ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานเสวภา สภากาชาดไทย เป็นสถานที่ผลิตวัคซีนและเซรุ่มสำหรับป้องกันและรักษาโรคไข้ทรพิษ พิษสุนัขบ้า และพิษงู เพื่อนำมาใช้ในไทย อาคารที่ตั้งของสถานเสาวภาเป็นส่วนหนึ่งของสภากาชาดไทย นามของสถานเสวภามาจากพระนามของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ห้ว ซึ่งมีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าเสวภาผ่องศรี”

ความเป็นมาของสถานเสวภานั้น เริ่มจากในปีพ.ศ. 2454 หม่อมเจ้าหญิงบันลุศิริสาร ดิสกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ถูกสุนัขบ้ากัด ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งไปรักษา ณ เมืองไซ่ง่อน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จตามพระราชประสงค์เพราะคลาดเวลาเรือออกเดินทาง จึงจัดการรักษาตามแผนโบราณ มีอาการแสดงของโรคพิษสุนัขบ้าและพระอาการกำเริบจนถึงสิ้นชีพิตักษัย ทำให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตระหนักในความทุกข์ร้อนของประชาชน จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดตั้งสถาบันปลาสเตอร์ขึ้นเพื่อดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำให้แก่สุนัข และฉีดยาแก้ให้แก่ผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัด  โดยอาศัยเงินอุดหนุนที่ได้รับพระราชทานเป็นปฐมฤกษ์จากสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวงส่วนหนึ่งกับเงินที่ประชาชนร่วมใจกันบริจาคให้อีกส่วนหนึ่ง

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตึกหลวงที่ถนนบำรุงเมืองเป็นสถานที่ทำการชั่วคราว พร้อมกับโปรดเกล้าฯให้ย้ายกิจการทำพันธุ์หนองฝีและทำวัคซีนอื่นที่อยู่ทางจังหวัดนครปฐม มาดำเนินการอยู่ด้วยกันในสถานที่ดังกล่าวโดยขนานนามสถานที่นั้นว่า “ปาสตุระสภา” เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2456 อยู่ในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย โดยมี ดร.เลโอโปลด์ โรแบรต์ ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้อำนวยการ และได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากสถานปาสเตอร์แห่งประเทศฝรั่งเศส

ขอบคุณภาพจาก www.princess-it.com

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “ปาสตุระสภา” เป็น “สถานปาสเตอร์” ตามชื่อของหลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) ชาวฝรั่งเศส ผู้แรกพบวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้โอนกิจการสถานปาสเตอร์มาให้สภากาชาดไทยเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด โดยอาศัยสถานที่เดิมเป็นที่ทำการ 

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จสวรรคต หลังจากงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำนึงถึงพระคุณูปการของสมเด็จพระราชชนนี ได้ทรงปรารถนาใคร่จะสร้างสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อันยั่งยืนอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้เป็นที่เชิดชูพระเกียรติยศสมเด็จพระราชชนนีเคียงคู่กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อันเป็นสถานที่เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกาธิราชอยู่ก่อนแล้ว จึงทรงอุทิศที่ดินตรงบริเวณมุมถนนสนามม้าตัดกับถนนพระราม 4 จังหวัดพระนครซึ่งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีจำนวนเนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน 71 ตารางวา พร้อมกับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 258,000 บาท มอบให้สภากาชาดไทยนำไปใช้สร้างอาคารใหญ่หลังหนึ่งบนที่ดินดังกล่าว เพื่อใช้เป็นที่ทำการแห่งใหม่ของสถานปาสเตอร์ แล้วพระราชทานนามว่า “สถานเสาวภา” โดยเสด็จมาทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2465

ขอบคุณภาพจาก www.panoramio.com

นอกจากวัคซีนพิษสุนัขบ้าแล้ว สถานเสาวภายังเป็นที่ผลิตวัคซีนรักษาโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษของไทยอีกด้วย โดยเริ่มดำเนินการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชดำริว่าสมควรจะคิดทำหนองฝีขึ้นใช้เองในประเทศ เนื่องจากแต่เดิมการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษในไทย ต้องสั่งหนองฝีมาจากต่างประเทศ  ซึ่งในสมัยนั้นการคมนาคมลำบาก ใช้เวลานานในการขนส่ง ทำให้หนองฝีเหล่านั้นเสื่อมคุณภาพ ใช้ไม่ได้ผล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เสนาบดีกระทรวงธรรมการเป็นผู้รับผิดชอบ ส่งแพทย์ 2 คน คือ นายเอช. อาดัมสัน (พระบำบัดสรรพโรค) กับนายอัด หสิตะเวช (พ.ต. อัด หสิตะเวช) ไปศึกษาวิธีการ ณ เมืองมะนิลา เกาะฟิลิปปินส์ เมื่อศึกษาสำเร็จ ได้กลับมาดำเนินการทำพันธุ์หนองฝีเป็นครั้งแรก ณ ตำบลสี่กั๊กพระยาศรี ในพระมหานคร เมื่อพ.ศ. 2444 โดยใช้วิธีการปลูกเพาะหนองฝีแก่โค

ในปี พ.ศ. 2446 ได้ย้ายที่ทำการปลูกเพาะพันธุ์หนองฝีไปที่ตำบลห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐม และ เพิ่มการทำเซรุ่มสำหรับรักษาโรคของสัตว์พาหนะต่างๆ ตลอดทั้งจัดหาเซรุ่มสำหรับรักษาโรคมนุษย์ และในปี พ.ศ. 2453 ได้โอนกิจการทำพันธุ์หนองฝีและเซรุ่ม ไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย และได้ย้ายกิจการมาดำเนินการร่วมกันกับการผลิตวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำที่ “ปาสตุระสภา”

ขอบคุณภาพ www.myfirstbrain.com

นอกจากวัคซีนพิษสุนัขบ้า วัควีนป้องกันโรคฝีดาษแล้ว สถานเสวภายังผลิตเซรุ่มแก้พิษงูกับเซรุ่มทั่วไปอีกด้วย โดยในปี 2471 หลังการจัดตั้งสถานเสาวภา ได้มีการเลี้ยงม้าภายในตึก โดยใช้ “ตึกเสรฐภักดี” ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของสถานเสาวภา เป็นที่เลี้ยงม้าสำหรับใช้ในการผลิตเซรุ่ม ซึ่งตึกนี้สร้างขึ้นจากการบริจาคเงินของครอบครัวเสรฐภักดี เพื่อบำเพ็ญกุศลอุทิศแก่พระยาประดินันทน์ภูมิรัตน์ และ“ตึกราชูปถัมภ์” ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้สร้างขึ้น เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ต่อมาในปี 2496 สภากาชาดไทยได้ซื้อที่ดินประมาณ 80 ไร่ ที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อทำเป็นฟาร์มเลี้ยงม้าผลิตเซรุ่ม เนื่องจากความต้องการเซรุ่มแก้พิษงูเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องขยายการเลี้ยงม้า ภายใต้การช่วยเหลือของรัฐบาลออสเตรเลีย ตามแผนโคลัมโบ มีการมอบม้าสำหรับผลิตเซรุ่ม แม่ม้าทำพันธุ์และพ่อม้า ทั้งสิ้น 101 ตัว และในปี 2503 ได้มีการซื้อที่ดินบริเวณติดกันเพิ่ม 24 ไร่ เพื่อใช้สำหรับการปลูกหญ้าให้ม้า รวมเป็นพื้นที่ทั้งสิ้นกว่า 100 ไร่ ได้ชื่อว่า สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองฯ  ซึ่งแผนกเซรุ่ม สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2499

 

เอกสารอ้างอิง

สถานเสวภา สภากาชาดไทย. [Online], สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2557, จาก http://www.myfirstbrain.com/main_view.aspx?ID=47771

สถานเสวภา สภากาชาดไทย. [Online], สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2557, จาก http://www.saovabha.com/th/aboutus.asp

สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลอง สภากาชาดไทย. [Online], สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2557, จาก http://www.saovabha.com/th/hoursefarm.asp