ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยความคืบหน้าระบบเฝ้าระวังโรคอีโบลา พบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 1 ราย นับเป็นรายแรกพบเมื่อเย็นวานนี้ (1 กันยายน 2557) เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดและมีอาการไข้ขณะนี้รับตัวไว้ดูแลในโรงพยาบาลในสังกัด ตามมาตรฐานขั้นสูงสุดและดีที่สุด วันนี้อาการดีขึ้น ส่งเลือดตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และ รพ.จุฬาฯ เบื้องต้นคาดว่าจะทราบผลวันนี้ พร้อมติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย 16 ราย แนะประชาชนไม่ตื่นตระหนก ใช้ชีวิตตามปกติ โรคนี้ไม่ติดต่อกันง่าย

วันนี้(2 กันยายน 2557)เวลา 11.30 น.ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคและคณะ แถลงข่าวความก้าวหน้าระบบการเฝ้าระวังโรคอีโบลาของประเทศไทย ว่า เมื่อเย็นวานนี้(1 กันยายน2557) กระทรวงสาธารณสุข พบผู้มีอาการเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคอีโบลา 1 ราย นับเป็นรายแรกของประเทศ เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด มีอาการไข้ 38.8 องศาเซลเซียล เจ็บคอ มีน้ำมูก ได้รับตัวไว้ดูแลรักษาในห้องแยกโรคของโรงพยาบาลในสังกัด ให้การดูแลตามมาตรฐานสากล แพทย์ได้เจาะเลือดส่งตรวจหาเชื้ออีโบลาครั้งที่ 1 ส่งเลือดตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ คาดว่าจะทราบผลเบื้องต้นภายในวันนี้ และวางแผนเจาะเลือดครั้งที่ 2 ในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อยืนยันซ้ำ ให้มั่นใจ

ขณะเดียวกันได้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วหรือทีมเอสอาร์อาร์ที (SRRT) จากกรมควบคุมโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้อยู่ในข่ายสอบสวนโรครายนี้ พบว่ามีทั้งหมด 16 ราย ทุกรายอาการปกติ เพื่อนำผู้สัมผัสทั้งหมดเข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังติดตามอาการในโรงพยาบาล 21 วันตามมาตรฐานที่วางไว้ เพื่อจำกัดวงการแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุดและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชน สำหรับการรักษา ได้ให้การดูแลรักษาตามอาการ เหมือนโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้อทั่วไปตามมาตรฐานสากล เช้าวันนี้ (2 กันยายน 2557) อาการผู้ป่วยดีขึ้น ตรวจวัดสัญญาณชีพและวัดไข้ทุก 4 ชั่วโมง โดยเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยทุกคนใส่ชุดป้องกันการติดเชื้อ และเครื่องมือแพทย์ที่ใช้กับผู้ป่วย ได้ทำความสะอาดฆ่าเชื้ออย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการให้ผลลบทั้ง 2 ครั้ง ก็จะนำผลเข้าสู่การพิจารณาของทีมผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการที่มี ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นประธาน เพื่อวินิจฉัยและตัดออกจากระบบการเฝ้าระวังสอบสวนโรค ส่วนผู้สัมผัสทั้งหมดก็จะยุติการติดตาม

ทั้งนี้ การพบผู้เดินทางจากเขตติดโรค เข้าข่ายสอบสวนโรครายแรกนี้ ถือว่าเป็นประสิทธิภาพและความไวของระบบเฝ้าระวังป้องกันโรคของประเทศไทยที่มีมาตรฐานสากลและมีเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็ง ที่ดำเนินการทั้ง 3 ระบบ คือการเฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทางเข้า-ออกประเทศ การเฝ้าระวังในโรงพยาบาลรัฐ เอกชน คลินิก และความร่วมมือจากประชาชนและชุมชนทุกแห่ง ที่ไม่ตระหนกแต่ตระหนักถึงความร่วมมือกับทางราชการ มั่นใจว่า จะสามารถป้องกันไม่ให้โรคอีโบลาแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในประเทศได้ โดยผลการคัดกรองที่ด่านฯ วานนี้ตรวจ 43 คนไม่พบรายใดมีไข้ ทุกคนปกติ

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชน อย่าตระหนก และใช้ชีวิตตามปกติ และติดตามข่าวความคืบหน้าเรื่องผู้ป่วยและโรคอีโบลาจากกระทรวงสาธารณสุข ขอให้หมั่นล้างมือหลังสัมผัสสิ่งของ หรือออกจากห้องน้ำห้องส้วม ยืนยันโรคนี้ติดต่อกันยาก การติดต่อจะเกิดขึ้นต้องสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูงและอาการอื่นๆ โดยเชื้อจะอยู่ในเลือด หรือสารคัดหลั่งที่ออกมาจากผู้ป่วย รวมทั้งอาเจียนของผู้ป่วย การสัมผัสอย่างผิวเผิน เช่น บ้านใกล้กัน เดินสวนกัน กินข้าวร้านเดียวกันหรือร่วมโต๊ะเดียวกัน จะไม่ติดโรค

ทั้งนี้ การพบผู้เดินทางจากเขตติดโรคเข้าเกณฑ์สอบสวน เป็นการสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการสอบสวนและควบคุมโรค ซึ่งทีมงานสาธารณสุขจังหวัด สามารถดำเนินการได้ดี หากประชาชนมีข้อสงสัย สอบถามได้ที่ สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง