เลขาธิการสปสช.พร้อมคณะผู้บริหาร เปิดแถลงข่าวกรณีปลัดสธ.ให้ข่าวปลุกระดมสสจ.และ ผอ.รพ.ให้ร้ายการบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพ ชี้มีการหยิบยก ตัดตอนข้อมูลเพียงบางส่วนทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด หวังรวมศูนย์กำหนดหลักเกณฑ์จัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวกลับเข้าสธ. ลดบทบาทและหลักการของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
11 ธ.ค.57 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. เปิดเผยว่า สปสช.เป็นหน่วยงานของรัฐเหมือนกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)แต่ก็ได้ให้เกียรติไม่วิพากษ์วิจารณ์การบริหารของหน่วยงานอื่น แต่มุ่งแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ ตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงก่อนและหลังการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2557 ที่ผ่านมา สปสช. ได้ถูกปลัดสธ.ให้ร้ายเกี่ยวกับการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างต่อเนื่องในหลายเวทีและผ่านสื่อมวลชนอย่างเปิดเผย แต่สปสช.ได้รับฟังด้วยความอดทน สงบนิ่ง ไม่เคยตอบโต้หรือวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของสธ. เพราะรู้ว่าสังคมขณะนี้ ต้องการความปรองดอง ร่วมมือเพื่อปฏิรูปประเทศไทย แต่ ณ วันนี้เพื่อไม่ให้เป็นเหยื่อปลุกเร้า สสจ.และรพ.ต่างๆ ให้คัดค้านมติบอร์ดสปสช. จึงจำเป็นต้องเปิดแถลงข่าวในวันนี้โดยมี 2 ประเด็นใหญ่ที่ต้องทำความเข้าใจ คือ
1.ประเด็นการหยิบยกตัดตอนข้อมูลการบริหารกองทุนฯทำให้เกิดความเข้าใจผิด
2.ประเด็นข้อเสนอการบริหารงบกองทุน ปี 2558 ของปลัดสธ.
นพ.วินัย กล่าวต่อว่า ที่มีการกล่าวหาว่าบอร์ดสปสช.ผิดสัญญาไม่ลงมติรับข้อเสนอการบริหารงบกองทุนปี 2558 ของปลัดสธ.นั้น ข้อเท็จจริงคือ การกำหนดหลักเกณฑ์ การบริหารงบกองทุนเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฏหมายของบอร์ดสปสช. ซึ่งมีอนุกรรมการชุดต่างๆ ช่วยพิจารณากลั่นกรองหลายชั้น เพราะต้องคำนึงถึงความถูกต้องทางหลักการการแยกผู้ซื้อกับผู้จัดบริการออกจากกัน และต้องถูกต้องตามที่กฏหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน และที่สำคัญต้องดูว่าการเปลี่ยนแปลงแล้วประชาชน คนไข้จะได้ประโยชน์ดีกว่าระบบเดิมอย่างไร รวมทั้งต้องมีความชัดเจนในรายละเอียดการปฏิบัติด้วย
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ต่อประเด็นที่ว่าการบริหารกองทุนของ สปสช.ที่มีการแบ่งเป็นกองทุนย่อย จัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ รวมทั้งการส่งเงินและเรียกคืนที่ไม่มีหลักเกณฑ์เป็นเหตุให้ รพ.นับร้อยแห่งขาดทุน มีปัญหาทางการเงินนั้น ขอชี้แจงว่าหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพ คือการแยกผู้ซื้อหรือบอร์ดสปสช.ออกจากผู้รับบริการหรือ รพ.ของสธ. เพื่อถ่วงดุลและเพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนมากขึ้น ดังนั้นงบประมาณเหมาจ่ายปีละ 140,000 ล้านบาท ตามมาตรา 38 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จึงเป็นงบประมาณที่รัฐจัดให้กับประชาชนผู้ป่วย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการของหน่วยบริการ ไม่ใช่งบของหน่วยบริการโดยตรงเหมือนในอดีต และบอร์ดสปสช. ซึ่งประกอบด้วยสธ.และอื่นๆ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและตัวแทนภาคีต่างๆ จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์การบริหารงบเหมาจ่ายของกองทุน โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ
1.งบชดเชยการจัดบริการเป็นเงินทั้งหมดประมาณ 140,000 ล้านบาทหรือคิดเป็น ร้อยละ 99 ของงบทั้งหมด แบ่งเป็นงบเหมาจ่ายผู้ป่วยนอก จ่ายเหมาตามจำนวนประชากร เพื่อเป็นธรรมกับประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ สำหรับผู้ป่วยในและผู้ป่วยค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้งกองทุนย่อยอื่น จ่ายตามผลงานการให้บริการจริง หน่วยบริการ
2.งบสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข ได้แก่ งบตามมาตรา41 ช่วยเหลือเบื้องต้น ผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการใช้บริการ และงบกองทุนท้องถิ่นตามมาตรา 47 รวมทั้งงบพัฒนาติดตามกำกับประเมินผลการจัดบริการที่สนับสนุนหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอ รวมทั้งสถาบันวิชาการต่างๆ และมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อช่วยในการพัฒนาเตรียมความพร้อมของบุคลากรในการให้บริการ หรือช่วยในการติดตามกำกับประเมินผลระบบบริการและการเข้าถึงบริการ
นพ.ประทีป กล่าวต่อว่า เฉพาะงบพัฒนาติดตามกำกับประเมินผลที่สนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ในปี 2557 เป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 587 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 0.42 ของงบเหมาจ่ายรายหัวทั้งหมด หน่วยงานที่ได้การสนับสนุน เช่น สำนักงานปลัดสธ. กรมต่างๆ ของสธ. สสจ. สสอ. และ มูลนิธิต่างๆ
“การกล่าวอ้างว่า สปสช. นำงบเหมาจ่ายรายหัวจำนวนมากไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ของกฏหมายและเป็นสาเหตุทำให้ รพ.ต่างๆ ขาดทุน จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริง เป็นการตั้งใจตัดตอนข้อมูลเพื่อกล่าวหาปลุกอารมณ์มากกว่า” นพ.ประทีป กล่าว
นพ.ประทีป กล่าวต่อว่า ต่อประเด็นข้อเสนอของปลัดสธ.ให้ปรับลดจำนวนกองทุนย่อยจาก 9 แถว ให้เหลือเพียง 4 แถว คือ งบผู้ป่วยนอก งบผู้ป่วยใน งบส่งเสริมป้องกันโรค และงบอื่นๆ และให้เขตบริการสุขภาพของสธ. ซึ่งมีผู้ตรวจราชการสธ.เป็นประธาน เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดเงินทั้ง 4 แถวให้กับหน่วยบริการในพื้นที่ และส่งให้ สปสช. เป็นผู้จ่ายเงินให้หน่วยบริการตามหลักเกณฑ์ที่เขตบริการสุขภาพกำหนดนั้น
“เรื่องนี้เป็นหลักการสำคัญของกฏหมายว่า การให้เขตบริการสุขภาพซึ่งดูแลหน่วยบริการของตนในพื้นที่อยู่แล้วและมีหน้าที่แทนบอร์ดสปสช.ในการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินให้หน่วยบริการนั้นถูกต้องตามหลักการและกฏหมายหรือไม่ และถ้าจำเป็นต้องทำจริง เขตบริการสุขภาพของสธ.จะมีความพร้อมในการดำเนินการมากกว่าเขตและคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตซึ่งประกอบด้วยตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ของ สปสช. และได้ดำเนินการมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว มีความพร้อมมากกว่าจริงหรือ รวมทั้งหน่วยบริการและประชาชนจะได้ประโยชน์มากขึ้นจริงหรือ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องพิจารณาข้อเสนอของปลัดกระทรวงสาธารณสุขอย่างรอบคอบ จึงไม่ใช่เป็นการผิดข้อตกลงแต่อย่างไร”นพ.ประทีป กล่าว
นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับประเด็นให้ร้ายว่าการบริหารกองทุนของ สปสช.มีปัญหาไม่โปร่งใส มีการส่งเงินแล้วเรียกเงินคืนที่ไม่มีหลักเกณฑ์ และเป็นสาเหตุทำให้ รพ.ต่างๆ นับร้อยแห่งขาดทุนมีปัญหาทางการเงินนั้น สปสช. มีหลักเกณฑ์การบริการกองทุนที่ชัดเจนมีปรากฏในประกาศ คู่มือ และการชี้แจงแต่ละปี รวมทั้งระบบข้อมูลการสอบทานที่ละเอียดและเปิดเผยผ่านทาง Web site หน่วยบริการทุกแห่งสามารถตรวจสอบได้ หรือมีระบบ Call center สายด่วน 1330 สอบถามและติดต่อได้ตลอดเวลา ส่วนประเด็นเรื่อง รพ.ขาดทุนมีหลายสาเหตุ ตั้งแต่เรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินของ สปสช. และสาเหตุอื่นๆ เช่น การขึ้นเงินเดือนค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ของ รพ.ต่างๆ ตามประกาศของสธ. และการบริหารจัดการภายในของหน่วยบริการแต่ละแห่ง สำหรับสาเหตุที่อาจเกิดจากการจัดสรรเงินของ สปสช. นั้นทุกปี สปสช. ได้มีมาตราการการช่วยเหลือเหล่านี้ เช่น จัดให้มีงบประมาณสนับสนุนหน่วยบริการในพื้นที่เฉพาะที่มีประชากรน้อย มีค่าใช้จ่ายสูงหรือมีการปรับเกลี่ยภายในจังหวัดยอมให้ช่วยเหลือกันแบบ รพ.พี่ รพ.น้อง เป็นต้น
“สปสช.จะเสนอรมว.สธ. ให้แต่งตั้งคณะทำงานจากบุคคลภายนอกที่เป็นกลาง และจากนักตรวจสอบบัญชี เพื่อตรวจหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวน รพ.ที่ขาดทุน รวมทั้งหาสาเหตุ และเสนอแนวทางแก้ไข เพื่อให้ประเด็น รพ.ขาดทุนได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่ถูกหยิบยกเป็นประเด็นทำให้เกิดความสับสนและผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลต่อการให้บริการของ รพ. เหล่านี้อีกต่อไป”นพ.พีรพล กล่าว
- 8 views