ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอรัชตะ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 12  และประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสามคือเกาหลี จีน ญี่ปุ่น ครั้งที่ 6 และประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน จีน ครั้งที่ 5 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ 17-19 กันยายน 2557 เน้นความร่วมมือการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่ออุบัติใหม่ และการสนับสนุนประเทศอาเซียนพัฒนาสุขภาพโดยใช้หลักประกันสุขภาพสุขภาพถ้วนหน้า

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางเข้าร่วมประชุมประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 12 (12th ASEAN Health Ministers Meeting : AHMM) ที่กรุงฮานอย ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ 17-19 กันยายน 2557 ว่า การประชุมครั้งนี้ มีหัวข้อหลักคือการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาสุขภาพภายหลังการเป็นประชาคมอาเซียน ในปี 2558 (Better Health for ASEAN Community Beyond 2015) โดยมีรัฐมนตรีสาธารณสุขจากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศประกอบด้วย บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ประเทศไทยได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม โดยแสดงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะการป้องกันโรคไม่ติดต่อที่กำลังเป็นปัญหาระดับโลก ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มะเร็ง ในปี 2551 องค์การอนามัยโลกรายงานประชากรโลกเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อกลุ่มนี้ 14.5 ล้านคน โดยเป็นร้อยละ 55 ของผู้เสียชีวิตทั่วโลก หรือ 7.9 ล้านคน อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และร้อยละ 34 เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี จึงเป็นปัญหาใหญ่ รวมทั้งโรคติดเชื้อเอชไอวีซึ่งมีผู้ติดเชื้อและมีชีวิตอยู่ 3.4 ล้านคน และโรคติดต่ออุบัติใหม่ เช่น โรคไข้หวัดนก โรคติดเชื้อไวรัสเมอร์ส โควี โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เป็นต้น จะต้องมีความร่วมมือเป็นเครือข่ายกันอย่างใกล้ชิด โดยให้ทุกประเทศผนวกการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพในนโยบายสาธารณะ (Health in All Policies) ในแผนการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาด้านสุขภาพของภูมิภาคอาเซียนภายหลังปี 2015 (ASEAN health development goals in the post 2015) ด้วย

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการหารือ เรื่องการเสริมสร้างความเข้มแข็งในระบบปฐมภูมิภายใต้การบริการสุขภาพถ้วนหน้า (Strengthening Primary Health Care towards Universal Health Coverage) ซึ่งไทยได้ให้ความสำคัญสูงสุดในการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ และการสร้างความเข้มแข็งของการให้บริการภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประเทศอาเซียนได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับองค์การอนามัยโลก และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund) เพื่อพัฒนาความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่และส่งเสริมอนามัยเจริญพันธุ์ ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์การพัฒนาสุขภาพของประเทศสมาชิกอาเซียน คือ สุขภาพที่เป็นหนึ่งเดียวของประชาคมอาเซียน และความยั่งยืน (A Healthy, Caring and Sustainable ASEAN Community) เนื่องจากสุขภาพเป็นต้นทุนที่มีความสำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพประชากร เพื่อพัฒนาประเทศ