ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมร่วม อย.-เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกร เห็นชอบ แก้ไขร่างพ.ร.บ.ยาใหม่ 3 ประเด็น ประเภทยา-การจ่ายยา-การผสมยา” ยึดตาม พ.ร.บ.ยา 2510 ส่วนประเด็นที่เห็นสอดคล้องแต่บทบัญญัติไม่ชัด ปรับแก้ถ้อยความแล้ว ขณะที่วิชาชีพอื่นไม่ต้องขออนุญาตผลิต ขาย นำเข้ายา และผู้ไม่เชี่ยวชาญคุมผลิต ขาย นำเข้ายา ไม่ได้ข้อสรุป รอหารือกับวิชาชีพอื่น 27-28 ต.ค. เครือข่ายเภสัชฯพอใจผลสรุป คาดเสร็จทันตามกำหนด 

หลังจากที่เครือข่ายวิชาชีพด้านเภสัชกรรมออกมาทักท้วง ร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ....ออกทดแทน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ว่าไม่เป็นไปตามหลักการคุ้มครองประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น จนขอขยายระยะเวลาตอบกลับเพื่อยืนยันร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวออกไปอีก 30 วันเพื่อเปิดให้มีการหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กับเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม นั้น

22 ต.ค.57 ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ว่า เบื้องต้นที่ประชุมเห็นชอบให้ยืนพื้นตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ทั้งเรื่องของบทบัญญัติ นิยามศัพท์ การจัดประเภทของยา ทั้งยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ และยาสามัญประจำบ้าน ส่วนเรื่องการสั่งจ่ายยานั้น ยังไม่มีข้อยุติ จะต้องการรับฟังความเห็นจากทุกวิชาชีพ และมีความคิดสอดคล้องกับ 8 ประเด็นที่ทางวิชาชีพเภสัชกรรมเสนอ ในส่วนของเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งต่อจากนี้ในวันที่ 24 ตุลาคม จะเป็นการหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการ และภาคประชาชน เพื่อรวบรวมความเห็นรอบด้าน ก่อนเสนอกลับมายังที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้งหนึ่ง

ด้าน ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า การหารือวันนี้มีอข้อสรุปเบื้องต้นมีการปรับแก้ 3 ประเด็นหลักคือ 1.เรื่องประเภทยาออกเป็น 3 ประเภทตามพ.ร.บ.ยา 2510 คือ ยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ และยาสามัญประจำบ้าน 2.เรื่องการจ่ายยาจะยึดหลักการแพทย์เป็นผู้สั่ง และเภสัชกรเป็นผู้จ่ายเพื่อให้เกิดการตรวจสอบซ้ำ และ 3.การผสมยาจะต้องให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรงเป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น ยกเว้นบางกรณีระหว่างทำหัตการ แพทย์สามารถผสมยาใช้ได้ แต่ไม่อนุญาตให้ผสมยา 2 ตัวที่ขึ้นทะเบียนตำรับแล้วเก็บไว้รอจ่ายให้กับผู้ป่วย เพราะถือว่ามีสถานภาพเป็นยาใหม่ ส่วนประเด็นอื่นๆที่มีการเรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขนั้นเป็นเพียงการปรับแก้บางถ้อยคำเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันเท่านั้น

ภก.กิตติ กล่าวว่า การหารือคิดว่ายอมรับได้ระดับหนึ่ง เพราะมีการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันมากขึ้น หลายอย่างเห็นร่วมกัน เป็นการพัฒนาให้ก้าวหน้า ไม่ใช่ถอยหลังเข้าคลอง ซึ่งต่อจากนี้หลังจากอย.หารือร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว ในวันที่  27-28 ตุลาคมจะเป็นการประชุมทุกภาคส่วนเพื่อรับฟังข้อสรุปสาระในร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว หากไม่มีมีอะไรโต้แย้งคาดว่าน่าจะเสร็จทันตามกำหนดที่ขอยืดเวลาตอบกลับไปยังกฤษฎีกาได้ คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา