ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : 'หมอสุวัช' เปิดใจครั้งแรกหลังถูกเลิกจ้าง ชี้ไม่เป็นธรรม พร้อมทำหนังสือทักท้วงบอร์ด อภ. แนะอยากให้องค์การฯบริหารงานมีธรรมาภิบาลสอดคล้องนโยบาย คสช. เพื่อการพัฒนายิ่งขึ้น

นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา

หลังจากคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมมีมติเลิกจ้าง นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการ อภ. ออกจากตำแหน่ง มีผลอีก 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามเป้าประสงค์ และไม่สามารถจัดการความขัดแย้งของ อภ.ได้ โดย นพ.สุวัชปฏิเสธการให้สัมภาษณ์มาตลอด ขณะที่ 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ประกอบด้วย มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา กลุ่มคนรักหลักประกัน เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กลุ่มศึกษาปัญหายา ชมรมเภสัชชนบท มูลนิธิเภสัชชนบท และชมรมแพทย์ชนบท ทำหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบ นพ.สุวัช กล่าวหามีทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ได้แก่ การเช่าพื้นที่ รพ.มหาสารคามอินเตอร์ และการจ้างที่ปรึกษาโครงการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนงานล้างไตและฟอกเลือดเพื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง (CAPD) ส่อไปในมิชอบนั้น

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม นพ.สุวัช เปิดแถลงข่าวเป็นครั้งแรกต่อกรณีที่เกิดขึ้นว่า หลังจากคณะกรรมการ อภ.มีมติเลิกจ้าง มองว่าเป็นเหตุที่ไม่เป็นธรรมและจะได้ทำหนังสือทักท้วงมติดังกล่าว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะรู้สึกไม่เป็นธรรมตั้งแต่ทราบมติ แต่เมื่อมีมติบอร์ดก็ต้องเคารพการตัดสินใจของกรรมการแต่ละคน แต่กลับมีการร้องเรียนต่อเนื่องในเรื่องว่าทำความเสียหายให้กับรัฐ ในเรื่องการเช่าพื้นที่ รพ.มหาสารคามอินเตอร์ จ.มหาสารคาม และการจ้างที่ปรึกษาโครงการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนงานล้างไตและฟอกเลือดเพื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง (CAPD) ส่อไปในทางทุจริต โดยยื่นร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ถือว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริงและสร้างความเสื่อมเสีย ส่วนตัวยินดีชี้แจงทุกประเด็นและมีข้อมูลพร้อมในการชี้แจงต่อ ป.ป.ช.

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการฟ้องร้องในเรื่องดังกล่าวต่อศาลปกครองไม่ นพ.สุวัช กล่าวว่า โดยปกติตามวิสัย ไม่ชอบทำให้ใครไม่สบายใจ แต่จะขอพิจารณาก่อนว่า ในสิ่งที่ได้รับนั้นมีความเป็นธรรมต่อตนเองมากน้อยขนาดไหน

ส่วนกรณีมีข้อสงสัยเรื่องการเช่าพื้นที่ รพ.มหาสารคามอินเตอร์ เพื่อทำศูนย์สนับสนุนงานล้างไตและฟอกเลือดเพื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ส่อไปในทางทุจริตนั้น นพ.สุวัช ชี้แจงว่า ศูนย์ดังกล่าวไม่ใช่ศูนย์วิจัย และไม่ได้เป็นการทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่เป็นโครงการเพื่อพัฒนาระบบบริหารเวชภัณฑ์ของ อภ.ในภาพรวมทั้งประเทศ ที่สำคัญเป็นการแก้ปัญหาตามพันธกิจของ อภ. เนื่องจากที่ผ่านมาพบปัญหาว่า การจัดส่งน้ำยาล้างไตมีตัวเลขที่ไม่ตรงกัน โดยเฉพาะมีการสั่งเพิ่มฉุกเฉินในช่วงปลายปีงบประมาณอยู่เสมอ ทั้งที่ปกติจะมีน้ำยาล้างไตคงคลังไว้ประมาณ 7-8 แสนถุง ที่สำคัญ การสั่งซื้อน้ำยาล้างไตสามารถประมาณการล่วงหน้าได้ และปกติควรคำนวณปริมาณที่ต้องการใช้ทั้งปีได้เพื่อบริหารเวชภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"ผมไม่อยากออกมาพูดอะไรมาก แต่พร้อมที่จะให้ข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาพยายามชี้แจงมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มีกลุ่มต่างๆ ออกมาร้องว่า อภ.บริหารยาต้านไวรัสเอชไอวีขาดแคลน ทั้งที่มีปัญหาจากการที่บริษัทส่งเวชภัณฑ์จากต่างประเทศล่าช้า หรือประเด็นโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จ.สระบุรี ซึ่งมีปัญหาต่อเนื่องมาหลายยุคสมัยและอยู่ในกระบวนการแก้ปัญหาแล้ว หรือโรงงานยาที่รังสิตที่มีคนตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใด อภ.จึงยังไม่ฟ้องบริษัทที่ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งก็อธิบายไปแล้วว่า ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งฝ่ายกฎหมายยังทำงานไม่แล้วเสร็จ" นพ.สุวัชกล่าว

นพ.ดำรัส โรจนเสถียร ผอ.รพ.มหาสารคามอินเตอร์เนชั่นแนล อดีตที่ปรึกษา อภ. ให้สัมภาษณ์ว่า การเช่าที่ รพ.มหาสารคามเป็นผลมาจากการที่ตรวจพบข้อมูลยอดผู้เสียชีวิตจากโครงการล้างไตทางช่องท้องของระบบบัตรทองจำนวนมาก จนมีญาติผู้เสียหายรอฟ้องร้องกว่า 220 ราย เป็นผลมาจากการใส่สายล้างไตผ่านทางช่องท้องไม่เป็น จำเป็นต้องมีการเปิดอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ โดยให้เช่าที่ในราคาเพียง 500 บาทต่อ ตร.ม. จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้เก็บค่าเช่า ส่วนกรณีที่ 8 เครือข่ายกล่าวหาว่ามีเปิดช่องให้ซื้อท่อล้างไตทางช่องท้องจากบริษัทลูกของตนเอง ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น ต้องชี้แจงว่าที่ผ่านมาบริษัทของลูกชายมีการซื้อขายเครื่องมือดังกล่าวให้กับ อภ.มาตลอด ผ่านระบบการประมูลในราคาเพียง 1,400 บาทต่อชิ้น จากเดิมที่เคยซื้อในราคา 4,000 บาทต่อชิ้น ถามว่าไม่ดีตรงไหน เช่นเดียวกับการจัดซื้อเพื่อใช้ใน โครงการฯก็ผ่านระบบการประมูลเช่นเดียวกัน ไม่ใช่เพิ่งดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ตนมีข้อสงสัยเช่นเดียวกันว่า แต่ละปี อภ.จะใช้เพียงปีละ 4,000 ชิ้นเท่านั้น แต่กลับมีการสั่งซื้อถึง 8,000 ชิ้น ซึ่งการสั่งซื้อในอัตราสูงจะมีของแถมให้ โดยในส่วนของ อภ.แถมเป็นน้ำยาล้างไต แต่ของ สปสช.แถมเป็นอะไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (สร.อภ.) ได้ส่งเอกสารข่าวสหภาพฉบับที่ 15/2557 แจ้งถึงสมาชิก สร.อภ. ว่า เหตุผลในการเลิกจ้าง นพ.สุวัช กรณีบริหาร อภ.ไม่ได้ตามที่ได้รับมอบหมาย รวมถึงไม่สามารถบริหารความขัดแย้งภายในองค์กรได้นั้น ข้อเท็จจริงต่างๆ สมาชิกของ สร.อภ.คงทราบดีว่าเกิดจากอะไร การเป็นผู้บริหารสูงสุดแล้วไม่สามารถสั่งการผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้ หรือสั่งไปแล้วไม่ได้รับความร่วมมือหรือปฏิบัติตามนั้น ควรจะเป็นความผิดของใคร การขาดประสิทธิภาพและแก้ปัญหาไม่ได้นั้นควรจะมีบุคคลอื่นต้องร่วมรับผิดชอบด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ การบริหารที่ล้มเหลวนั้นเพราะ อภ.มีผู้บริหารในระดับรอง ผอ. ระดับฝ่าย ระดับกอง ที่ไม่มีประสิทธิภาพด้วยใช่หรือไม่ สร.อภ.ขอให้บอร์ดพิจารณาด้วย หากเป็นเช่นนั้นจริงก็ควรมีการเปลี่ยนแปลงโดยด่วน

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2557