ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

WHO ชู สสส.ไทย "ต้นแบบองค์กรสร้างเสริมสุขภาพระดับโลก" หนุนนานาชาติเดินรอยตาม ชี้จุดเด่นความเป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลองค์กรใด และทำให้คนไทยเห็นคุณค่าสุขภาพที่ดี

ดร.สุวจี กู้ดส์ ผู้ประสานงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพและปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคม องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวภายหลังการนำคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และนักวิชาการด้านสร้างเสริมสุขภาพจากประเทศสมาชิกในองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO-SEARO) รวม 24 คน จาก 5 ประเทศ ได้แก่ ภูฏาน บังกลาเทศ เนปาล มัลดีฟส์ และพม่า เข้าศึกษาและร่วมเรียนรู้การดำเนินงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า การมาศึกษาดูงานที่ สสส. ในฐานะเป็นองค์กรต้นแบบด้านการสร้างเสริมสุขภาพในภูมิภาค เพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้เรียนรู้ว่าทุกประเทศสามารถเป็นผู้นำด้านการสร้างเสริมสุขภาพได้ ถ้ามีกลไกการทำงานที่เข้มแข็ง ทั้งภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาครัฐ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นกลไกการทำงานของภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่สามารถทำงานในลักษณะองค์กรอิสระที่ช่วยให้การทำงานคล่องตัวขึ้น สามารถเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายได้ง่ายขึ้น และยังส่งเสริมการทำงานกับภาครัฐได้เป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นจุดเน้นหลักในบทบาทขององค์การอนามัยโลก ที่จะต้องเชื่อมโยงประเทศสมาชิกต่างๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้ลักษณะการทำงานของ สสส.ไทยมากขึ้น เพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้มีการจัดตั้งกองทุนสร้างเสริมสุขภาพเช่นเดียวกับ สสส.ไทยเพิ่มมากขึ้น

ดร.แคทริน แองเกิลฮาร์ดท ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและการสร้างเสริมสุขภาพ องค์การอนามัยโลก ภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก (WHO WPRO) กล่าวว่า สสส.เป็นตัวอย่างที่ดีทั้งในด้านผลงานที่ประสบความสำเร็จ และเป็นต้นแบบที่ยั่งยืนในลักษณะกองทุนสร้างเสริมสุขภาพแห่งหนึ่งของโลก มีโครงสร้างการทำงาน มีบอร์ดที่เข้มแข็ง ทำงานอย่างเป็นกลางและเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การแทรกแซงของกลุ่มธุรกิจหรือการเมือง ถือว่าคนไทยโชคดีที่มีองค์กรแบบ สสส. ผลักดันให้ความสนใจกับสุขภาพของคนไทยทุกบริบทในสังคม ให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีทางด้านสุขภาพแก่คนไทยอย่างครบวงจร โดยเฉพาะการรณรงค์สื่อสารทางสังคม ทำให้คนทุกกลุ่มเห็นคุณค่าของการมีสุขภาพที่ดี นำไปสู่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามแนวทางที่ สสส.รณรงค์ให้ความรู้

ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า นานาชาติให้ความสนใจเรื่องโครงสร้าง แนวทางการทำงาน และยุทธศาสตร์การทำงานลดปัญหาปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของ สสส.เป็นอย่างมาก เนื่องจาก สสส.ทำงานก้าวสู่ปีที่ 13 แล้ว ได้ส่งเสริมให้เกิดการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในรูปแบบใหม่ตามแนวคิดของ WHO ในการจัดการปัจจัยทางสังคมที่กระทบต่อสุขภาพ พฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ และโรคไม่ติดต่อ ส่งผลให้เกิดการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ ทั้งอัตราการสูบบุหรี่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2557 มีอัตราการสูบ 19.94% อัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ลดลงเหลือ 6.08 ลิตรของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อคนต่อปี ลดค่าใช้จ่ายค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ปีละ 20,000 กว่าล้านบาท และอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่ลดลง ทำให้มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากอุบัติเหตุลดลงถึง 35% ผลการดำเนินงานทั้งหมดนี้ใช้การลงทุนที่น้อยมากเพียง 1% ของค่าใช้จ่ายสุขภาพทั้งหมดของประเทศ ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามาก

"ที่ผ่านมา สสส.ให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ เรื่องการจัดตั้งกองทุนสร้างเสริมสุขภาพสำเร็จแล้ว 6 ประเทศ ได้แก่ มองโกเลีย มาเลเซีย ตองกา เกาหลีใต้ เวียดนาม และ สปป.ลาว นอกจากนี้ยังมีประเทศที่อยู่ระหว่างการผลักดันกฎหมาย อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซามัว หมู่เกาะโซโลมอน และฟิจิ เป็นต้น โดย สสส.ให้คำแนะนำเรื่องการจัดตั้งกองทุน การบริหารกองทุน โดยใช้นำกรณีตัวอย่างการทำงานของ สสส.ไปเป็นต้นแบบ และมีบางประเทศส่งเจ้าหน้าที่มาเรียนรู้งานที่ สสส. เพื่อให้เข้าใจกระบวนการทำงานอย่างแท้จริง" ทพ.กฤษดากล่าว