็ไม่ได้ เพราะเขาอุตส่าห์ให้ทำประชาพิจารณ์ และมีการลงประชามติอย่างเสรี จะไปโทษผู้ติดเชื้อก็ไม่ถูก เพราะเขาไม่มีที่จะไป ญาติพี่น้องไม่รับ ไม่มีงานทำ เมื่อมีองค์กรการกุศลมาสร้างบ้านพักให้ เขาก็มาอยู่ จะไปโทษองค์กรการกุศลก็ไม่ถูก เพราะเขาก็คงอยากอยู่ในชุมชน ไม่อยากไปอยู่ในป่าลึก เพราะคงลำบาก และก็อาจมีชาวบ้านมาไล่อีกก็ได้

ถ้าจะโทษก็คงต้องโทษผู้รู้ และผู้รับผิดชอบว่ายังไม่สามารถถ่ายทอดความจริงให้ชาวบ้านยอมรับได้ ผู้รู้หมายถึงแพทย์ (ซึ่งรวมถึงผู้เขียนด้วย) พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุข องค์กรวิชาชีพ (สมาคมโรคเอดส์ แพทยสมาคม ฯลฯ) ผู้รับผิดชอบก็เช่น กระทรวงสาธารณสุข สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (รวมทั้งศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย) และชมรมผู้ติดเชื้อต่างๆ

ผู้รู้และผู้รับผิดชอบไม่ได้ให้ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง การทำความเข้าใจก็อาจไม่ชัดเจน ขาดสื่อหรือเทคนิคที่จะถ่ายทอดข้อมูลให้ชุมชนรับทราบอย่างถ่องแท้ หรือยังเข้าไม่ถึงผู้นำชุมชน หรือผู้นำด้านจิตวิญญาณของชุมชน ยังไม่รู้ลึกซึ้งถึงข้อกังวลที่แท้จริง และยังไม่มีวิธีการที่ได้ผลในการแก้ข้อกังวลนั้น

เรื่องที่เกิดขึ้นคงแพร่ไปในสื่อต่างประเทศในไม่ช้า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเสียหน้ามากในสายตาต่างประเทศ หลายคนอาจมองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องเล็ก เป็นเรื่องเฉพาะท้องถิ่น แต่ผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องเรื้อรัง แก้กันมานานแล้วแต่ยังไม่ถูกจุด ปัญหาการกีดกันและแบ่งแยกผู้ติดเชื้อเป็นอุปสรรคสำคัญในการยุติปัญหาเอดส์ที่รัฐบาลตั้งความหวังไว้ว่าจะเห็นผลภายในปี 2563 เพราะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนไม่กล้าไปตรวจเอดส์ ผู้ติดเชื้อก็ไม่กล้าไปรักษา เพราะกลัวคนรู้ ซึ่งก็จะทำให้เชื้อเอชไอวีแพร่กระจายต่อไปเรื่อยๆ

การแก้ต้องแก้กันทั้งระบบ เกือบทุกกระทรวงทบวงกรมต้องมาช่วยกัน กระทรวงสาธารณสุขและนักวิชาการต้องออกมาให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง กระทรวงศึกษาธิการต้องให้ความรู้แก่นักเรียนในทุกระดับทั้งในเรื่องการป้องกันเอดส์ และการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีที่พักอาศัยและไม่มีงานทำ ซึ่งคนกลุ่มนี้ในปัจจุบันจะมีน้อยลงเรื่อยๆ เพราะคนไทยทุกคนทุกสิทธิ์สามารถเข้าถึงยารักษาเอดส์ฟรี รักษาไป 2-4 สัปดาห์ สุขภาพก็จะกลับมาแข็งแรงตามเดิม สามารถทำงานเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ถ้าไม่ถูกนายจ้างไล่ออกจากงานไปเสียก่อน

กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม สภาทนายความ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อ และองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้องช่วยกันออกมาคุ้มครองแรงงานที่ติดเชื้อไม่ให้ถูกไล่ออกจากงาน คุ้มครองไม่ให้นายจ้างกีดกันผู้สมัครงานที่ตรวจพบว่าติดเชื้อเข้าทำงาน กระทรวงมหาดไทยต้องออกมาทำความเข้าใจกับชุมชนโดยผ่านองค์กรชุมชนในการยุติการตีตราและแบ่งแยกผู้ติดเชื้อ กรมประชาสัมพันธ์และสื่อสาธารณะทุกสื่อต้องร่วมกันประชาสัมพันธ์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่จะประชาสัมพันธ์กันเฉพาะช่วงวันเอดส์โลก

จะทำอย่างนี้ได้ รัฐบาลจะต้องเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และต้องทำอย่างจริงจัง ดึงทุกฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง มีงบประมาณ และมีการกำกับติดตามผลอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับข้อเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 ที่ให้นำเรื่องเอดส์เข้าบรรจุเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะสามารถยุติปัญหาเอดส์ได้ภายใน 10 ปี ทั้งด้านการป้องกัน การรักษา และการตีตรา

นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค

ผู้เขียน : ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และที่ปรึกษาด้านเอดส์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) (วาระ 2 ปี ตั้งแต่มกราคม 2558-ธันวาคม 2559)