ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากแนวนโยบายเร่งด่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ ในด้านสาธารณสุขนั้น มีแนวนโยบายให้ปรับปรุงการให้บริการ ทั้งด้านคุณภาพและการเข้าถึงบริการให้มากขึ้นของประชาชน ได้แก่ การให้บริการคลินิกนอกเวลาราชการ การเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชน ด้วยการให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ไปช่วยให้บริการ เพื่อลดการแออัดในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป

แต่จากสภาวการณ์ในปัจจุบันซึ่งแพทยสภาได้ทำหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องเรียนทางจริยธรรม พบว่ามีกฎหมายใหม่หลายฉบับซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้มีการร้องเรียนเกิดขึ้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ จึงขอเสนอให้มีการปรับปรุงเพื่อให้การเข้าถึงบริการของประชาชนดีขึ้น ให้บุคคลากรมีความมั่นใจว่า เมื่อให้การรักษาอย่างเต็มความสามารถแล้วจะไม่ต้องถูกเป็นจำเลยในศาล 

ในสภาวการณ์ปัจจุบัน หากให้การรักษาแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อน พิการหรือเสียชีวิต หากมีการสื่อสารที่ไม่เข้าใจ เมื่อเกิดความไม่พึงพอใจ หรือมีความเดือดร้อนทางการเงิน มักเป็นเรื่องร้องเรียนและเป็นคดีความได้อย่างง่ายดาย ด้วยพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2550 ซึ่งได้มีบรรทัดฐานว่า คดีที่เกี่ยวเนื่องกับการบริการสาธารณสุขเป็นคดีผู้บริโภค  

นั่นคือการที่ผู้เสียหายสามารถไปที่ศาลและฟ้องโดยไม่ต้องแต่งตั้งทนาย และศาลต้องประทับรับฟ้อง ส่วนผู้ที่ต้องตกเป็นจำเลยคือ แพทย์ผู้ให้การรักษาและโรงพยาบาล ต้องแต่งตั้งทนายความ เสียค่าทนายความระหว่าง 1 แสนบาทถึง 3 แสนบาท หากเป็นโรงพยาบาลเอกชนไม่อยากเป็นคดีความและเสียชื่อเสียง เมื่อตกลงกันได้ มักจะยินยอมยุติเรื่องด้วยการจ่ายแม้จะไม่มีข้อผิดพลาดหรือเป็นต้นเหตุแห่งภาวะแทรกซ้อนนั้น จึงควรแก้ไขกฎหมายนี้ให้กำหนดชัดเจนว่า คดีอันเกี่ยวเนื่องกับการบริการสาธารณสุขนั้นไม่ใช่คดีผู้บริโภค 

ความจริงจุดเริ่มต้นของการมีคดีความกันระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ป่วยและญาติเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่มี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41 บัญญัติว่า “ให้คณะกรรมการกันเงินจำนวนไม่เกินร้อยละหนึ่งของเงินที่จะจ่ายให้หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ โดยหาผู้กระทำผิดมิได้หรือหาผู้กระทำผิดได้แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด”

ดยมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ ต้องไม่เป็นความเสียหายที่ดำเนินไปตามพยาธิสภาพของโรคนั้นอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อมีคณะกรรมการให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น เท่ากับว่าการรักษานั้นมีปัญหา และการได้รับเงินจำนวนนี้เป็นการเยียวยาเบื้องต้น ขั้นต่อไปคือการฟ้องศาล เพื่อขอรับค่าเสียหายที่แท้จริงต่อไป

มีหลายรายที่มาร้องเรียนแพทยสภา เพื่อให้แพทยสภาพิจารณาโดยอ้างคำพิจารณาจากคณะกรรมการให้ได้รับเงินเยียวยาเบื้องต้น ที่พบบ่อยได้แก่ การทำหมันด้วยการตัดท่อรังไข่ในสตรี ต่อมาท่อต่อกันได้เองซึ่งมีโอกาส 1 รายใน 10,000 ราย ที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ได้เป็นความผิดพลาดใดๆ

มีตัวอย่างหนึ่งที่แพทย์เห็นใจว่าคนไข้ที่รักษานั้นเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ แรกรับไม่ทำตามคำสั่ง แขนขา 2 ข้างขยับได้ ส่งเสียงเป็นคำๆได้ ต่อมาเกิดก้อนเลือดภายในกะโหลกศีรษะ ทำให้ไม่รู้สึกตัว ได้รับการผ่าตัดแต่ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ และเห็นว่ามีสิทธิจะได้เงินเยียวยาเบื้องต้นตามมาตรา 41 นี้จึงดำเนินเรื่องให้ เมื่อได้รับเงินแล้วกลับเห็นว่ามีการรักษาผิดพลาด จึงฟ้องศาลขอค่าเสียหายจำนวนมากต่อไป ทั้งๆที่แพทย์ท่านนี้ไม่ได้อยู่เวร แต่เนื่องจากส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเครือข่ายไม่ได้ เมื่อผู้ป่วยมีอาการแย่ลงได้รับคำปรึกษาจึงมาทำการผ่าตัดให้ 

ในขณะนี้มีการพยายามผลักดันให้มีกฎหมายลักษณะคล้ายมาตรา 41 นี้แต่จะมีกองทุนเป็นการเฉพาะในชื่อว่า “พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” มีผู้บริหารกองทุน ซึ่งจะดำเนินการให้มีการเยียวยาเบื้องต้นโดยเร็วและเพียงพอ แต่ก็ไม่ตัดสิทธิในการฟ้องร้องต่อศาล หากเป็นเช่นนี้การรักษาต้องได้ผลดีทุกคน หากไม่ได้ผลดีทุกรายต้องถูกดำเนินการให้ได้รับเงินเยียวยา ซึ่งแต่ละรายแพทย์ผู้เกี่ยวข้องต้องอธิบายให้ได้ว่าไม่ได้มีข้อบกพร่องในการรักษา

ดังนั้นแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยทุกคนจะไม่มีผู้ใดเลยที่จะไม่ถูกให้ต้องชี้แจงหรือตกเป็นจำเลยทั้งทางศาลและทางจริยธรรมโดยแพทยสภา เนื่องจากเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีใครรักษาผู้ป่วยโดยไม่พบภาวะแทรกซ้อนใดๆ

และหากพิจารณาถึงเกณฑ์ที่จะไม่เข้าข่ายที่จะขอรับการเยียวยาได้ ได้แก่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น แม้มีการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือความเสียหายซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือความเสียหายที่เมื่อสิ้นสุดกระบวนการให้การบริการสาธารณสุขแล้ว ไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติ

จะเห็นได้ว่า โอกาสที่ผู้ได้รับความเสียหายจะได้รับเงินเยียวยานั้นมีโอกาสเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น เพราะจากสถิติเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับมาตรฐานทางวิชาชีพนั้น โอกาสที่จะมีข้อบกพร่องและได้รับการลงโทษนั้นมีเพียงร้อยละ 10 ของเรื่องร้องเรียนเท่านั้น หากนับเรื่องที่ผลการรักษาที่ไม่ดีทั้งหมด เป็นเรื่องที่ต้องเข้าสู่กระบวนการขอรับการเยียวยาทั้งหมด น่าจะเป็นจำนวนอัตราส่วนที่น้อยกว่าร้อยละ 10 มาก เพราะผู้ที่ร้องเรียนต่อแพทยสภานั้นเป็นจำนวนร้อยละ 10 ของผลการรักษาที่ไม่ได้ตามคาดหวังเท่านั้น

ดังนั้นกฎหมายนี้กำลังช่วยคนส่วนน้อยซึ่งกระบวนการอื่นสามารถให้การดูแลอยู่แล้ว แต่กลับจะมีผลร้ายต่อคนส่วนใหญ่ที่จะขาดโอกาสได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ 

สังคมได้เห็นบทเรียนจากการมีกฎหมายซึ่งเป็นสิ่งที่ลวงตาว่าประชาชนมีสิทธิมากขึ้น แต่กลับแลกด้วยการเข้าถึงบริการที่ยากจะเข้าถึงได้ ด้วยความแออัดที่ต้องมารอรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ทั้งๆ ที่ในภาวะเร่งด่วนต่างๆ แพทย์ทั่วไปก็สามารถรักษาได้ดี เพียงแต่ไม่ได้มีวุฒิบัตรแสดงว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ เท่านั้น เช่น ผ่าตัดไส้ติ่ง ผ่าตัดคลอด แพทย์อาวุโสตามโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ มีความชำนาญไม่น้อยไปกว่าแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลศูนย์ แต่ผลของกฎหมายดังกล่าวจึงเกิดปัญหาในปัจจุบัน

จึงขอเรียนมายังผู้เกี่ยวข้องโปรดพิจารณาให้ถี่ถ้วนและดำเนินการแก้ไขมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และยับยั้งกฎหมายที่กำลังจะออกในรูปแบบคล้ายกัน เพราะทุกคนก็มีโอกาสป่วยไข้ได้ หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปทุกคนจะประสบปัญหาการเข้าถึงบริการได้ยากอย่างเท่าเทียมกัน

นพ.สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา