ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. สปสช. พร้อมเดินหน้าลงทุนด้านสุขภาพเพื่อผู้ป่วยและสังคมไทย เปิดเวทีระดับชาตินโยบายล้างไตทางช่องท้อง ชี้เป็นรูปธรรมของการปฏิรูประบบสุขภาพที่ชัดเจน ผู้ป่วยได้รับประโยชน์ ผู้ให้บริการไม่ต้องทำงานหนัก เพราะเป็นวิธีที่ผู้ป่วยล้างไตได้เองที่บ้าน แต่ต้องมีการดูแลติดตาม พร้อมอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อการดูแลผู้ป่วย ก่อนเชื่อมต่อสู่เวทีอาเซียน

นพ.ศิริวัฒน์  ทิพย์ธราดล  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมระดับชาติ “การบริการบำบัดทดแทนไตทางช่องท้อง : เพื่อผู้ป่วยและสังคมไทย” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 21 พฤศจิกายน 2557 ณ ศูนย์ประชุมอิมแพคฯ เมืองทองธานี  โดยกล่าวถึงนโยบายการให้สิทธิประโยชน์ล้างไตทางช่องท้องแก่ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่าเป็นหนึ่งในรูปธรรมของการปฏิรูประบบสุขภาพที่ชัดเจนมีการดำเนินงานและติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ จนมีความมั่นใจที่จะเดินหน้าต่อไป เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยได้รับประโยชน์ มีเครือข่ายบริการ และกลไกการบริหารจัดการที่มั่นคงสามารถพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้โดยไม่เป็นภาระงบประมาณของประเทศจนเกินพอดี

นพ.ศิริวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยจึงมีความโดดเด่นในเวทีสุขภาพระดับโลกในด้านการลงทุนด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในวันที่ 27-28 พฤศจิกายนนี้ ก็จะมีการจัดระดับเวทีอาเซียนเชื่อมต่อจากการประชุมระดับชาติของไทย เพื่อเรียนรู้และช่วยเหลือกันในการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาและรองรับการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายซึ่งเป็นโรคค่าใช้จ่ายสูงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังและการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา อธิบดีกรมการแพทย์ รายงานว่า ผลการดำเนินงาน นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2550 ถึงเดือนมิถุนายน 2557 มีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนสะสม 31,888 คน จำนวนผู้ป่วยมีชีวิตสะสม 17,281 คน จำนวนหน่วยบริการ CAPD เพิ่มขึ้นจาก 23 แห่งในปี 2550 เป็น  175 แห่ง มีศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีและฝึกอบรม 4 เครือข่าย จำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตที่ผ่านการอบรมการผ่าตัดวางสายล้างไตทางช่องท้อง เพิ่มขึ้น 266 คน  จำนวนพยาบาลวิชาชีพที่ผ่านการอบรมหลักสูตร 4 เดือน จำนวน 13 รุ่น รวม 466 คน และเริ่มมีการอบรมให้กับพยาบาลที่ปฏิบัติงานใน รพ.สต. ที่เป็นลูกข่ายรับส่งต่อดูแลผู้ป่วยในชุมชนร่วมกับ รพ.แม่ข่าย และยังมีชมรมเพื่อนโรคไต จิตอาสาและมิตรภาพบำบัดเพื่อผู้ป่วยโรคไตในจังหวัดต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก

คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการทดแทนไตในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเล็งเห็นว่า ผลจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดเครือข่าย องค์ความรู้ และประสบการณ์ที่มีค่าเกิดขึ้นในมิติต่าง ๆ มากมาย จึงได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรภาคีหลัก จัดการประชุมครั้งนี้เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทบทวนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาการบริการ การบริหารจัดการ และสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรและผู้เกี่ยวข้อง

นายธนพล ดอกแก้ว ผู้ป่วยโรคไตประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องมีคุณภาพชีวิตดีไม่ต้องไปโรงพยาบาลบ่อย สามารถทำเองที่บ้าน ทำงานและอยู่ในสังคมได้ อัตราการเสียชีวิตเทียบกับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมก็แทบไม่ต่างกัน แท้จริง เนื่องจากชมรมมีสมาชิกกว่า 1000 คน จากทั้ง 3 กองทุน คือ สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และบัตรทอง ทางชมรมพยายามผลักดันให้ผู้ป่วยโรคไตได้รับสิทธิประโยชน์ในอย่างเท่าเทียม และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมมีทั้งหมด  550 คน ประกอบด้วย แพทย์ 93 คน พยาบาลโรคไต 310 คน และเจ้าหน้าที่หน่วยพยาบาล โรงพยาบาลชุมชน นักกำหนดอาหาร นักโภชนากร นักจิตวิทยา ผู้แทนชมรมเพื่อนโรคไตทุกจังหวัด ผู้บริหาร นักวิชาการ และตัวแทนองค์กรที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังมีผลงานนวัตกรรมส่งเข้ามารับการคัดเลือก 66 ผลงาน จากโรงพยาบาลต่างๆ  41 แห่ง ใน 30 จังหวัด การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทบทวนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาการบริการ การบริหารจัดการ และสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรและผู้เกี่ยวข้อง