ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ไทยรัฐ : ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “โครงการป้องกันตาบอดจากต้อกระจก” ของ สปสช. นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช. มองว่า ตามข้อมูลที่ปรากฏ ปัญหาตาต้อกระจกเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย และ...ปัญหาที่เป็นมากที่สุดก็คือ ต้อกระจกที่สุกเต็มที่จนกระทั่งตาบอดมองไม่เห็น

นายแพทย์ประทีป ย้ำว่า หลักการที่จะให้บริการผู้ป่วยต้อกระจก ไม่ใช่รอจนให้คนไข้มองไม่เห็นแล้วถึงจะให้บริการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำว่า ควรจะให้บริการตั้งแต่ระยะที่มีปัญหาการสูญเสียการมองเห็นอยู่ในระดับรุนแรงปานกลางขึ้นไปจนถึงตาบอด

การสำรวจครั้งล่าสุดปี 2550 ที่เป็นการสำรวจประชากรแบบทั่วถึงครบทุกกลุ่มอายุทั่วประเทศอย่างแท้จริง พบว่า มีผู้ป่วยต้อกระจกทุกระยะประมาณ 5 ล้านราย ในจำนวนนี้ใช้สิทธิบริการสุขภาพกับ สปสช. กว่า 4 ล้านราย...เป็นผู้ป่วยที่ต้องการการผ่าตัดต้อกระจกอยู่ในระดับอาการรุนแรงปานกลางขึ้นไป 2 ล้านกว่าราย

“ส่วนหนึ่งได้รับการผ่าตัดเรียบร้อย แต่อีกส่วนหนึ่งก็ยังไม่ได้รับการผ่าตัด เพราะระบบบริการผ่าตัดต้อกระจกโดยหมอตากระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ กับเมืองใหญ่ ไม่ได้อยู่ในชนบททั่วไป”

ประเด็นสำคัญ การบริการผ่าตัดตาต้อกระจกยังเป็นแบบตั้งรับ คิวก็ยาว...ปัญหาจึงตกอยู่กับผู้ป่วยต้อกระจกที่อยู่ในระยะสุกเต็มที่จนกระทั่งตาบอดที่มีตัวเลขในมือราวๆแสนกว่าราย...บวกกับผู้ป่วยที่กำลังรออยู่หลายแสนราย...บวกกับรายใหม่ที่เกิดขึ้นในแต่ละปีเข้าไปอีก

เฉพาะผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นรุนแรงระดับขั้นตาบอดปีละ 60,000–65,000 ราย...คนคนหนึ่งมีตาสองข้าง โดยทั่วไปการรักษาก็ต้องคูณสองเท่า เพราะคนหนึ่งคนมักจะเป็นทั้งสองข้าง

“ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องรีบได้รับการผ่าตัดรักษา” นายแพทย์ประทีป ว่า “อีกส่วนหนึ่งก็คือผู้ที่มีสายตาเลือนรางระดับปานกลางขึ้นไป ก็เป็นอีกกลุ่มที่ต้องได้รับการผ่า ไม่อย่างนั้นปล่อยทิ้งไว้ก็จะกลายเป็นคนตาบอด...สองกลุ่มนี้คือกลุ่มผู้ป่วยตาต้อกระจกเป้าหมายที่ สปสช.ต้องดำเนินการ”

ปัญหาก่อนปี 2550 ระบบบริการที่มีอยู่ทำให้ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพ สปสช.ได้ปีละไม่เกิน 50,000 ตา...แต่ผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้น คอยอยู่ และค้างอยู่ สมัยก่อนกระทรวงสาธารณสุขก็เคยมีโครงการเชิงรุกเป็นครั้งๆ สปสช.ก็เลยผุดโครงการเชิงรุกบวกกับการตั้งรับผู้ป่วยปกติ เพื่อเพิ่มการผ่าตัดให้มากขึ้น...

เป็นที่มาของมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดทำโครงการป้องกันตาบอดจากต้อกระจกขึ้นในปี 2550 มีเป้าหมายจะเพิ่ม การบริการผ่าตัดต้อกระจกชนิดสายตาเลือนรางรุนแรงปานกลาง และชนิดตาบอด...อย่างน้อยๆ เฉลี่ยปีละ 120,000 ตา เพื่อแก้ปัญหาผู้ป่วยตกค้างสะสม

ปีนี้ 2557 ผ่านมา 7 ปีแล้ว สปสช.ผ่าตัดไปได้เกือบ 1 ล้านตา ทั้งผู้ป่วยรายเก่า รายใหม่...คิดค่าเฉลี่ยอัตราการผ่าตัด (CSR) ตัวเลขความเพียงพอในมาตรฐานการบริการอยู่ที่ 3,000 ตาต่อล้านประชากรต่อปี

ตามมาตรฐานวิชาการด้านตาองค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ ต้องบริการเฉลี่ยอยู่ที่ 3,500 ตาต่อล้านประชากรต่อปี กระนั้นก็ยังดีกว่าช่วงก่อนที่จะเกิดโครงการเชิงรุก อยู่ที่ 1,000 ตาต่อล้านประชากรต่อปีเท่านั้น

ตัวเลขสะท้อนชัดเจน สปสช.ดำเนินการใกล้เคียงมาตรฐาน อยู่ในระดับต่ำกว่านิดหน่อย การที่มีการโจมตีว่า สปสช.ผ่าตัดผู้ป่วยตาต้อกระจกมากเกินไป...เกินความจำเป็นคงไม่ใช่

“ตัวเลขสะท้อนความจริง ที่ทำมากสัดส่วนน่าจะเป็นกลุ่มข้าราชการที่มีตัวเลขผ่าตัดสองเท่าจากมาตรฐาน 7,000 ตาต่อล้านประชากรต่อปี ประชาชนคนยากจนทำน้อยกว่า...น้อยกว่าตัวเลขมาตรฐาน ต่ำกว่าข้าราชการถึงสองเท่ากว่าๆ”

พิจารณาอัตราการผ่าตัด แยกเป็นรายจังหวัดที่ สปสช.เริ่มทำในปี 2556 ทำให้เห็นภาพรวมว่าพื้นที่ใดควรต้องมีการขยายการบริการผ่าตัดต้อกระจก พบว่า พื้นที่ที่เป็นปัญหายังคงเป็นบางจังหวัดในภาคอีสานและภาคใต้ สปสช.จึงมีมาตรการการกำหนดโควตา...จัดสรรเป้าหมายการผ่าตัดเพิ่มขึ้นในพื้นที่ขาดแคลน

ซึ่งต้องยอมรับว่า...อาจยังมีปัญหาที่ต้องสร้างความเข้าใจกับจักษุแพทย์ในพื้นที่

ประเด็นสุดท้ายที่ต้องพูดถึงตัวเลขราคาค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด เดิม สปสช.จ่ายแบบรายโรคปกติ เหมาจ่ายเป็นรายโรคภายใต้เงินที่มีอยู่ โรงพยาบาลก็ไม่รู้ว่าจะรักษาคนไข้ได้จำนวนเท่าไหร่ แล้วก็มากำหนดใหม่เพื่อให้จูงใจ ค่าผ่าตัดอยู่ที่ 7,000 บาท ในกรณีทั่วไปต่อตา 1 ข้าง

กรณีที่มีปัญหาซับซ้อน...ผ่าตัดยาก จะอยู่ที่ข้างละ 9,000 บาท และบวกกับค่าเลนส์ตาชนิดนิ่มแบบพับได้อีกครั้งละไม่เกิน 2,800 บาท

นายแพทย์ประทีป บอกอีกว่า ค่าเลนส์ เดิมให้ 4,000 บาท ส่วนใหญ่ก็ใช้เลนส์แข็ง แต่เลนส์มีสองแบบ แข็งกับนิ่ม...ผ่านมาถึงวันนี้ สปสช.พัฒนาการบริหารจัดการ จ่ายน้อยกว่าแค่ 2,800 บาท แต่ทำให้ผู้ป่วยได้ใช้เลนส์นิ่มคุณภาพดีได้ทุกราย

 “เงินที่ประหยัดได้ ก็หมุนกลับมาชดเชยค่าผ่าตัดให้โรงพยาบาลรัฐ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก่อนหน้าที่จะมาเข้าร่วมโครงการผ่าตัดตาต้อกระจกกับ สปสช. เราจ่ายครั้งละหนึ่งหมื่นบาท บวกกับเลนส์อีกสี่พันบาท มาถึงวันนี้เราจ่ายเพียงเจ็ดพันบาท...รวมค่าภาระงานหนึ่งพันสองร้อยบาทเข้าไปด้วยแล้ว”

ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขไม่ยอมให้ สปสช. จ่ายค่าภาระงานแยกต่างหาก ก็เลยจ่ายไม่ค่อยออก...หมายความว่า ให้โรงพยาบาลจ่ายไปแล้วจ่ายไม่ออก ปัญหาความรู้สึกของหมอตาก็จะเกิดขึ้นบวกกับการมีหน่วยผ่าตัดเชิงรุกที่เข้าถึงกลุ่มผู้ป่วยที่เข้าไปดำเนินการในโรงพยาบาลพื้นที่

ด้านหนึ่งเป็นการขยายการบริการการผ่าตัด แต่อีกด้านก็ทำให้หน่วยบริการในพื้นที่ลดการผ่าตัดลงไป ทำให้ถูกต่อว่ากลับมา...เป็นปัญหาแรงกดดันภายในระบบปกติที่จะเกิดขึ้น

ถึงตรงนี้...คงต้องย้ำเสียงดัง “การผ่าตัดต้อกระจก”...ชนิดสายตาเลือนรางรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมากให้กับผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและป้องกันที่จะกลายเป็นคนตาบอด...เป็นเรื่องสำคัญ

รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนการผ่าตัดต้อกระจกชนิดบอดแล้ว เพื่อรักษาความพิการผู้สูงอายุ โดยใช้งบประมาณต่อตาข้างละหนึ่งหมื่นบาท รวมปีละ 1,200 ล้านบาท นับแสนคนต่อปี...ก็เป็นเรื่องสำคัญ

โดยสามัญสำนึก การดำเนินการในภาพรวมโครงการผ่าตัดต้อกระจก น่าจะมีความคุ้มทุนมากกว่าการบริการทางการแพทย์ที่จำเป็นอื่นๆ...ถ้าไม่จำเป็นหรือไม่กระทบต่อการดำรงชีวิตปกติ คงไม่มีใครจะยอมให้มีการผ่าตัดตาของตัวเองง่ายๆ การผ่าตัดตาไม่เหมือนการไปรับยาแก้ปวดพาราเซตามอล...

ที่สำคัญ...ผู้ป่วยต้อกระจกชนิดความรุนแรงปานกลางขึ้นไป หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะกลายเป็นชนิดรุนแรงมากขึ้น จนถึงชนิดตาบอดได้

โครงการป้องกันตาบอดจากต้อกระจก เป็นสิทธิประโยชน์ของคนไทย ไม่น่าจะมีใครปล่อยให้ผู้สูงอายุที่ยากจนส่วนใหญ่ในระบบต้องทนทุกข์ทรมานจากการมองเห็นที่เลือนราง...เข้าไม่ถึงการบริการผ่าตัดจนกลายเป็นคนตาบอด แล้วจึงจะเข้ารับบริการผ่าตัดได้ตามสิทธิที่รัฐกำหนด

เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย...ปฏิรูประบบบริการสุขภาพของคนไทย ลดเหลื่อมล้ำ เป้าหมายสำคัญอยู่ที่ประชาชน.

ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 30 ตุลาคม 2557

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จิ๊กซอว์สุขภาพ เติมเต็มปฏิรูป คำถามถึงสปสช. ความคุ้มค่าผ่าตาต้อกระจก