ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.จับมือ สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย สนับสนุนข้อมูลบริการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เดินหน้างานวิจัยสภาพปัญหาด้านสุขภาพและการรักษาโรคระบบทางเดินอาหาร นำไปสู่การส่งเสริมและป้องกันโรค ลดอัตราการเจ็บป่วยในประเทศ 

29 ต.ค.57 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “การศึกษาเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารในประเทศไทย” ระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย โดยมี นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. นพ.พิศาล ไม้เรียง นายกสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย และ นพ.กำธร  เผ่าสวัสดิ์  ประธานฝ่ายวิจัย สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารฯ เป็นผู้ร่วมลงนามในครั้งนี้

นพ.วินัย กล่าวว่า สปสช. มีความยินดีอย่างยิ่งในโอกาสที่ได้มีการลงนามความร่วมมือการศึกษาเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทยครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปสู่การศึกษาสภาพปัญหาด้านสุขภาพและการดูแลรักษาเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารในประเทศไทย โดยการใช้ข้อมูลการเจ็บป่วยและการให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพ

ทั้งนี้จากการดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพที่ผ่านมา มีข้อมูลการให้บริการผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาระบบการจัดเก็บและตรวจสอบข้อมูล ทำให้ข้อมูลที่ได้มีความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ โดยในกลุ่มโรคระบบทางเดินอาหารมีจำนวนครั้งของการเข้ารับบริการผู้ป่วยนอก เพิ่มขึ้นจากปี 2554 จำนวน 16,126,164 ครั้ง เป็น17,479,419 ครั้ง ในปี 2556 เป็นผู้ป่วยในจำนวน 436,384 ครั้ง ในปี 2555 เพิ่มเป็น จำนวน 470,795 ครั้ง ในปี 2556  ซึ่งพบได้ทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ หลายโรคเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้  ตลอดจนโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจากจำนวน 36,174 รายในปี 2554 เป็น 40,831 รายในปี 2556 

“สปสช.ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการศึกษาวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาโดยใช้ข้อมูลจากสถานการณ์การเจ็บป่วยของคนไทย จะทำให้การแปลผลได้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบท วัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของคนไทย และมีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณสุข ในมิติต่าง ๆ ตั้งแต่การส่งเสริมป้องกันโรค ส่งผลให้ลดอัตราการเกิดโรค อัตราตาย และเพิ่มคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพ อีกทั้งการลงนามครั้งนี้ยังถือเป็นภาคีความร่วมมือที่สำคัญในการสร้างเสริมระบบหลักประกันสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ด้าน นพ.พิศาล กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารฯ ได้ให้ทุนเพื่อทำการวิจัยโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารที่เป็นปัญหาของประเทศไทย และในการทำวิจัยครั้งนั้นได้พบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้งในด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่นำไปสู่การป้องกันโรคและอัตราการป่วยได้ ด้วยเหตุนี้ทางสมาคมฯ จึงมีนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดการวิจัยใด้ด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แต่การวิจัยเหล่านั้นเพื่อให้เกิดความแม่นยำยิ่งขึ้นจำเป็นต้องใช้ข้อมูลการเข้ารับการรักษาพยาบาลในหน่วยบริการต่างๆ ทั่วประเทศที่ถูกต้อง ซึ่งทาง สปสช.เป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านการรักษาพยาบาลในระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีการรวบรวมข้อมูลบันทึกการเบิกจ่ายค่ารักษา ซึ่งเป็นฐานข้อมูลด้านสุขภาพขนาดใหญ่ จึงน่าที่จะนำมาใช้ในการสนับสนุนในการวิจัยให้ดีขึ้นได้  

“สปสช.มีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ที่เป็นข้อมูลบ่งชี้ถึงภาวะการป่วยของคนในประเทศได้ดี แต่ขาดบุคลากรในการสังเคราะห์ แต่สมาคมฯ มีนักวิชาการที่จะนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาสุขภาพของคนในประเทศ แต่ต้องการข้อมูลจาก สปสช. ดังนั้นจึงนำมาสู่การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ที่ไม่เพียงแค่ลดอัตราการป่วยของคนในประเทศ แต่รวมถึงการลดภาระด้านการรักษาพยาบาลลง ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ” นายกสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย กล่าว