ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมสัมมนา “ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการสาธารณสุขจังหวัด ปีงบประมาณ 2558” เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ บทบาท แนวทางและกลไกที่ใช้สนับสนุนการดำเนินงานต่อผู้บริหาร ผู้ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานระดับเขต และฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึงประชาชนทราบถึงกลไกการดำเนินงานที่จะช่วยคุ้มครองดูแลสุขภาพและสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสม

26 พ.ย.57 นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา “ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานฝ่ายเลขานุการคณอนุกรรมการสาธารณสุขจังหวัด ปีงบประมาณ 2558” ณ โรงแรมอะเดรียติก พาเลซ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ว่า จากสถานการณ์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสภาวะความเป็นอยู่ของประชาชนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการขยะมูลฝอย การลักลอบทิ้งขยะติดเชื้อหรือสิ่งปฏิกูลในที่ต่างๆ ปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญจากการประกอบกิจการและการเลี้ยงสัตว์ โดยในปี 2558 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนที่จะสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ แต่หากพิจารณาอีกมุมหนึ่งการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะก่อให้เกิดด้านลบได้เช่นกัน อาทิ การเคลื่อนย้ายของแรงงานไร้ฝีมือเกิดชุมชนแออัดในพื้นที่ต่างๆ ปัญหาการจัดการขยะทั่วไปและขยะอันตรายที่มาพร้อมกับสินค้านำเข้า ปัญหาโรคอุบัติใหม่/อุบัติซ้ำ ฯลฯ หากไม่มีการวางแผนและดำเนินแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่สลับซับซ้อนอยู่แล้ว อาจลุกลามใหญ่โตจนไม่อาจแก้ไขได้  รัฐบาลจึงได้กำหนดให้การจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันดำเนินงานให้บรรลุผลโดยเร็ว

นพ.อำนวย กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาการจัดการปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมถูกกำหนดไว้ภายใต้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ได้กระจายอำนาจให้หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการโดยต้องออกเป็นข้อบัญญัติของท้องถิ่นและนำไปบังคับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ  แต่เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยมีเป็นจำนวนมาก แต่ละแห่งมีความแตกต่างกันทั้งขนาด ประชากร สภาพพื้นที่ สภาพเศรษฐกิจ รายได้ ลักษณะความเป็นเมือง สังคมวัฒนธรรม ฯลฯ แต่มีภาระหน้าที่ที่จะต้องคุ้มครองดูแลประชาชนในพื้นที่ด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม อีกทั้งสภาพปัญหาความแตกต่างระหว่างชุมชนในชนบทกับชุมชนเมืองที่จะต้องได้รับการจัดการดูแลแก้ไขย่อมแตกต่างกันด้วย

“ในปีงบประมาณ 2558 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพโดยให้หน่วยงานต่างๆ นำมาตรการด้านกฎหมายมาใช้ขับเคลื่อนการดำเนินงานคุ้มครองสุขภาพ และสภาวะความเป็นอยู่ของประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสาธารณสุขจังหวัด ในทุกจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ที่รับผิดชอบและกำกับดูแลการดำเนินงานด้านกฎหมาย การดูแลสุขภาพ การจัดการสิ่งแวดล้อม การประกอบกิจการต่างๆ มีผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความสามารถด้านการสาธารณสุขและอนามัยสิ่งแวดล้อมเป็นอนุกรรมการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้รับผิดชอบงานอนามัยสิ่งแวดล้อม และผู้รับผิดชอบงานด้านกฎหมายในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นฝ่ายเลขานุการ จำนวน 20 คน ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา กำหนดทิศทาง นโยบาย ดำเนินงานเพื่อส่งเสริม สนับสนุน กำกับติดตามและประเมินการปฏิบัติการของราชการส่วนท้องถิ่น รวมถึงเป็นช่องทางหนึ่งที่ใช้เชื่อมโยงการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานในส่วนกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการอื่นๆ ในจังหวัดให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและบรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้กำหนดให้การดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการสาธารณสุขจังหวัดเป็นตัวชี้วัดที่จะใช้ในการตรวจประเมินการปฏิบัติราชการของหน่วยงานในสังกัด อีกด้วย” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสาธารณสุขจังหวัด นอกจากจะทำหน้าที่กำกับติดตามการดำเนินงานตามกฎหมายของหน่วยงานต่างๆ แล้ว ประชาชนยังสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการได้ โดยสามารถแจ้งปัญหา เหตุขัดข้องและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากขั้นตอน หรือกระบวนงานในการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย อีกทั้งเสนอแนะให้มีการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องต่างๆ ผ่านทางฝ่ายเลขานุการเพื่อส่งเรื่องต่อมายังคณะกรรมการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่อยู่ในส่วนกลาง สรุปนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณากำหนดเป็นมาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสม ซึ่งการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำแนวทางการดำเนินงาน และมีความเข้าใจเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ บทบาท แนวทางและกลไกที่ใช้สนับสนุนการดำเนินงานต่อผู้บริหาร ผู้ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานระดับเขต และฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและถ่ายทอดประสบการณ์การปฏิบัติงานให้แก่ผู้ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อการทำหน้าที่ได้มากยิ่งขึ้น