“หมอสมศักดิ์” ประกาศ 10 นโยบาย “ชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์” หาเสียงเลือกตั้ง “กก.แพทยสภาวาระ 58-60” ทั้งเดินหน้าขยาย ม.41 กันฟ้องหมอคดีอาญา ถอนบริการการแพทย์ออกจาก พ.ร.บ.คดีวิธีพิจารณาผู้บริโภค พร้อมทำกรอบมาตรฐานการทำงานแพทย์ รพ.รัฐ/ใช้ทุน/แพทย์ประจำบ้าน พร้อมเดินหน้าพัฒนาวิชาชีพแพทย์ ยันคุ้มครองแพทย์ แต่เป็นประโยชน์ประชาชน กันผลกระทบบริการรักษาพยาบาลในอนาคต
7 ธ.ค.57 นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภาหลายสมัย ในฐานะประธานชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ (ชพพ.) กล่าวถึง 10 นโยบายของทาง ชพพ.ซึ่งได้ประกาศในการหาเสียงเลือกตั้งแพทยสภา 2558-2560 ว่า การกำหนดนโยบายของทาง ชพพ. เมื่อดูในภาพรวมแล้ว ไม่ได้เป็นการปกป้องเฉพาะวิชาชีพแพทย์เท่านั้น แต่เป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ประชาชนโดยรวม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบจากระบบบริการอนาคต
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า นโยบายที่ ชพพ.ให้ความสำคัญคือการแก้ไขมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อคุ้มครองความเสียหายจากการเข้ารับบริการทางการแพทย์ โดยให้การคุ้มครองที่ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศ ไม่เพียงเฉพาะในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น แต่รวมถึงทุกระบบรักษาพยาบาล ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนแล้ว และไม่ก่อส่งผลกระทบต่อวิชาชีพแพทย์เพราะมีระบบรองรับ ซึ่งการขยายมาตรา 41 นี้จะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเช่นเดียวกับ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ที่มีความพยายามผลักดันขณะนี้ ซึ่งจะส่งผลเสียระบบการรักษาพยาบาลของประเทศเอง นอกจากนี้ยังเดินหน้าการคุ้มครองให้แพทย์ที่รักษาตามมาตรฐานวิชาชีพไม่ถูกดำเนินคดีอาญา
“เรื่องนี้ที่ผ่านมาทางแพทยสภาได้พยายามผลักดัน เนื่องจากมองว่ากรณีของแพทย์ที่ตั้งใจรักษาผู้ป่วยแล้ว อาจเกิดความผิดพลาดซึ่งเป็นไปได้ในทางการแพทย์และไม่มีเจตนา ควรจะได้รับการคุ้มครอง ไม่ควรให้ถึงขั้นต้องถูกดำเนินคดีอาญาและติดคุก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีกรณีที่แพทย์รักษาผู้ป่วยถูกดำเนินคดีอาญา ปรากฎว่าไม่เพียงแต่ส่งผลต่อแพทย์ที่ไม่อยากรักษาผู้ป่วยในระบบ อาจลาออกไปอยู่เอกชนหรือประกอบอาชีพอื่น ยังส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในการเข้าถึงการรักษาจากสถานการณ์นี้” อดีตนายกแพทยสภากล่าวและว่า แต่ในกรณีที่แพทย์ทำผิดกฎหมาย อย่างขายยาหรือให้การรักษาที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือให้การรักษาที่ผิดมาตรฐาน เหล่านี้ต้องถูกดำเนินคดี
นอกจากนโยบายข้างต้นแล้ว นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ยังมีนโยบายผลักดันแก้ไข พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 โดยนำเรื่องการรักษาโรคทางการแพทย์ออกจากกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากการรักษาไม่ใช่สินค้า จะใช้มาตรฐานวิธีการพิจารณาเดียวกันไม่ได้ อย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีอาการไอ 10 คน แต่ละคนอาจมีอาการป่วยและต้องได้รับยาที่ต่างการ ให้การรักษาต่างกัน ดังนั้นจึงไม่ควรนำรวมกับบริการและการขายสินค้าอื่นๆ นอกจากนี้กฎหมายฉบับนี้ยังไม่เป็นธรรมต่อแพทย์ เพราะผู้ป่วยสามารถฟ้องร้องโดยปากเปล่าและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยปล่อยให้แพทย์เป็นผู้พิสูจน์ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ที่ผ่านมาส่งผลให้มีผู้ป่วยฟ้องร้องเพิ่มมากขึ้น
ส่วนกรณีการกำหนดนโยบายคัดค้านคนนอกเป็นเข้าร่วมเป็นกรรมการแพทยสภานั้น เป็นไปตามหลักการ “วิชาชีพ” ต้องควบคุม “วิชาชีพ” กันเอง โดยในหลักการ ไม่ว่าการดำเนินการออกหลักสูตรการเรียนการสอน การพิจารณาการรักษา ผู้พิจารณาจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ในวิชาชีพซึ่งจะเข้าถึงกระบวนการวิธีทางการแพทย์ได้ แต่ในกรณีที่มีข้อพิพาทและร้องเรียนนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแพทยสภาปกป้องวิชาชีพแพทย์นั้น ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณา ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงวุฒิที่เป็นคนกลางเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ เป็นต้น เพื่อเป็นการถ่วงดุลให้เกิดความโปร่งใสในการพิจารณาคดี
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ชพพ.ยังมีนโยบายคัดค้านการริดรอนสิทธิ์ ที่ขัดกับ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมฯ ต่อแพทย์ โดยจะเปิดโอกาสให้แพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมสามารถให้การรักษาได้ อย่างการผ่าตัดจมูก การเย็บแผลทั่วไป เป็นต้น ไม่จำกัดเฉพาะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยกเว้นกรณีการผ่าตัดใหญ่และการรักษาที่ต้องเป็นเฉพาะทาง อย่างเช่น การผ่าตัดแปลงเพศ การผ่าตัดเปลี่ยนตับหรือไต เป็นต้น ทั้งนี้นอกจากช่วยให้แพทย์ในต่างจังหวัดสามารถให้การรักษาแล้ว ยังช่วยประชาชนให้ได้รับบริการมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีนโยบายในการผลักดันให้แพทย์ไทยเป็นผู้นำในระดับ ASEAN ทั้งด้านการเรียน การสอน วิชาการ การรักษาและการวิจัย
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายส่งเสริมให้มีกรอบมาตรฐานการทำงาน (working time directive) ของแพทย์รัฐ แพทย์ปประจำบ้าน และแพทย์ใช้ทุน ต้องยอมรับว่าแพทย์เหล่านี้ทำงานหนักมาก แต่ละวันต้องออกตรวจและรักษาคนไข้จำนวนมาก ทำให้ขาดการพักผ่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ความผิดพลาดในการรักษาย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้มาก ดังนั้นทางแพทยสภาจะมีการจัดทำกรอบมาตรฐานการทำงานของแพทย์ และออกเป็นประกาศข้อบังคับแพทยสภา เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการ ทั้งนี้จะไม่ครอบคลุมแพทย์เอกชน หรือแพทย์ที่ทำงานมานานแล้ว หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะแพทย์เหล่านี้มีทางเลือก ต่างจากกลุ่มแพทย์ที่ต้องใช้ทุน ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพราะจะได้รับบริการที่ดีและลดความเสี่ยงของการรักษาที่ผิดพลาด
“นโยบายของ ชพพ.ข้างต้นนี้ เบื้องต้นได้ตั้งเป้าดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เนื่องจากบางนโยบายเป็นเรื่องกฎหมายที่ต้องใช้เวลา อีกทั้งการดำเนินการต้องผ่านหน่วยงานอื่น” ประธานชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพ กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังมีนโยบายส่งเสริมความก้าวหน้าทางการแพทย์อย่างมีคุณภาพ ภายใต้ “ธรรมาภิบาล” และ “จริยธรรม”, แพทย์ต้องสั่งและจ่ายยารักษาผู้ป่วยได้ตามปกติอย่างเป็นธรรม ไม่เพิ่มขั้นตอนใหม่ให้ผู้ป่วยลำบาก และการสนับสนุนและผลักดันให้ “ภาคเอกชนร่วมมือกับภาครัฐ” ในการผลิตแพทย์ การพัฒนาการศึกษา และการวิจัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เจาะลึกเลือกตั้งแพทยสภา (3) นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ แพทยสภาภิวัฒน์ “ประกาศปฏิรูปแพทยสภา”
เจาะลึกเลือกตั้งแพทยสภา (4) พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา : พลังแพทย์ ขอโอกาสพัฒนาวิชาชีพแพทย์
เจาะลึกเลือกตั้งแพทยสภา (5) หนุน ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม วาระนายกแพทยสภาไม่เกิน 2 สมัย
เจาะลึกเลือกตั้งแพทยสภา (จบ) เชื่อเลือกตั้งกก.แพทยสภาครั้งนี้ เป็นโอกาสปฏิรูปแก้ขัดแย้งได้
- 29 views