มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน มี.ค.ปี 2554 ที่เห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ การพัฒนานโยบายแห่งชาติด้านยา และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2554-2559 พร้อมทั้งกำหนด 4 ยุทธศาสตร์ มุ่งหมายให้ “ประชาชนเข้าถึงยาถ้วนหน้า ใช้ยามีเหตุผล ประเทศพึ่งตนเอง”

ยังผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนเพื่อการแก้ไข พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 อย่างจริงจัง

นอกจากความล้าหลังของกฎหมายที่เชื่องช้ากว่าความเป็นจริงร่วม 50 ปี แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้ “ชำแหละ” จุดอ่อน-ช่องโหว่ ของ พ.ร.บ.ยา ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้

สำหรับจุดอ่อน-ช่องโหว่ แบ่งออกเป็น 4 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ 1.การคุ้มครองผู้บริโภคด้านยา 2.ราคายาและการเข้าถึงยา 3.การพัฒนาอุตสาหกรรมยาภายในประเทศให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ 4.การบังคับใช้กฎหมาย

เริ่มตั้งแต่ “การคุ้มครองผู้บริโภคด้านยา” ตามหลักการแล้วประชาชนต้องมีสิทธิ “รับรู้ชื่อยาสามัญ” ที่ตัวเองใช้รักษา แต่กฎหมายยาฉบับนี้กลับไม่ได้กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพแจ้งแก่ผู้ป่วย ผู้ประกอบวิชาชีพหรือสถานประกอบการส่วนหนึ่งจึงปกปิดชื่อยา โดยมักอ้างว่าหากทราบชื่อยาแล้วจะไปหาซื้อยามากินเอง ไม่เข้ารับการรักษาให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

ข้ออ้างในลักษณะนี้ถูกมองว่าอาจมีเบื้องหน้าเบื้องหลังซ่อนเร้น อาจเพราะต้องการผูกมัดผู้ป่วยให้มารักษากับตนเอง จะได้กำหนดราคายาได้โดยอิสระ เพราะผู้ป่วยไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ายานั้นๆ เป็นยาชื่อสามัญอะไร

นอกจากนี้ จำเป็นต้องปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียนตำรับยา เพื่อไม่ให้มีตำรับยาที่ไม่มีประสิทธิผลในการรักษาอย่างในปัจจุบัน โดยกฎหมายต้องบังคับให้หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบต้องทำการทบทวนทะเบียนตำรับยา จัดทำระบบการทบทวนประจำปีเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ

ที่สำคัญต้องกฎหมายมีช่องโหว่ที่ทำให้ “ร้านขายยา” ไม่จำเป็นต้องมี “เภสัชกร” อยู่ประจำร้านตลอดเวลา ส่งผลให้ประชาชนใช้ยาซ้ำซ้อนหรือพร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น นอกจากนี้ พ.ร.บ.ยา ที่ใช้อยู่ ยังไม่มีการควบคุมการส่งเสริมการขายและการโฆษณายา (การโฆษณายาในสื่อหลัก พ.ศ.2549-2551 มูลค่าสูงกว่าปีละ 2,500 ล้านบาท หรือรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 7,500 ล้านบาท) ทั้งที่ข้อมูลในโฆษณาบางอย่างก็คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ยังไม่นับแรงจูงใจที่ทำให้แพทย์สั่งจ่ายยาเกินความจำเป็น เนื่องจากมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทยา

อีกหนึ่งความล้าหลังในประเด็น การคุ้มครองผู้บริโภคด้านยา นั่นก็คือ อายุทะเบียนตำรับยาและเภสัชเคมีภัณฑ์สามารถใช้ได้ตลอดชีวิต จึงอาจไม่สอดคล้องกับองค์ความรู้ ความก้าวหน้าเกี่ยวกับยาและโรค หรือข้อบ่งใช้ของยาที่เปลี่ยนแปลงไป และเหนือสิ่งอื่นใด กฎหมายไม่มีกลไกการเยียวยาความเสียหายจากการใช้ยาให้กับผู้ป่วย ซึ่งแตกต่างกับ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีมาตรการดังกล่าวแล้ว

สำหรับประเด็นต่อมาคือ “ราคายาและการเข้าถึงยา” โดย พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ไม่มีประเด็นเรื่องข้อมูลราคายา โครงสร้างราคายา แม้ว่ายาจะเป็นสินค้าตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 แต่ไม่มีการกำหนดให้แสดงโครงสร้างราคายา ตลอดจนการควบคุมราคาตามกฎหมายดังกล่าว ขาดการตรวจสอบโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องยา ทำให้เกิดการค้ากำไรเกินควร ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค

ตัวอย่างจริงที่เคยเกิดขึ้นคือ ยาต้านไวรัสเอดส์ที่บริษัทยาเคยกำหนดราคาขายไว้กว่า 2 หมื่นบาทต่อคนต่อเดือน ต่อมาองค์การเภสัชกรรมได้ผลิตยาออกจำหน่าย ด้วยคุณภาพและประสิทธิภาพเหมือนกัน แต่สามารถกำหนดราคาเพียง 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน ราคาแตกต่างกันกว่า 15 เท่า

นอกจากนี้ยังมีภาวะขาดแคลนยาจำเป็น หรือยากำพร้า โดยเฉพาะในภาวะที่เกิดวิกฤต เช่น โรคระบาดรุนแรง อุทกภัย ซึ่งจะมีผู้ป่วยจำนวนมาก และมีโอกาสเสียชีวิตหรือพิการรุนแรง แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ประกอบการรายใดประสงค์จะผลิตหรือนำเข้ายาจำเป็นดังกล่าว เพราะ“ไม่ทำกำไร” จึงจำเป็นต้องมีกลไกที่ทำให้ประเทศต้องไม่ขาดแคลนยาจำเป็นเหล่านั้น

ประเด็นที่สามคือ “การพัฒนาอุตสาหกรรมยาภายในประเทศให้สามารถพึ่งพาตนเองได้” ต้องส่งเสริมให้มีการปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องกำหนดลงไปในกฎหมายเรื่องสถานะสิทธิบัตรยา ทำให้ไม่สามารถติดตามอายุสิทธิบัตรและข้อมูลของยาที่มาขอขึ้นทะเบียนได้ ซ้ำร้ายฐานข้อมูลสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญายังเข้าถึงได้ยาก ทำให้ผู้ผลิตยาภายในประเทศเสี่ยงที่จะละเมิดสิทธิบัตร ถูกฟ้องร้องจนต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวนมาก และเป็นอุปสรรคกีดกันการพัฒนายาของผู้ผลิตในประเทศ

ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ แม้ว่าการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practice: GMP) จะยกระดับการผลิตยาให้สูงขึ้น เป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่ทั้งหมดนี้มีค่าใช้จ่ายสูงทำให้โรงงานผลิตยาแบกรับภาระไม่ไหวจนต้องทยอยปิดตัว ภาครัฐเองก็ยังขาดการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวหรือไม่มีมาตรการสนับสนุน อุตสาหกรรมยาภายในประเทศจึงยังคงย่ำอยู่กับที่หรือรอคอยวันล่มสลาย จึงควรส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยาแผนปัจจุบัน พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยาสมุนไพร ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณเพื่อปรับปรุงการผลิตยาให้ได้มาตรฐาน

สุดท้ายคือ “การบังคับใช้กฎหมาย” นอกจากปัญหาเรื่องบุคลากรมีจำนวนไม่เพียงพอเนื่องจากขาดการสนับสนุนงบประมาณแล้ว ทุกวันนี้ยังขาดเครื่องมือในการบริหารกฎหมาย ขาดงานวิจัยข้อมูลทางกฎหมายที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน และขาดเครื่องมือทางเทคนิคต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีช่วยติดตามปัญหาหรือเฝ้าระวัง เครื่องมือบริหารระบบ เช่น การวิเคราะห์ส่วนขาด (gap analysis)

ทั้งหมดคือความ “ล้าหลัง” ของ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ที่ใช้คุ้มครองประชาชนชาวไทยทุกชีวิตอยู่ในขณะนี้

โปรดติดตาม พ.ร.บ.ยา...ล้าหลัง ต้องแก้ !!? ตอนจบวันที่ 14 ก.ย.นี้

เรืื่องที่เกี่ยวข้อง

พ.ร.บ.ยา...ล้าหลัง ต้องแก้ !!? ตอนที่ 1