ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปช.บุกกระทรวงอุตสาหกรรม จี้ยกเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในประเทศไทย เผยองค์การอนามัยโลก ออกเอกสารแจงชัดอันตรายต้องเลิก ชี้โรคจากใยหินก่อภาระค่ารักษากว่า 1,200 ล้านต่อปี หวั่นเป็นภาระระบบการเงินการคลังสุขภาพของไทยโดยไม่จำเป็น

เว็บไซต์สยามรัฐ รายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 20 พ.ย. ที่กระทรวงอุตสาหกรรม รศ.พญ.พรพันธุ์  บุณยรัตพันธุ์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)  น.ส.สารี อ๋องสมหวัง  ประธานกรรมาธิการด้านคุ้มครองผู้บริโภค สปช. และ รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ รองประธานฯ  ทั้ง 2 ด้านของ สปช. พร้อมด้วย นางสมบุญ  ศรีคำดอกแค  ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประทศไทย และผู้ประสานงานเครือข่ายยกเลิกใยหินแห่งประเทศไทย  หรือ ทีแบน เข้าพบ นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องการดำเนินการให้เกิดผลทางปฏิบัติในการยกเลิกใยหิน ตามมติคณะรัฐมนตรี 2554 เรื่องสังคมไทยไร้แร่ใยหิน ให้มีการยกเลิกการใช้ใยหิน

รศ.พญ.พรพันธุ์ กล่าวว่า กรรมาธิการสาธารณสุขของวุฒิสภาได้เคยศึกษาเรื่องอันตรายของใยหิน ในสมัยตนเป็นสมาชิกวุฒิสภา  มีการสรุปผลระบุถึงอันตรายของใยหินไครโซไทล์  มีหลักฐานอย่างชัดเจน โดยเฉพาะองค์การอนามัยโลก ที่เสนอว่าทางเดียวที่จะป้องกันอันตรายได้คือ  การยกเลิกการใช้ใยหินโดยทันที

รศ.ดร.ภก.วิทยา  กล่าวว่า  ล่าสุดองค์การอนามัยโลกได้ออกเอกสารเกี่ยวกับใยหินไครโซไทล์ถึงอันตรายและผลกระทบต่อสุขภาพโดยสามารถดูได้ที่http://www.who.int/ipcs/assessment/public_health/asbestos/en/ เอกสารดังกล่าวแจกแจงปัญหาข้อข้องใจต่างๆ ทุกประเภท โดยระบุมีผู้เสียชีวิต 107,000 คน ต่อปี ทั่วโลก ทั้งนี้ อันตราย  นอกจากคนงานในเหมือง ผู้ใช้แรงงานก่อสร้างและรื้อถอนแล้ว  ประชาชาทั่วไปก็อาจจะได้รับอันตรายจากการรื้อถอนวัสดุใยหิน เศษขยะที่มีใยหิน และระหว่างภัยพิบัติที่ วัสดุก่อสร้างที่มีใยหินแตกกระจาย  ซึ่งล้วนสามารถทำให้เกิดอันตรายได้ทั้งสิ้น

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการด้านคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า  ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ดูแลประชาชนโดยรัฐ หากไม่มีการยกเลิกการใช้ใยหิน และเกิดอันตรายเจ็บป่วย ระบบหลักประกันสุขภาพ จะต้องรักษาคนไทยประมาณ 1,000 คนต่อปี  คนละประมาณ  1.2  ล้านบาท  คิดเป็นเงิน 1,200 ล้านบาท จะเป็นภาระของระบบด้านการเงินการคลังสุขภาพของประเทศอย่างมาก ดังนั้นจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนที่จะหยุดยั้งอันตรายที่จะเกิดกับประชาชนในอนาคต โดยตนจะได้นำเข้าหารือในกรรมาธิการด้านคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อปฏิรูประบบการตัดสินใจเกี่ยวกับสินค้าอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

เรื่องที่เกี่ยวข้อง