7 ธ.ค.57 ช่วงเวลานี้จนถึง 20 มกราคม 2558 เป็นช่วงเวลาการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาชุดใหม่ แทนกรรมการแพทยสภาวาระ 2556-2558 ที่กำลังจะหมดวาระในปลายเดือน ม.ค.58 ที่จะถึงนี้ ประเด็นที่แต่ละกลุ่มนำมาใช้หาเสียง หลักๆ คือ ประเด็นกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหาย ที่ก่อนหน้านี้ ก็เปิดประเด็นนี้จนเป็นกระแสมาแล้ว ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่จะมีการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา ประเด็นนี้จะถูกหยิบยกมาใช้เสมอๆ สิ่งที่เกิดในปีนี้ ก็เหมือนเดจาวูเมื่อ 2 ปีก่อน

นอกจากนั้น ก็เป็นเรื่อง ความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ความเกี่ยวพันกับองค์กร ส. เอ็นจีโอ เครือข่ายผู้เสียหาย รวมถึงความเห็นต่อกฎหมายเสริมความงาม

ทั้งนี้กรรมการแพทยสภานั้น ประกอบไปด้วย

กรรมการแพทยสภาโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมอนามัย เจ้ากรมแพทย์ทหารบก เจ้ากรมแพทย์ ทหารเรือ เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ นายแพทย์ใหญ่กรมตำรวจ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์

กรรมการแพทยสภาโดยการเลือกตั้ง ซึ่งมีจำนวนเท่ากับกรรมการแพทยสภา ซึ่งตำแหน่งกรรมการแพทยสภาโดยตำแหน่ง วาระปีพ.ศ.2558-2560 ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งนี้ มีจำนวน 28 คน ดังนั้นที่มาจากเลือกตั้งจะมีจำนวน 28 คน เท่ากันรวมแล้วจะมีทั้งหมด 56 คน

ข้อมูลจากแพทยสภาระบุว่า การเลือกตั้งกรรมการแพทยสภานั้น เริ่มตั้งแต่ปี 2511 และปัจจุบันแพทยสภามีอายุครบ 46 ปี ไปเมื่อวันที่ 9 ต.ค.57 ที่ผ่านมา

จากสถิติการเลือกตั้งนั้น พบว่า สมาชิกแพทยสภา ซึ่งได้แก่ แพทย์ผู้ได้รับปริญญา หรือประกาศนียบัตรในวิชาแพทยศาสตร์ที่แพทยสภารับรอง อายุเกิน 20 ปี ไม่มี จิตฟั่นเฟือน ไม่ประพฤติเสียหาย ไม่เคยต้องโทษ ใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุด ในวาระการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาในอดีต คือ ปี พ.ศ.2546-2548 จำนวนร้อยละ 50.5 แต่โดยทั่วไปมีผู้ใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่ง เช่น การเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบัน (ปีพ.ศ.2556-2558) จำนวนสมาชิกแพทยสภาผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนจำนวน 43,332 คน มีผู้ใช้สิทธิ์ลงคะแนนเพียง 11,779 คน หรือ คิดเป็นร้อยละ 27.18 ของจำนวนสมาชิกเท่านั้น

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข โฆษกแพทยสภา เคยกล่าวว่า กรรมการแพทยสภามักถูกกล่าวหาจากสมาชิกแพทยสภาว่า ไม่ปกป้องคุ้มครองสมาชิก ถูกสมาชิกแพทยสภาบางคนฟ้องร้องต่อศาล ขณะเดียวกันก็ถูกประชาชนกล่าวหาว่าไม่ปกป้องคุ้มครองประชาชนจากการกระทำของแพทย์ ถูกประชาชนบางคนฟ้องร้องต่อศาล

ซึ่งจะเป็นอย่างที่กล่าวหากันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับวิจารณญานของทุกท่าน แต่ในที่นี้ขอยกวัตถุประสงคและอำนาจหน้าที่ของแพทยสภาตามกฎหมายมาประกออบการพิจารณาดังนี้

วัตถุประสงค์ของแพทยสภาตามมาตรา 7 มีดังนี้

1.ควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ถูกต้องตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม

2.พักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวช

3.ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก

4.ช่วยเหลือแนะนำเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนและองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์และการสาธารณสุข

5.ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการแพทย์และการสาธารณสุข

6.เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทย

อำนาจและหน้าที่ของแพทยสภาตามมาตรา 8 มีดังนี้

1.รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

2.พักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

3.รับรองปริญญา ประกาศนียบัตรในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ หรือวุฒิบัตรในวิชาชีพเวชกรรมของสถาบันต่างๆ

4.รับรองหลักสูตรต่างๆ สำหรับการฝึกอบรมในวิชาชีพเวชกรรมของสถาบันทางการแพทย์

5.รับรองวิทยฐานะของสถาบันทางการแพทย์ที่ทำการฝึกอบรมใน ข้อ 4

6.ออกหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆ และออกหนังสือแสดงวุฒิอื่นๆ ในวิชาชีพเวชกรรม

การเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาวาระปี พ.ศ.2558-2560 ที่กำลังมาถึงนี้ มีสมาชิกแพทยสภาสมัครลงรับเลือกตั้งเป็นกรรมการแพทยสภาทั้งหมดจำนวน 98 คน โดยมีทั้งที่รวมกันเป็นกลุ่ม และผู้สมัครอิสระ ซึ่งประวัติ ประสบการณ์ทำงาน นโยบายของแต่ละกลุ่ม และแต่ละท่าน สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของแพทยสภา(ดูที่นี่)

ในจำนวน 98 คนที่ลงสมัครนั้น ในระดับกลุ่มที่สำคัญมี 3 กลุ่มใหญ่ คือ

1.ชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ มีสมาชิก 27 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรรมการแพทยสภาหลายสมัย และล้วนมีตำแหน่งใหญ่โตในระดับ ทั้ง นายกแพทยสภา เลขาธิการแพทยสภา ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา เหรัญญิก อุปนายก และโฆษกแพทยภา เป็นต้น

2.กลุ่มแพทยสภาวิวัฒน์ มีสมาชิก 25 คน มีบางคนเคยเป็นกรรมการแพทยสภา

3.กลุ่มพลังแพทย์ มีสมาชิก 28 คน มีบางคนเคยเป็นกรรมการแพทยสภา

ประเด็นที่แต่ละกลุ่มนำมาใช้หาเสียง หลักๆ คือ ประเด็นกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหาย ที่ก่อนหน้านี้ ก็เปิดประเด็นนี้จนเป็นกระแสมาแล้ว ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่จะมีการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา ประเด็นนี้จะถูกหยิบยกมาใช้เสมอๆ สิ่งที่เกิดในปีนี้ ก็เหมือนเดจาวูเมื่อ 2 ปีก่อน

นอกจากนั้น ก็เป็นเรื่อง ความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ความเกี่ยวพันกับองค์กร ส. เอ็นจีโอ เครือข่ายผู้เสียหาย รวมถึงความเห็นต่อกฎหมายเสริมความงาม

(ขณะเดียวกัน ในสังคมออนไลน์ก็มีผู้เปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของทั้ง 3 กลุ่มนี้ไว้ แต่สำนักข่าว Health Focus ไม่ขอนำมาเผยแพร่ในที่นี้ เนื่องจากมีบางประเด็นอ่อนไหว อย่างไรก็ตามคงไม่เกินความสามารถของแพทย์ทุกท่านที่มีสิทธิ์เลือกตั้งจะค้นหากันได้ และใช้วิจารณญานในการตัดสินใจและพิจารณาเอง)

ดังนั้น เพื่อให้ทราบข้อมูล รับรู้ถึงนโยบายและความคิดเห็นของแต่ละกลุ่ม รวมถึงผู้สมัครอิสระ สำนักข่าว Health Focus จึงได้สัมภาษณ์บุคคลที่เป็นแกนนำแต่ละกลุ่ม และจะทยอยนำเสนอตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 7 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป รวมถึงสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องถึงความคาดหวังต่อการทำหน้าที่ของแพทยสภา ในโอกาสที่จะมีการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาชุดใหม่นี้ (สำหรับผู้สมัครอิสระท่านใดที่สนใจอยากเผยแพร่นโยบายของท่าน สามารถติดต่อและฝากเบอร์โทรได้ที่ อีเมล healthfocus1713@gmail.com หลังจากนั้นทางกองบรรณาธิการ Health Focus จะประสานงานเพื่อสัมภาษณ์ต่อไป)

การเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา

ส่วนรายละเอียดการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภานั้น ข้อมูลจากแพทยสภาระบุว่า คณะอนุกรรมการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา วาระ พ.ศ. 2558-2560ได้ดำเนินการส่งบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง รายละเอียดประวัติผู้สมัครรับเลือกตั้งและข้อความที่สื่อถึงสมาชิกแพทยสภา พร้อมดินสอดำ 2 B และ ซองบริการธุรกิจตอบรับส่งกลับบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ให้สมาชิกแล้วเมื่อวันที่ 18 พ.ย.57

คำแนะนำเกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้ง

1.การลงคะแนนในบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ให้กระทำโดยลงลายมือชื่อผู้ใช้สิทธิ์ และใช้ดินสอดำอย่างน้อย 2 B ที่ใส่มาด้วย ในซอง ระบายให้เต็มในวงกลมหน้าชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง จำนวนไม่เกิน 28 หมายเลข

2.กรณีที่ท่านไม่ประสงค์เลือกผู้ใดทั้งสิ้น ให้ระบายเต็มในวงกลมหลังหมายเลข 0 (เลขศูนย์)

3.อย่าลืมลงลายมือชื่อ

4.พับใส่ซองปิดผนึกและส่งกลับคืนทางไปรษณีย์ โดยควรนำส่งก่อนวันที่ 10 มกราคม 2558 และ

5.หรือนำส่งลงหีบรับบัตรลงคะแนนเลือกตั้งที่สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา อาคาร 6 ชั้น 7 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 ในวันราชการ เวลา 08.30 น. ถึง เวลา 16.30 น. โดยกำหนดปิดหีบรับบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง วันที่ 20 มกราคม 2558 เวลา 16.30 น.

6.คณะอนุกรรมการเลือกตั้งฯ จะดำเนินการตรวจนับคะแนน เลือกตั้ง วันที่ 21 มกราคม 2558 ณ ห้องประชุมไพจิตร ปวะบุตร อาคาร 7 ชั้น 9 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป

7.กรณีที่ท่านไม่ได้รับบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง สามารถติดต่อรับได้ที่ สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา อาคาร 6 ชั้น 7 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ถ.ติวานนท์ จ.นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ 02-5901886, 02-5901887

ติดตาม

เจาะลึกเลือกตั้งแพทยสภา (2) นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์

เจาะลึกเลือกตั้งแพทยสภา (3) นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ กลุ่มแพทยสภาภิวัฒน์ 

เจาะลึกเลือกตั้งแพทยสภา (4) พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา : พลังแพทย์ ขอโอกาสพัฒนาวิชาชีพแพทย์

เจาะลึกเลือกตั้งแพทยสภา (5) หนุน ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม วาระนายกแพทยสภาไม่เกิน 2 สมัย

เจาะลึกเลือกตั้งแพทยสภา (จบ) เชื่อเลือกตั้งกก.แพทยสภาครั้งนี้ เป็นโอกาสปฏิรูปแก้ขัดแย้งได้