ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : เชื้อดื้อยาเป็นปัญหาท้าทายความมั่นคงด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ในศตวรรษที่ 21 ยาปฏิชีวนะ ที่เคยเป็นยาวิเศษในศตวรรษที่ 20 กำลังอ่อนฤทธิ์ลงเรื่อย ๆ เนื่องจากมีการใช้ในมนุษย์และสัตว์มากมาย จนแบคทีเรียหลายชนิดเริ่มดื้อยา ทำให้ในการล้มป่วยแต่ละครั้ง ต้องใช้เวลาในการรักษานานขึ้นกว่าจะหาย

องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ออกคำเตือนการใช้ยาปฏิชีวนะของแพทย์ที่ผิดวัตถุประสงค์ และระบุว่า ยาปฏิชีวนะรุ่นสุดท้ายที่ผลิตออกมากำลังใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์แต่ละประเทศที่เข้าร่วมประชุมสุดยอด จี8 เมื่อปีที่แล้ว ยอมรับว่า การดื้อยาของเชื้อโรค กลายเป็นปัญหาที่ท้าทายความมั่นคงด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ในศตวรรษที่ 21

การที่อุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์นำยาปฏิชีวนะมาใช้มากเกินความจำเป็น ทำให้หลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล บริษัทเอกชน และผู้บริโภคเกิดความกังวล ว่า การใช้ที่ไม่บันยะบันยังเช่นนี้ จะทำให้เชื้อโรคมีภูมิต้านทานต่อยา ส่งผลให้การรักษาพยาบาลกินระยะเวลานานขึ้น ซึ่งเป็นผลเสียต่อมนุษย์ เนื่องจากมีสารตกค้างในร่างกายมากขึ้นเช่นกัน

เรื่องนี้ทำให้เกิดการถกเถียงอย่างหนักในสหรัฐ ว่าควรลดใช้ยาปฏิชีวนะและฮอร์โมนเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ลงหรือไม่ ส่วนยุโรปมีความเห็นต่างระหว่างการให้ใช้ยาเหล่านี้ในสัตว์ หรือควรสงวนไว้เฉพาะด้านการแพทย์เท่านั้น

แต่หากจะลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะ จากเหตุผลด้านสุขภาพผู้บริโภค แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับสัตว์ ที่มีโอกาสป่วยและเป็นแหล่งแพร่ระบาดของเชื้อโรคมากขึ้น รวมถึงผลผลิตอาหารที่อาจลดลง จากเหตุผลของสุขภาพสัตว์เช่นกัน

แม้จะมีปริมาณข้อมูลของทางการจะมีน้อย แต่คาดได้ว่า การใช้ยาปฏิชีวนะที่สูงที่สุดในสหรัฐและอังกฤษน่าจะเป็นฟาร์มหมูและสัตว์ปีก ขณะที่อุตสาหกรรมผลิตเนื้อวัวในสหรัฐก็ใช้ยาปฏิชีวนะในปริมาณสูงเช่นกัน

แต่ปัญหาอยู่ที่องค์การอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ)ยังไม่เปิดเผยข้อมูลสรุปยอดขายยาปฏิชีวนะประจำปีต่อสาธารณะเท่าที่ควร และยังไม่มีการแยกหมวดหมู่การใช้ยาในสัตว์แต่ละประเภท ส่วนอังกฤษ แม้จะมีกฎหมายบังคับให้เกษตรกรจะใช้ยาได้ ต้องมีใบสั่งยาจากสัตวแพทย์ ทั้งยังบังคับให้สัตวแพทย์ต้องทำบันทึกการจ่ายยาอีกด้วย แต่ก็ยังไม่มีการจัดรวบรวมข้อมูลเหล่านี้อยู่ดี ไม่เหมือนกับระบบเวทสแตท ของเดนมาร์กที่มีกระบวนการจัดการข้อมูลการจ่ายยาอย่างชัดเจน รวมถึงทำหมวดหมู่ และเข้าถึงง่าย

บรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อเป็นอาหารเสริมสำหรับสัตว์ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขโดยเร่งด่วน เริ่มจากการจัดทำข้อมูลแสดงปริมาณการใช้ยาของสัตว์ทุกประเภทในแต่ละชาติ และการสาธิตการลดประมาณใช้ยาต่อครั้ง

สิ่งเหล่านี้เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก ที่แนะนำให้ผู้ผลิตรายใหญ่และเกษตรกรท้องถิ่น ลดการใช้งาน และเข้าใจถึงผลกระทบของการใช้ยาต่อสัตว์สำเร็จมาแล้ว ช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนในการผลักดันนโยบายขึ้นไปยังภาครัฐ เพื่อจัดทำเป็นแผนในการดูแลอุตสาหกรรมนี้ให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากขึ้น

ทั้งนี้ผู้บริโภคจำนวนมากยังคงกังวลต่อการดื้อยาของเชื้อโรค และต้องการให้บริษัทผลิตอาหารเปิดเผยหรือแสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้ออกมา

ก่อนหน้านี้ แมคโดนัลด์ ได้เปลี่ยนนโยบายการผลิตของซัพพลายเชนทั่วโลกเมื่อปี 2546 เพื่อปรับปรุงการผลิตอาหารให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการจำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะ ส่วนไทสัน ฟู้ดส์ ประกาศเมื่อปี 2550 ว่า ไก่ของบริษัทเลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ในภายหลัง กลับพบว่า บริษัทใช้ยาที่ชื่อว่า ไอโอโนฟอร์ หรือยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่งที่ใช้อย่างแพร่หลายเพื่อป้องกันที่เกิดจากปรสิตกลุ่ม คอกซิดิโอซิส ในสัตว์ปีก เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์เหล่านั้น

ไม่เพียงเท่านี้ บริษัทผู้ผลิตเนื้อไก่ ชิค-ฟิล เอ เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ประกาศว่า จะยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ปีภายใน 5 ปี แต่ได้เดินรอยตามไทสัน เนื่องจากประกาศดังกล่าว ไม่ได้ระบุว่าจะยกเลิกสารไอโอโนฟอร์

ขณะที่ไนแมน แรนช์ และ แอปเปิ้ลเกตส์ บริษัทผลิตอาหารในสหรัฐ ที่แถลงว่าไม่เคยใช้ฮอร์โมนหรือยาปฏิชีวนะเลยสักครั้ง และระบุจุดยืนในการต่อต้านสารเคมีดังกล่าว เพื่อวางตัวให้เป็นทางเลือกในการซื้อเนื้อสัตว์ธรรมชาติ ก็ไม่ได้ห้ามให้เกษตรกรที่มีสัญญากับบริษัท ใช้ยาปฏิชีวนะกับสัตว์ที่ป่วยแต่อย่างใด

วิกฤติเชื้อโรคดื้อยาทำให้ผู้บริโภคหวาดกลัว อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บริษัทหลายแห่งประกาศที่จะให้ความสำคัญในการยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในการทำฟาร์มปศุสัตว์ มากกว่าแค่การลดปริมาณการใช้

ในการประชุมผู้ผลิตเนื้อสัตว์ ที่เมืองออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา มีสัตวแพทย์ นักวิทยาศาสตร์อาหาร เกษตรกร และตัวแทนจากบริษัทอาหารและสุขภาพสัตว์ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และได้ลงนามในยุทธศาสตร์ใหม่ ที่ช่วยขับเคลื่อนการใช้ยาปฏิชีวนะแต่พอดีในกระบวนการการผลิตเนื้อสัตว์ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค

ยุทธศาสตร์ใหม่นี้มีแผนการปฏิบัติงานดังนี้ ประการแรกคือการแทนที่การใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะต้องให้ความรู้ความเข้าใจและวางแผนปฏิบัติเพื่อป้องกันโรค

ประการต่อมาคือการลดการใช้ยาประเภทนี้ เมื่อสัตว์ป่วยจะต้องให้สัตวแพทย์วินิจฉัย รวมถึงการกำหนดปริมาณยาที่จะใช้เพื่อรักษาโรค ปิดท้ายด้วยการปรับปรุงการใช้ยาปฏิชีวนะให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และการสำรองยาเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในกรณีที่สัตว์ป่วยกะทันหัน

การปรับปรุงดังกล่าวครอบคลุมถึงการให้คำแนะนำการใช้ ระยะเวลา และการควบคุมการใช้ยา รวมถึงการใช้ยาที่ถูกประเภท เพื่อลดความกังวลเกี่ยวกับการดื้อยาของเชื้อโรค

หากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่เกษตรแบบยั่งยืนในอีกไปกี่ปีข้างหน้า ความกังวลของผู้บริโภคจำนวนมากเกี่ยวกับการดื้อยา อาจทำให้รัฐบาลหลายประเทศออกกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ดี ถ้าการควบคุมดังกล่าวเกิดขึ้นจริงอย่างฉับพลัน โดยไม่ได้เตรียมการแนะนำวิธีการเลี้ยงสัตว์ที่ถูกต้องให้กับเกษตรกร อาจเกิดโรคระบาดในสัตว์แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว รวมถึงผลผลิตอาหารที่จะมีจำนวนน้อยลง ซึ่งเป็นผลร้ายต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์อย่างรุนแรง และอาจขยายวงกว้างไปยังวงการอื่นอีกด้วยดังนั้นเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม และสัตวแพทย์ควรใช้โอกาสนี้ ลดการใช้ยาปฏิชีวนะให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557