ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมช.สธ.เผยองค์การอนามัยโลกประเมินมาตรการควบคุมการสูบบุหรี่ของไทย คืบหน้า อัตราการบริโภคยาสูบลดลงเหลือร้อยละ 20 แต่ยังพบมากในผู้ชาย และในเขตชนบท แนะให้ไทยเพิ่ม 3 เรื่อง เสริมความเข้มแข็งกลไกควบคุมในระดับจังหวัด เพิ่มราคาบุหรี่และเพิ่มภาษีสรรพสามิตบุหรี่มวนเอง และจัดงบประมาณเร่งรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ชนบทเกี่ยวกับการบริโภคยาสูบ โดยขณะนี้สธ.ได้แก้กฎหมายการคุ้มครองการบริโภคยาสูบที่ใช้มาแล้วเกือบ 25 ปี เสร็จแล้ว เนื้อหาครอบคลุมถึงความทันสมัยของสินค้า เช่น บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ จะเสนอร่าง เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 57 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหาร และศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านยาสูบ หารือกับ ดร.ลูมินตา ซานดา (Dr.Luminita Sanda) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันโรคไม่ติดต่อและคณะ จากสำนักงานใหญ่ กรุงเจนีวา จากภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย เพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านการควบคุมยาสูบของประเทศไทยตามกรอบพันธอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบของโลก ที่ออกโดยองค์การอนามัยโลก

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากที่องค์การอนามัยโลกได้ให้ข้อแนะนำในการดำเนินงานด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบเมื่อปี 2551และ 2553 พบว่าประเทศไทยมีความคืบหน้า ทำให้อัตราการบริโภคยาสูบของคนไทยลดลงเหลือร้อยละ 20 ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา พบคนไทยสูบบุหรี่ประมาณ 11 ล้านคน ผู้ชายยังสูบในอัตราสูงร้อยละ 40 ของผู้ที่สูบบุหรี่ทั้งหมด โดยอัตราการสูบบุหรี่ในเขตเมืองลดลง แต่ยังพบมากในชนบท

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ได้ประเมินมาตรการควบคุมบุหรี่ของไทยว่ามีความก้าวหน้า และได้เสนอให้ประเทศไทยเพิ่มการดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การเสริมความเข้มแข็งกลไกการควบคุมการบริโภคยาสูบระดับจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีการสร้างจังหวัดปลอดบุหรี่จำนวนทั้งสิ้น 32 จังหวัด โดยมีการจัดตั้งทีมบังคับใช้กฎหมายระดับจังหวัดและอำเภอ 2.การเพิ่มราคาบุหรี่และเพิ่มภาษีสรรพสามิตบุหรี่มวนเอง เนื่องจากประชากรไทยกว่าร้อยละ 50 บริโภคบุหรี่มวนเองหรือบุหรี่ยาเส้น  และ 3.จัดงบประมาณรณรงค์สร้างความเข้าใจให้ความรู้ประชาชนเรื่องพิษภัยบุหรี่  โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท

“ประการสำคัญ คือการแก้กฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบที่ใช้มาเกือบ 25 ปี ทั้ง 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบพ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบของโลก เช่น การอนุญาตผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบ การโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญในการช่วยลดผู้บริโภคยาสูบควบคู่กับการขึ้นภาษี จะครอบคลุมถึงสินค้าที่ทันสมัยขึ้น เช่น บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ การจำกัดอายุผู้ซื้อบุหรี่ จากเดิม 18 ปี เป็น 20 ปี เป็นต้น เพื่อป้องกันการเข้าถึงของเยาวชน โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้านี้”นพ.สมศักดิ์กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ไทยได้พัฒนาบุคลากรสาธารณสุขเพื่อช่วยเลิกบุหรี่ โดยปัจจุบันมีคลินิกฟ้าใสจำนวน 309 แห่ง โรงพยาบาลที่ให้บริการช่วยเลิกบุหรี่ 555 แห่ง พร้อมทั้งเปิดสายด่วน 1600 สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่สามารถโทรขอคำปรึกษาได้ฟรี นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาและจัดตั้งศูนย์อบรมผู้นำการส่งเสริมการบำบัดผู้เสพยาสูบ และสปสช. สนับสนุนยาฟรีผ่านโครงการ "การเลิกสูบบุหรี่" ซึ่งดำเนินการโดยร้านขายยาชุมชน ปัจจุบันมี 250 ร้านขายยาของชุมชนใน 20 จังหวัดและกรุงเทพฯที่เข้าร่วมโครงการด้วย