ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ที่ผ่านมาในอดีต คนไทยสร้างภาพลักษณ์ให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีดูน่ากลัว ร่างกายสูบผอม เป็นสิ่งที่ไม่น่าเข้าใกล้ ผมอยากให้คนไทยปรับเปลี่ยนทัศนคติกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีว่า เชื้อเอชไอวีนั้นไม่ได้ติดกันง่ายเพียงแค่การสัมผัสหรือใกล้ชิดเท่านั้น เพื่อให้การรณรงค์ลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ได้กล่าวถึง แนวทางการทำงานในอนาคตที่จะต้องลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์ด้วยการให้สังคมปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์การมองผู้ติดเชื้อเอดส์เสียใหม่ โดยในวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันเอดส์โลกใน ปี 2557 นี้มีแนวคิด “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา : ร่วมยุติปัญหาเอดส์ และเพศสัมพันธ์”

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2525 ตนและนายแพทย์อีก 2 คน เป็นแพทย์กลุ่มแรกที่สามารถวินิจฉัยตรวจหาเชื้อเอดส์(HIV) ได้เป็นรายแรกของประเทศไทย ซึ่งตอนนั้นตนเองทำงานเป็นแพทย์ใน รพ.จุฬาฯ ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ทำงานด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวีมาอย่างต่อเนื่อง ทาง รพ.จุฬาฯ จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยโรคเอดส์ขึ้นมา และเปิดเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2532 และในปี พ.ศ. 2534 เป็นปีที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันแห่งรณรงค์โรคเอดส์

“ภายในศูนย์วิจัย เราทำการวิจัยเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ รวมทั้งมีการเปิดคลินิกนิรนาม เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มเสี่ยงได้เข้ารับบริการตรวจเลือดโดยไม่ต้องบอกชื่อ ไม่เป็นการตีตราผู้ป่วยอีกทางหนึ่ง ที่ทำให้กลุ่มเสี่ยงกล้าที่จะมาตรวจเลือดของตนเอง”

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า ถ้าพูดถึงเรื่องการทำงานกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีในอดีตกับปัจจุบัน มีความแตกต่างกันอย่างมาก ในอดีตคนมักจะรับรู้ว่า คนที่ติดเชื้อเอชไอวีเมื่อเป็นแล้วจะต้องตายเท่านั้น ไม่มีทางรักษาได้ แต่ในปัจจุบันเรามียาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ติดเชื้อมีโอกาสดื้อยาได้น้อยมากเมื่อเทียบกับในอดีต ขณะเดียวกันรัฐบาลเปิดโอกาสให้ผู้ติดเชื้อเอดส์ทุกกลุ่มสิทธิเข้าถึงบริการการรักษาได้ฟรี ซึ่งช่วยยืดอายุให้กับผู้ติดเชื้อได้ ซึ่งจะช่วยปรับเปลี่ยนความคิดที่ว่าติดเชื้อเอดส์แล้วตาย เพราะผู้ติดเชื้อบางคนมีอายุที่ยืนได้ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

“อยากให้คนไทยกล้าที่จะตรวจหาเชื้อเอชไอวีอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพราะเดี๋ยวนี้ วิวัฒนาการตรวจหาเชื้อได้พัฒนาถึงขั้นสามารถรู้ผลได้เลยว่าคุณติดเชื้อหรือไม่ภายในเวลา 2 อาทิตย์ นอกจากนี้ยังพบว่า มีประชาชน กลุ่มเสี่ยงอีก 30% ไม่รู้ผลเลือดตัวเอง ขณะเดียวกันทางศูนย์วิจัยโรคเอดส์ได้ทำงานเชิงรุก เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อรายได้ เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้รับการรักษาที่เร็วที่สุด เช่น บริการตรวจเลือดตามห้างสรรพสินค้า วิทยาลัย รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อออนไลน์ และภาคี ”

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคพบว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมประมาณ 1,194,515 คน มีชีวิตอยู่ 438,629 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,695 คน โดยประเทศไทยได้มีเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ ว่าภายในปี พ.ศ. 2573 หรือ อีก 16 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะไม่มีเด็กที่คลอดมาแล้วติดเชื้อเอชไอวี และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ไม่เกิน 1,000 รายต่อปี

ซึ่ง ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ว่า แม้เอดส์สามารถเป็นได้กับทุกคน แต่หากตรวจเร็ว เจอเร็ว ก็รักษาหายได้เร็ว และเชื้อเอชไอวีไม่ได้ติดกันได้ง่ายผ่านทางการสัมผัส หรืออยู่ร่วมกัน  ส่วนสังคมต้องเปิดโอกาสให้ผู้ติดเชื้อได้ทำงาน ไม่มีการปิดกั้น ด้วยเหตุผลแค่คนนั้นติดเชื้อเอชไอวี

“อุปสรรคหลักในการรณรงค์ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ หรือให้กลุ่มเสี่ยงกล้าที่จะเดินมาตรวจเลือดนั้น คือ การติดอยู่ที่ภาพเก่าๆว่า เป็นเอดส์แล้วตาย น่ารังเกียจ ซึ่งเป็นเรื่องของความคิดของคนเป็นสิ่งที่แก้ไขได้อยากที่สุด จึงเป็นที่มาของธีมของการจัดงานคือไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา”

สำหรับแรงจูงใจที่ทำให้ ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ยังคงทุ่มเทการทำงานให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ คือ อยากให้กลุ่มเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อกล้าที่จะมาตรวจเลือดเป็นประจำ โดยยึดคำว่า ตรวจเร็ว รักษาเร็ว และสิ่งที่ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเอดส์จะดำเนินการต่ออีกภายใน 1-2 ปีข้างหน้าคือ การตรวจหาผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถทำได้ในชุมชน ซึ่งเป็นการทำงานเชิงรุกที่จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้ในอนาคต