ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

24 พ.ย.57 ช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา นพ.รัชตะ ในฐานะเจ้ากระทรวงสธ. ลงนามแต่งตั้งคกก.พัฒนาระบบบริการปฐมภูมิแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งมี นพ.สมศักดิ์ รมช.สธ. เป็นประธาน และ นพ.ณรงค์ ปลัดสธ. เป็นรองประธาน เพื่อผลักดัน หมอประจำครอบครัว ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นนโยบายเด่นของสธ.ยุคนี้ และจะผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยจะเริ่มคิกออฟด้วยเวิร์กช็อปกระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือ สธ. พม. และมท. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คล้ายกับตอนเริ่ม 30 บาทรักษาทุกโรค ในปี 45 ที่มี ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธาน ก่อนจะส่งไม้ต่อให้สธ.ตั้ง war room กำกับงาน ที่มี รมช.สมศักดิ์ เป็นประธาน และปลัดณรงค์ เป็นรองประธาน ขับเคลื่อนหมอประจำครอบครัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ในสธ. ก่อนหน้านี้ก็เคยขับเคลื่อน นักสุขภาพครอบครัวมาแล้ว แต่ยังไม่เห็นผลจริงจัง และนี่จึงทำให้เกิดคำถามว่า หมอประจำครอบครัวนั้น ตอบโจทย์ปัญหาระบบสุขภาพไทยตอนนี้ได้จริงหรือไม่

“ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และทีมหมอครอบครัว ขึ้น โดยมี “นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. เป็นประธาน มี “นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์” ปลัด สธ.เป็นรองประธาน และมีที่ปรึกษา และกรรมการหลายท่านที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนการบริการระดับปฐมภูมิมาโดยตลอด โดยคาดหมายกันว่าจะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระระดับชาติ เริ่มจากการทำเวิร์กช็อปกระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือ สธ. พม. และมท. ให้พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คล้ายกับตอนจุดเริ่ม 30 บาท ในปี 45 ที่มี ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธาน ก่อนจะส่งไม้ต่อให้สธ.ตั้ง war room กำกับงานอย่างเป็นระบบ

ที่สำคัญคือ “นพ.อมร นนทสุต” ผู้พัฒนาระบบสาธารณสุข จนเกิดอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) “นพ.อุทัย สุดสุข”  อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และ “นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา” สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านสังคม และประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 เป็นที่ปรึกษา และมีกรรมการอื่นๆ อาทิ นพ.ไพจิตร ปวะบุตร นพ.บุญชอบ พงษ์พาณิชย์  รวมไปถึงเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) รวมไปถึงกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) 

โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีอำนาจร่วมกำหนดนโยบายและรูปแบบการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และทีมหมอครอบครัว รวมทั้งการบริหารระบบสุขภาพระดับอำเภอ เพื่อให้เกิดระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และมีความเป็นธรรม ในการเข้าถึงบริการ  ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการชุดนี้มีการประชุมหารือมาแล้วประมาณ 2 ครั้ง และได้ร่างแนวทางเพื่อขับเคลื่อนงานบริการระบบสุขภาพปฐมภูมิขึ้น เรียกว่า “หมอครอบครัวทั่วไทย คนไทยเข้มแข็ง แข็งแรง”  

โดยร่างแนวทางการดำเนินการสร้างหมอครอบครัว สิ่งสำคัญต้องสร้างระบบสุขภาพแนวใหม่ขึ้นทั้งประเทศ โดยการสร้างทีมหมอครอบครัวเพื่อเป็นทีมหลักในการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ระดับตำบล เพื่อให้บริการรักษาพยาบาลและดูแลปัญหาสุขภาพง่ายขึ้น เน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ค้นหาและคัดกรองผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ คุ้มครองผู้บริโภค ให้การดูแลผู้ป่วยในระยะฉุกเฉิน และประสานการส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย   

ในการสร้างทีมหมอครอบครัว จุดแรกคือ ต้องพัฒนาศักยภาพของทีมที่จะมาเป็นหมอครอบครัวด้วย ซึ่งจริงๆ ทุกวันนี้จะมีอยู่ในระดับพื้นที่ ในระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล(รพ.สต.) และโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องเข้าไปพัฒนาให้ตรงจุด ซึ่งร่างเริ่มต้นจะมอบหมายให้ทาง รพช. เป็นผู้พัฒนาทีมงาน 

โดยทีมหมอครอบครัวนั้น จะเป็นทีมงานใหญ่ ประกอบด้วยวิชาชีพหลากหลาย ทั้งระดับรพช. และรพ.สต. ซึ่งหัวหน้าทีม จะเป็นบุคลากรวิชาชีพในรพช. โดยส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หรือแพทย์เฉพาะทางที่มีความสนใจและได้รับการเรียนรู้เพิ่มเติมด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ส่วนทีมงาน จะเป็นพยาบาลเวชปฏิบัติ พยาบาลวิชาชีพ หรือพยาบาลชุมชน ทันตแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด นักเทคนิคการแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก นักโภชนาการแพทย์แผนไทย และสหวิชาชีพอื่นๆ ซึ่งในการทำงานนั้น จะมีการแบ่งทีมย่อย โดยมีหัวหน้าทีมเป็นที่ปรึกษา เป้าหมายคือ  บุคลากรแต่ละคนจะดูแลประชากร 1,250 –2,500 คน ในตำบลนั้นๆ  ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในแต่พื้นที่ รวมทั้ง จำนวนบุคลากรที่มีและความซับซ้อนของปัญหาสุขภาพ

สำหรับการทำงานนั้น ทีมหมอครอบครัวจะมีการสื่อสารกับแต่ละครอบครัวที่ตนเองดูแล ผ่านการสื่อสารอย่างโทรศัพท์ การเยี่ยมบ้าน โดยเฉพาะในระดับตำบล จะมีข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยและครอบครัว อาจมีการจัดเก็บประมวลผลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปต่างๆ ที่สามารถระบุตำแหน่งบ้าน และรายละเอียดของปัญหาสุขภาพ มีเบอร์โทรศัพท์ในการติดต่อกันของแพทย์ที่ปรึกษา มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็นและทันสมัย เพื่อให้มีการติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด รวมทั้งแนะนำและหาทางป้องกันไม่ให้เกิดโรคเรื้อรัง ด้วย

เบื้องต้นคณะกรรมการดังกล่าว ตั้งเป้าการทำงานไว้ภายใน 1 ปี คือ ภายในปี 2558 จะต้องมีทีมหมอครอบครัวอำเภอละ 1,000 ทีม และในระดับตำบลเท่ากับ 10,000  ทีม

ซึ่งการขับเคลื่อนเรื่องนี้จะไม่ใช่แค่ระดับกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่เรื่องนี้มีหลายหน่วยงานทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ฯลฯ จึงจำเป็นต้องเดินหน้าเป็นนโยบายระดับชาติ ผ่านการทำเวิร์กช็อป ที่ทำเนียบรัฐบาล ในช่วยเดือนธันวาคม 2557 นี้ โดยมีแนวโน้มว่าจะมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  โดยผู้ผลักดันหลักคือ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นั่นเอง 

โดยหลักจากทำเวิร์ค ช็อป แล้ว จะเดินหน้าให้ทีมหมอครอบครัวลงพื้นที่ตรวจสุขภาพ เพื่อให้ทราบข้อมูลสุขภาวะของประชากรในระดับชุมชน  เพื่อให้ทราบสถานการณ์โรค และหาแนวทางป้องกันต่อไป ที่สำคัญ หากทำได้จริง ประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะทั้งมีช่องทางการสื่อสารกับผู้ให้บริการสุขภาพ ทั้งแพทย์ พยาบาลมากขึ้น มีชื่อทีมหมอครอบครัวที่เป็นเจ้าของในการดูแลครอบครัวอย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้ทราบว่าใครประจำครอบครัวไหนบ้าง ที่สำคัญการบริการสุขภาพที่จะมีอย่างทั่วถึงและครอบคลุม โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลพิเศษ รวมทั้งยังตัดระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ยุ่งยากลง  โดยจะมีผู้คอยช่วยประสานงานอำนวยความสะดวกให้ โดยไม่ต้องถือใบส่งตัวไปโรงพยาบาลเหมือนในอดีต

อย่างไรก็ตาม แนวคิดหมอประจำครอบครัวนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ในระบบสาธารณสุขของไทย แนวคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันเรื่องระบบสุขภาพปฐมภูมิที่ทั้งผลักทั้งดันมากว่า 10 ปี แล้ว แต่ยังไม่เห็นผล สธ.เองก็เคยเดินหน้ามาแล้ว กับนโยบาย นสค. หรือ นักสุขภาพครอบครัว ซึ่งปัจจุบันก็ยังเห็นผลสัมฤทธิ์อยู่บ้างในบางเขต แต่ยุคนี้ใช้คำว่าหมอประจำครอบครัว

ซึ่งอาจจะต้องเผชิญกับความท้าทายว่า จากสภาพปัญหาขาดแคลนหมอนั้น หมอประจำครอบครัวที่ว่า จะเป็นหมอจริงๆ หรือเป็นหมออนามัย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกันแน่ ถึงที่สุด ก็ยังต้องคำนึงว่าระบบสุขภาพไทยในปัจจุบันตอบโจทย์นโยบายหมอประจำครอบครัวได้หรือยัง เช่นเดียวกับประเด็นสำคัญว่า จากสภาพปัญหาระบบสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน หมอประจำครอบครัวเป็นความสำคัญอันดับแรกๆ ที่ต้องเดินหน้าจริงหรือ หรือว่าแท้จริงแล้ว ควรจะผลักดันนโยบายด้านอื่นให้สำเร็จก่อนที่จะเดินหน้านโยบายหมอประจำครอบครัวหรือไม่