ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลายประเทศเริ่มดำเนินมาตรการ คัดกรองที่สนามบิน หวั่นไวรัสอีโบลา สนามบินเจเอฟเคในนิวยอร์กประเดิมเพิ่มความเข้มงวดตรวจผู้โดยสารและลูกเรือจากแอฟริกาตะวันตก อังกฤษซ้อมจำลองเหตุการณ์จริงกรณีเกิดการระบาด ขณะพยาบาลสเปนที่ติดเชื้อ อาการดีขึ้นหลังรับยาซีแมพ ด้านรัสเซียพัฒนาวัคซีน 3 ชนิด คาดพร้อมใช้ 6 เดือนหน้า ด้านยอดผู้เสียชีวิตทะลุ 4,000 ราย ด้านสาธารณสุขประจำ รัฐเทกซัส เผยอาจมีผู้ติดเชื้ออีโบลา รายที่ 2 ในสหรัฐ ด้านผู้เชี่ยวชาญยืนยันอีโบลาไม่ติดต่อทางอากาศ

ขอบคุณภาพจาก www.nbcnews.com

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 13 ต.ค. 57 รายงานว่า นายแอนโธนี แบนเบอรี หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการฉุกเฉินรับมือไวรัสอีโบลาของสหประชาชาติ กล่าวหลังจากเดินทางไปไลบีเรีย กินี และเซียร์ราลีโอน ว่า ไวรัส ล้ำหน้าไปเร็วมากและสถานการณ์เลวร้ายลงทุกวัน ที่ผ่านมาสหประชาชาติได้ขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ 1,000 ล้านดอลลาร์สำหรับรับมือโรคนี้แต่การให้ความช่วยเหลือดำเนินไปอย่างล่าช้า

ด้านศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (ซีดีซี) กล่าวว่า สนามบิน นานาชาติจอห์นเอฟเคนเนดีในนิวยอร์ก เริ่มมาตรการคัดกรอง ที่เข้มงวดมากขึ้น สำหรับผู้โดยสารและลูกเรือจาก 3 ประเทศที่เผชิญการระบาดของอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก  ด้วยการวัดอุณหภูมิและตรวจดูว่ามีอาการป่วยหรือไม่ ทั้งยังต้องตอบคำถามต่างๆ เพื่อดูว่าเคยติดต่อสัมผัสกับผู้ติดเชื้อหรือไม่

ในวันพฤหัสบดี (16 ต.ค.) สนามบินหลักอีก 4 แห่งของสหรัฐจะเริ่มมาตรการตรวจเช็คในแบบเดียวกัน

ปัจจุบันไม่มีเที่ยวบินตรงจาก 3 ประเทศในแอฟริกาตะวันตกไปยังสหรัฐ ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงคัดกรองผู้โดยสารด้วยการดูข้อมูลการเดินทางและตรวจสอบหนังสือเดินทาง รวมถึงใช้อุปกรณ์อินฟราเรดวัดอุณหภูมิ สำหรับผู้ที่มีไข้หรือแสดงอาการอื่นๆ ว่าอาจติดเชื้อ เจ้าหน้าที่อาจตัดสินใจนำตัวคนนั้นไปยังโรงพยาบาลหรือแยกตัวไว้

ด้านประเทศในละตินอเมริกา อย่างเปรูและ อุรุกวัยได้ประกาศมาตรการคัดกรองที่สนามบินเช่นกัน ขณะที่เม็กซิโกและนิการากัวมีแผนคัดกรอง ผู้ที่จะเดินทางไปสหรัฐ ด้านรัฐบาลแคนาดาแนะนำพลเมืองตัวเองให้ออกจากประเทศในแอฟริกาตะวันตกที่เผชิญการระบาด พร้อมดำเนินมาตรการคัดกรองผู้คนที่ผ่านเข้าออกแคนาดา

สำหรับอังกฤษกล่าวว่า จะเริ่มคัดกรองที่สนามบินหลัก 2 แห่งและทางรถไฟจากยุโรป ทั้งยังจัดการซักซ้อมทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมกรณีอีโบลาระบาด โดยนายเจเรอมี ฮันต์ รัฐมนตรีสาธารณสุข กล่าวหลังจากการซ้อมว่าอังกฤษพร้อมรับมือหากเกิดการระบาด

การซ้อมของอังกฤษเป็นการจำลองเหตุการณ์จริง และใช้เวลา 8 ชั่วโมงในการซักซ้อม พร้อมบุคลากรทางการแพทย์ 750 คน โฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสถานการณ์ให้เหมือนจริงที่สุดเพื่อทดสอบการรับมือกรณีเกิดการระบาด

ขณะนี้ยังไม่มีการผู้ติดเชื้อในประเทศอื่นเพิ่มเติมนอกจาก 3 ประเทศในแอฟริกาตะวันตก โดยกระทรวงสาธารณสุขบราซิลรายงานงานผลการตรวจชายกินีว่าไม่พบการติดเชื้อ ส่วนในมาซิโดเนีย นั้น ผลการตรวจสอบชายอังกฤษที่เสียชีวิตและมีอาการคล้ายไวรัสอีโบลา ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าไม่ใช่

พยาบาลสเปนอาการดีขึ้น

อาการของพยาบาลสเปนวัย 44 ปีที่ชื่อเทเรซา โรเมโร มีอาการดีขึ้น โดยรู้สึกตัว พูดคุยเป็นบางครั้ง อารมณ์ดี และสามารถลุกขึ้นนั่งเองได้ พี่ชายของนางโรเมโรยืนยันว่าน้องสาวไม่มีไข้แล้ว แม้ป่วยหนักแต่ดูเหมือนเธอมีอาการดีขึ้น

เชื่อว่านางโรเมโรติดเชื้อช่วงปลายเดือนก.ย.ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงมาดริด ขณะดูแล มิชชันนารีที่ติดเชื้อจากแอฟริกาตะวันตกและถูกนำตัวกลับมารักษายังประเทศแต่เสียชีวิตลงในที่สุด

นอกจากนางโรเมโรแล้ว ยังมีผู้คนอีก 15 คน ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรในโรงพยาบาลและสามีของนางโรเมโร ที่ถูกกักตัวไว้สังเกตอาการยังโรงพยาบาลคาร์ลอสที่ 3 อันเป็นโรงพยาบาลเดียวกับที่รักษาพยาบาลคนนี้ โดยผู้ที่ถูกสังเกตอาการทั้งหมดนั้น ไม่มีใครแสดงอาการว่าติดเชื้อ

แหล่งข่าวในโรงพยาบาลเผยว่า แพทย์เริ่มให้ยาซีแมพแก่นางโรเมโรเมื่อค่ำวันศุกร์ (10 ต.ค.) ก่อนหน้านี้ได้มีการให้แอนตีบอดีจากคนไข้ที่ติดเชื้อแล้วหาย แก่นางโรเมโร

สำหรับอาการของช่างภาพอิสระชาวอเมริกันที่ติดเชื้อ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังเข้ารับการรักษาที่ศูนย์การแพทย์เนบราสกา โดยนายอโชกา มัคโป วัย 33 ปี ได้รับยาบรินไซโดโฟเวียร์ ที่กำลังมีการทดลอง ทั้งยังได้รับการถ่ายเลือดจากนายแพทย์เคนต์ แบรนต์ลีย์ ชาวอเมริกันที่ติดเชื้อจากแอฟริกาตะวันตกและหายในที่สุด

รัสเซียเร่งพัฒนาวัคซีน

นางเวโรนิกา สวอร์ตโซวา รัฐมนตรีสาธารณสุขรัสเซีย ประกาศว่ารัสเซียได้พัฒนาวัคซีนอีโบลา 3 ชนิด และคิดว่าน่าจะพร้อมภายในช่วง 6 เดือนหน้า โดยวัคซีนตัวหนึ่งพร้อมทำการทดลองในคน ส่วนวัคซีนอีกตัวหนึ่งพัฒนามาจากไวรัส อีโบลาสายพันธุ์ที่ไม่มีฤทธิ์แล้ว

รัสเซียซึ่งไม่มีการระบาดของอีโบลา ได้ส่งคณะนักวิทยาศาสตร์และห้องทดลองเคลื่อนที่ไปช่วยรับมือการระบาดที่กินีเมื่อปลายเดือนส.ค. ทั้งยังจัดทำแผนป้องกันไวรัสด้วยการติดตั้งกล้องวัดอุณหภูมิไว้ที่สนามบิน 71 แห่งทั่วประเทศ ทั้งยังคอยสังเกตอาการนักศึกษากว่า 450 คนจากแอฟริกาตะวันตกที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยรัสเซีย

นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาวัคซีนในทวีปแอฟริกาเป็นครั้งแรกที่มาลี ซึ่งไม่มีผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ แต่มีพรมแดนติดกับกินีที่เผชิญการระบาด โดยอาสาสมัคร 40 คนได้เข้ารับวัคซีน

องค์การอนามัยโลกรายงานว่ายอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสอีโบลาอยู่ที่ 4,033 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อ 8,399 คน โดยไลบีเรียมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 2,319 ราย ตามด้วยเซียร์ราลีโอน 930 ราย และกินี 778 ราย สำหรับยอดผู้เสียชีวิตในไนจีเรียมีเท่าเดิมคือ 8 ราย องค์การอนามัยโลกกล่าวว่าในวันที่ 20 ต.ค. นี้จะประกาศว่าไนจีเรียปลอดจากไวรัสอีโบลาหากไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม

อาจมีผู้ติดเชื้อรายที่ 2 ในสหรัฐฯ

นายแพทย์เดวิด ลาคีย์ แห่งแผนกสาธารณสุขประจำรัฐเทกซัส เผยว่าบุคลากรทางการแพทย์คนหนึ่งที่โรงพยาบาลเทกซัสเฮลธ์เพรสไบทีเรียนในเมืองดัลลัส ซึ่งรักษานายโธมัส อีริก ดันแคน ชาวไลบีเรียที่ติดเชื้อและเดินทางไปยังเทกซัสจนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด มีผลตรวจเป็นบวกในการทดสอบเบื้องต้น

นายลาคีย์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่อาจมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม และเจ้าหน้าที่ก็เตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์นี้ไว้แล้ว

หากผลการตรวจสอบเบื้องต้นได้รับการยืนยัน จะถือว่าเป็นคนที่ 2 ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้ออีโบลาในสหรัฐ โดยบุคลากรคนนี้รายงานว่ามีไข้ต่ำเมื่อคืนวันศุกร์ (10 ต.ค.) และถูกแยกตัวไว้ เจ้าหน้าที่ได้สอบถามผู้ป่วยเพื่อขอ รายละเอียดว่าติดต่อสัมผัสกับผู้ใดบ้าง ซึ่งผู้ที่ติดต่อกับบุคลากรคนนี้หลังจากมีการแสดงอาการ จะได้รับการจับตาเพื่อสังเกตอาการ

ด้านนสพ.มติชน วันที่ 13 ต.ค.57 รายงานข่าว ยืนยันอีโบลาไม่ติดต่อทางอากาศ โดยระบุว่า แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาและระบาดวิทยาเห็นตรงกันว่า ไวรัสอีโบลา ที่กำลังระบาดหนักอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกของทวีปแอฟริกาในเวลานี้ เป็นไวรัสที่ร้ายแรง แต่ทุกคนก็ไม่เชื่อว่า ไวรัสร้ายแรงนี้จะสามารถกลายพันธุ์จนติดต่อผ่านลมหายใจ หรือแพร่ระบาดผ่านอากาศได้ เหมือนไวรัส ซาร์ส

ศ.เดวิด เฮย์แมนน์ ประธานสภา สาธารณสุขแห่งอังกฤษ และผู้สอนวิชาโรคติดเชื้อและระบาดวิทยา ที่ลอนดอน สคูล ออฟ ไฮยีน แอนด์ ทรอปิคอล เมดิซีน ระบุว่า ไม่เคยมีประวัติว่ามีไวรัสใดที่แพร่เชื้อผ่านของเหลวจากร่างกายเหมือนกับ อีโบลา จะสามารถกลายพันธุ์แล้วกลายเป็นไวรัสที่มีความสามารถในการแพร่ระบาดทางอากาศได้

ศ.เฮย์แมนระบุว่า ไม่เคยปรากฏมาก่อนว่าไวรัสซึ่งแพร่ระบาดในแบบเดียวกับ อีโบลา เคยกลายพันธุ์เป็นไวรัสในระบบทางเดินหายใจมาก่อน ไม่ว่าจะระบาดอยู่ในกลุ่มคนยาวนานขนาดไหน โดยยกตัวอย่างที่ชัดเจนว่า เช่น เอชไอวี ไวรัส และไวรัสตับอักเสบบี ก็เป็นไวรัสที่แพร่ผ่านของเหลวจากภายในร่างกายเช่นเดียวกัน และไม่เคยกลายพันธุ์เป็นไวรัสในระบบทางเดินหายใจ หรือไวรัสที่สามารถติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจมาก่อน

ทางด้าน นพ.เจเรมี ฟาร์ราร์ ผู้อำนวยการกองทุนเวลคัมทรัสต์ ยืนยันเช่นเดียวกันว่า เมื่อพูดถึงการกลายพันธุ์เป็นไวรัสที่ติดต่อทางอากาศ ต้องพูดให้ชัดเจนด้วยว่า มีโอกาสแต่น้อยมาก และย้ำเช่นกันว่า เท่าที่ผ่านมาก็ไม่เคยได้ยินว่ามีการกลายพันธุ์ในลักษณะนี้ หรือแม้กระทั่งไวรัสที่แพร่ระบาดในทางหนึ่ง กลายพันธุ์เป็นไวรัสที่แพร่ระบาดในอีกทางก็ไม่เคยมีเช่นเดียวกัน "เมื่อพูดว่ามีโอกาสกลายพันธุ์เป็นอีโบลาที่แพร่ระบาดทางอากาศได้อยู่บ้าง ก็ต้องพูดควบคู่ไปกับสัดส่วนของการเกิดเช่นนี้ด้วยว่า มีอยู่น้อยอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้เป็นการขยายความหวาดกลัวให้มากเกินจริงไป เท่าที่เป็นอยู่ อีโบลาก็สร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นมากแล้ว" นายแพทย์ผู้นี้กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายแอนโธนี บันบิวรี ตัวแทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยภารกิจอีโบลา เตือนว่า การที่ไวรัสอีโบลาระบาดอยู่ในผู้คนเป็นเวลานานมากเท่าใด ยิ่งเปิดโอกาสให้มีการกลายพันธุ์มากขึ้นเท่านั้น และแม้การกลายพันธุ์เป็นการแพร่ระบาดทางอากาศจะถือว่าเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้และไม่น่าจะเกิดขึ้นแต่ก็ไม่ควรคิดว่าไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นโดยสิ้นเชิงในยามที่ต้องระวังอย่างรอบคอบเช่นเวลานี้