ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘นพ.ไพโรจน์’ อดีตรองเลขาธิการแพทยสภา ยืนยัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย ช่วยแพทย์ทุกมาตรา ติงแพทยสภาทำสังคมเข้าใจผิด เผยเสียดาย หาก ร่าง พ.ร.บ.นี้ ไม่ผ่านสนช. ด้วยเหตุจากแพทย์คัดค้าน ทั้งที่ควรจะสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.นี้ด้วยซ้ำ เผยถ้าจะมีข้อเสีย ก็มีอยู่ข้อเดียว คือ รัฐบาลต้องเสียเงิน แนะแพทย์ศึกษาให้เข้าใจก่อนแสดงความเห็น

มีการพูดถึงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขกันอย่างมาก โดยเฉพาะการออกมาคัดค้านจากแพทย์จำนวนหนึ่ง และมักจะถูกหยิบยกเป็นนโยบายหลักในการหาเสียงเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาทุกครั้ง ที่ผ่านมา จะเห็นว่า กระแสการคัดค้านของแพทย์ต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ นี้ แรงและเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจทุกครั้ง แต่ล่าสุด จากเสียงท้วงติงของแพทย์หลายท่านที่มีต่อกลุ่มแพทย์ที่คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นี้ โดยเฉพาะจากการแถลงข่าวล่าสุดของ นายแพทยสภา เลขาธิการแพทยสภา ก็เกิดคำถามกลับมาว่า สิ่งที่แถลงเป็นมติของแพทยสภาทั้งหมด หรือเป็นแค่ความเห็นส่วนบุคคลของคนที่เป็นกรรมการแพทยสภา และนำไปสู่การตั้งคำถามว่า เรื่องนี้ใช่หน้าที่ของแพทยสภาหรือไม่

ที่สำคัญ มีเสียงท้วงติงว่า แพทยสภากำลังทำให้แพทย์เข้าใจผิดต่อร่าง พ.ร.บ.นี้ และยืนยันว่า แพทย์จำเป็นต้องมี ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข นี้ 

ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย 

ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.) อดีตรองเลขาธิการแพทยสภาปี 2550 จบการศึกษาปริญญาเอกนิติศาสตร์บัณฑิต ด้วยการทำดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “ระบบการชดเชยโดยไม่พิสูจน์ความรับผิด”

นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้นมีความจำเป็นมากที่ต้องมี พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยในหลักการแล้วคนที่ได้รับผลกระทบจากการรักษาพยาบาลหรือการประกอบวิชาชีพ มีทั้งในส่วนของคนไข้และตัวแพทย์เอง เมื่อคนไข้ได้รับความเสียหายจากการรักษา ตัวแพทย์จะได้รับผลกระทบจากการฟ้องร้องตามมา วิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวตามหลักการ คือ 1.คนไข้ที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาจะได้รับการช่วยเหลือ เพราะความเสียหายมันเกิดขึ้นแล้ว ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร็วเหมาะสม และครอบคลุม 2.ในส่วนทางแพทย์ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ถูกผิดที่เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ซึ่งสร้างความทุกข์ให้ทั้งคนไข้และแพทย์

“ซึ่งหลักการของ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขนี้ ตอบโจทย์เรื่องนี้ชัดเจน คือไม่มีการพิสูจน์ความผิดในกฎหมายเลยครับ มีมาตราบอกไว้ชัด ส่วนมาตรา 6 บอกว่าให้ดูว่าความเสียหายนั้นเกิดจากโรคเองหรือเปล่า และดูว่าเป็นความเสียหายที่หลีกเลี่ยงได้หรือเปล่า ถ้ายังก็ต้องเกิด แปลว่าน่าจะสุดวิสัย แบบนี้กองทุนไม่จำเป็นต้องจ่าย เพราะแพทย์ไม่เดือดร้อน ถึงไปฟ้องก็ไม่ผิดแน่ๆ นอกนั้นกองทุนจ่ายหมด เพราะเป็นความเสียหายที่หลีกเลี่ยงได้ อาจจะด้วยการวางระบบที่ไม่ดีของรพ. หรือแพทย์ประมาทหรือไม่ประมาทก็ตาม ก็จ่ายครับ ไม่ต้องพิสูจน์ว่าไอ้ที่ว่าหลีกเลี่ยงได้แต่ไม่หลีกเลี่ยงนั้นแพทย์ประมาทหรือเปล่า ไม่พิสูจน์ เมื่อกองทุนจ่ายแล้ว กรรมการค่อยมาดูว่าแล้วจะไปพัฒนาคุณภาพว่าไม่ให้เกิดซ้ำอีกได้อย่างไร อยู่ในหมวดมาตรการเพื่อความปลอดภัย” นพ.ไพโรจน์อธิบาย

ใครจะได้รับประโยชน์จาก ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น นพ.ไพโรจน์  ชี้แจงว่า ทั้งคนไข้และแพทย์ต่างได้รับประโยชน์ คือ คนไข้จะได้รับการชดเชย ช่วยเหลือทันที แปลว่า เร็วและเหมาะสม แต่วิธีการที่จะได้ชดเชยรวดเร็วและเหมาะสมได้นั้น คือ ไม่ต้องผ่านการพิสูจน์ความผิดก่อน ซึ่งตรงนี้เป็นหลักการชดเชยที่ไม่ต้องมีการพิสูจน์ถูกผิด

“แต่เมื่อไม่มีการพิสูจน์ถูกผิดขึ้นมา จะต้องมีประเด็นข้อแย้งออกมา 2 ประเด็นคือ 1.ทำไมต้องรีบชดเชย 2. แล้วถ้าไม่มีการพิสูจน์ถูกผิดแล้ว จะไปปรับปรุง พัฒนาคุณภาพได้อย่างไร และการพิสูจน์ถูกผิดจะต้องมีการลงโทษผู้กระทำผิด เพื่อให้เขาได้ปรับปรุงตัว และถ้าไม่มีการพิสูจน์แล้วเขาจะปรับปรุงตัวได้อย่างไร นี่คือประเด็นที่เป็นข้อแย้งอยู่ว่า ทำไมต้องรีบชดเชย” นพ.ไพโรจน์ กล่าว

จากข้อแย้งดังกล่าว นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ทำไมเราต้องรีบชดเชย เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจของคนไข้ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเกิดจากความผิดหรือไม่ก็ตาม เราจะไม่คำนึงถึงว่าจะผิดหรือถูก เพียงแต่ว่า คนไข้จำเป็นต้องได้รับการชดเชย ช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ นี่คือ ประเด็นหลัก

เมื่อถามว่าทำไมกลุ่มแพทย์จึงออกมาคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว นพ.ไพโรจน์ ระบุว่าแพทย์ที่ออกมาคัดค้านนั้น ส่วนหนึ่งคือเข้าใจผิด ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เกรงว่าจะทำให้เกิดการฟ้องร้องมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากมีการใช้ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว การฟ้องร้องน่าจะน้อยลง ซึ่งเราต้องถามว่า ทำไมคนไข้ถึงฟ้องร้อง เหตุผลหลักคือ เขาต้องการได้รับการชดเชยค่าเสียหาย และเมื่อเขาได้รับการชดเชยค่าเสียหายแล้ว เขาจะไปฟ้องร้องทำไม ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ.นี้ก็ระบุชัด ในมาตรา 24 บอกว่าถ้ารับเงิน ก็ให้ผู้เสียหายหรือทายาททำสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นการยุติคดีแพ่งอย่างสิ้นเชิง ถ้าไม่ทำก็ไม่ต้องรับเงิน ไม่ใช่รับเงินแล้วยังฟ้องต่อได้เหมือนม.41 ม.41 รับเงินแล้วยังฟ้องต่อได้ อันนี้ถ้ารับเงินแล้วฟ้องต่อไม่ได้

ส่วนกรณีที่มีแพทย์หลายท่านออกมาคัดค้านตามที่เป็นข่าวนั้น นพ.ไพโรจน์ ระบุว่า เหตุผลที่คัดค้านนั้น ไม่อยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้อง ไม่มีการศึกษาในเรื่องดังกล่าวที่ดี แล้วออกมาพูด ส่วนแพทย์คนอื่นก็เชื่อตามกัน ส่วนเรื่องที่กลัวกันว่าจะไปทำลายความสัมพันธ์ที่ดีของแพทย์และคนไข้นั้น มันจะไปทำลายได้อย่างไร ตรงกันข้ามจะเกิดความสัมพันธ์ที่ดีเกิดขึ้นด้วยซ้ำ

“เพราะการที่คุณไปฟ้องร้องกัน ความสัมพันธ์จะดีขึ้นหรือไม่ หากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น ความสัมพันธ์ของแพทย์และคนไข้จะเปลี่ยนไปเป็น อีกฝ่ายหนึ่งเป็นโจทย์ อีกฝ่ายหนึ่งเป็นจำเลย ส่วนกระบวนการยุติธรรมใช้เวลานานนับ 10 ปี เริ่มตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงศาลฎีกา แล้วความสัมพันธ์จะดีขึ้นไหม แต่ถ้าเกิดคนไข้ได้รับการช่วยเหลือ ชดเชยความเสียหายแล้วเรื่องก็จบ คุณจะไปฟ้องแพทย์ทำไม คุณแค้นแพทย์ขนาดนั้นเลยเหรอ"

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นที่สำคัญ คือ แพทย์ที่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นี้ส่วนมากอยู่ในระบบกระบวนการยุติธรรม จึงไม่สามารถพูดได้ และในความเห็นส่วนตัวแล้ว นพ.ไพโรจน์ ระบุว่า พ.ร.บ.นี้มีข้อเสียอยู่ข้อเดียว คือ รัฐบาลเสียเงิน ตามกระบวนการชดเชยนั้นจะต้องผ่านคณะกรรมการ ส่วนที่กลัวกันว่าจะไม่มีเงินนั้น ต้องถามว่าที่มาของเงินชดเชยนั้นมาจากไหน สำหรับประเทศที่มีกฎหมายนี้ เช่น นอร์เวย์ สวีเดนเดนมาร์ก ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์นั้น ส่วนหนึ่งมาจากเงินรัฐบาล

ร่าง พ.ร.บ.นี้ ก็กำหนดในมาตรา 19 บอกว่าที่มาของเงินคืองบประมาณแผ่นดินที่เป็นภาษีของประชาชนทั้งแผ่นดินมาจ่ายแทนแพทย์ โดยตัดจากงบรายหัวของทั้ง 3 กองทุนมาอย่างละ 1% คำนวณแล้วเกิน 1,400 ล้านบาท ซึ่งมากเกินพอ ต่อให้จ่ายตามอัตราของ ม.41 อีกสิบเท่าก็ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท เงิน 1,000 ล้านบาทต่อปี รัฐบาลไม่เจ๊งแน่นอน งบโครงสร้างพื้นฐานบางอันเป็นแสนล้าน มาตรา 19 บอกว่ารพ.เอกชนจ่ายสมทบตามความสมัครใจ กำหนดวิธีการจ่ายไว้ในมาตรา 18 มาตรา 19 วรรคท้ายบอกว่ากรณีเงินกองทุนไม่พอจ่าย แปลว่าเกิน 1,400 ล้านต่อปี ก็ให้รัฐบาลจ่ายงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนมาเพิ่มให้อีกได้ตามความจำเป็น ไม่ได้จำกัดวงเงินไว้ครับ เป็นปลายเปิด ไม่มีมาตราไหนให้เก็บเงินจากแพทย์ ถ้ารพ.ไหนสมัครใจจ่ายสมทบเข้ากองทุนแล้วไปเรียกเอากับแพทย์ แพทย์ต้องโวยรพ.

ทั้งนี้ จากการที่เรามีมาตรา 41 ขึ้นมาในปีแรกนั้นมีการชดเชยค่าเสียหายไปเพียง 9 ล้านบาท จากกองทุนที่มีเงินถึง 585 ล้านบาท ส่วนในปี 56 ที่ผ่านมา มีการจ่ายชดเชยไปประมาณ 70-80 ล้านบาท ในขณะที่เรามีเงินเป็นพันล้าน ส่วนตนคิดว่าคงใช้เงินไม่หมด แต่ถึงจะมีการช่วยเหลือ แต่การฟ้องร้องยังมีอยู่เนื่องจากว่า เราช่วยเหลือ ชดเชยเขาไม่เต็มที่  เชื่อหรือไม่ว่ากลุ่มแพทย์ที่ออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.ดังกล่าว คือกลุ่มที่เคยคัดค้านมาตรา 41 มาก่อน แต่ตอนนี้กลับมีแนวคิดให้ขยายวงเงินในมาตรา 41 แต่จะไม่เอา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ นี้

ส่วนประเด็นการชดเชยนั้น นพ.ไพโรจน์ระบว่า จะชดเชยจากความเสียหายจากเหตุที่ป้องกันได้หรือหลีกเลี่ยงได้แต่ประมาท ซึ่งแพทย์อาจประมาทคิดว่าควบคุมได้ แต่แพทย์ไม่ได้ควบคุม หรืออาจเป็นที่ระบบที่ทำให้เกิดความเสียหาย ถ้าพิสูจน์ได้เราก็จ่าย แต่ในกรณีเหตุสุดวิสัย หรือกรณีที่เป็นไปตามพยาธิสภาพของโรค หรือกรณีที่ไม่สามารถป้องกันได้ เช่น อุบัติเหตุที่สุดวิสัย โรคมะเร็ง โรคเอดส์ กรณีแบบนี้จะไม่ได้รับการชดเชย แต่สามารถใช้สิทธิการรักษาตามสิทธิของคนไข้ แต่ไม่สามารถฟ้องร้องเรียกชดเชยค่าเสียหายได้. ซึ่งคณะกรรมการจะเป็นผู้พิจารณา โดยไม่มีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำในการชดเชย

นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีข้อโต้แย้งว่าคณะกรรมการส่วนมากเป็นภาคเอ็นจีโอ ที่ไม่มีความรู้เรื่องการแพทย์นั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะกลุ่มเอ็นจีโอเขายินดีที่จ่ายให้คนไข้ โดยที่แพทย์เองไม่ต้องจ่าย หากเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาเป็นคณะกรรมการ หากเมื่อตรวจสอบแล้ว คนจะไม่มองว่าแพทย์ให้ความช่วยเหลือกันเองหรือไม่

"แพทย์ที่ออกมาคัดค้านร่างพ.ร.บ.นี้เป็นเรื่องของการเข้าใจผิดทั้งนั้น ผมสามารถชี้แจงได้ว่า ถ้าผมเป็นแพทย์ที่รักษาคนไข้แล้วพิการหรือตาย ผมต้องรีบเขียนแบบฟอร์มให้กับกองทุนว่ามันเป็นเรื่องที่ป้องกันได้หรือไม่ เขียนไปให้คนไข้ได้เงินก่อน หรือแพทย์ไม่อยากให้คนไข้ได้เงิน ไม่เช่นนั้นคนไข้จะฟ้องแพทย์ และนี่คือกระบวนการที่ไม่ใช่การฟ้องร้อง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ดี" นพ.ไพโรจน์กล่าวและว่า ส่วนกลุ่มแพทย์ที่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นี้ ยังมีจำนวนน้อยไม่น่าจะเกิน 5% ด้วยซ้ำไป ถามว่าทำไมถึงมีน้อยกว่ากลุ่มที่คัดค้าน เนื่องมาจากมีแพทย์จำนวนไม่มากที่หันมาศึกษาเรื่องของ พ.ร.บ.นี้อย่างจริงจัง  แถมยังมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนน้อยมาก และเกิดความเชื่อถือของกลุ่มแพทย์ที่ออกมาคัดค้าน  ส่วน พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้จะดีหรือไม่ตนเชื่อว่าจะต้องลองใช้ เหมือนกับมาตรา 41 วิธีที่จะยุติความขัดแย้งได้คือ การชี้แจงด้วยเหตุและผล

“ข้อดีของ พ.ร.บ. นี้สำหรับแพทย์อีกข้อหนึ่ง คือ ที่ผ่านมา อาชีพแพทย์ส่วนมากจะทำประกันวิชาชีพเกือบทุกคนกับ 2บริษัทเอกชน ทุกคนที่ทำประกันจะเสียค่าเบี้ยประกัน 10,000 บาทต่อปี ต่อทุนประกัน 1,000,000 บาท ถ้าเบี้ยประกัน 20,000 บาททุนประกันจะอยู่ที่ 2,000,000 บาท ลองคิดดูว่าในเบื้องต้นหากคำนวณจากแพทย์ที่ทำงานอยู่ 30,000 คน คูณค่าเบี้ยประกัน 20,000 บาท ต่อปี บริษัทจะมีได้เงินประกันตกปีละ 600 ล้านบาท ขณะที่ศาลติดสินให้แพทย์มีความผิดและต้องจ่ายเงินชดเชยให้ปีละไม่ถึง 20 ล้านบาท เงินส่วนที่เหลือบริษัทประกันได้ไปเต็มๆ แต่ถ้ามี พ.ร.บ.นี้เข้ามา แพทย์จะไม่ต้องทำประกันในวิชาชีพเลย เพราะมีเงินกองทุนจากรัฐบาลมาช่วยชดเชยความเสียให้ไปแล้ว แล้วอย่างนี้จะไม่เป็นผลดีต่อแพทย์ได้อย่างไร”

“น่าเสียดายครับถ้า ร่าง พ.ร.บ. นี้ไม่ผ่าน เพราะแพทย์เองคัดค้าน แทนที่จะออกมาเคลื่อนไหวให้กฎหมายผ่าน แพทย์ที่ถูกฟ้องอยู่ระหว่างนี้จะได้รับอานิสงค์ทันทีจากบทเฉพาะกาล คนไข้ที่ฟ้องอยู่จะได้ขอยุติคดีมาขอรับเงินจากกองทุน ประหยัดเวลาไป 10 ปี แพทย์ก็หายเครียดจากคดีทันที ความคาดหวังว่า พ.ร.บ.นี้จะผ่านในรัฐบาลชุดนี้มี 50 : 50  สิ่งที่คัดค้านกันอยู่ทุกวันนี้เกิดจากการอีโก้ของแพทย์ด้วยกันเอง ไม่มีใครฟังใคร เชื่อแล้วเชื่อเลย สิ่งที่ผมจะบอกย้ำอีกครั้งคือ พ.ร.บ.นี้ข้อเสียเพียงข้อเดียว คือ รัฐบาลเสียเงินเท่านั้น” นพ.ไพโรจน์กล่าว