ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.เตือนผู้บริโภคให้ระวังอย่าหลงเชื่อโฆษณาฉีดโกรทฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกาย เพื่อชะลอวัยให้อ่อนเยาว์ อาจ เกิดผลข้างเคียง ทำให้ร่างกายได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงโดยไม่รู้ตัว ย้ำ อย. ไม่ได้อนุญาตให้ใช้ยาโกรทฮอร์โมน เพื่อฉีดชะลอวัยแต่อย่างใด ขณะนี้อนุมัติให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาชนิดเดียว คือ Somatropin โดยข้อบ่งชี้ของยานี้ เพื่อรักษาผู้ป่วยเด็กในการรักษาภาวะขาดโกรธฮอร์โมนเท่านั้น

นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวง สาธารณสุขได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 กรณีประชาชนนิยมฉีดโกรทฮอร์โมน เข้าสู่ร่างกาย เพื่อชะลอวัยให้อ่อนเยาว์ บางคนซื้อยาดังกล่าวมาฉีดด้วยตนเอง จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขเผยแพร่ ความรู้เกี่ยวกับโทษของการฉีดโกรทฮอร์โมนให้ประชาชนทราบข้อเท็จจริงนั้น ในเรื่องดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงและเตือนประชาชนให้ทราบว่า ยาโกรทฮอร์โมนที่ อย. อนุมัติให้ขึ้นทะเบียนตำรับในประเทศไทยมีเพียงชนิดเดียวคือ Somatropin ที่เป็น Recombinant human growth hormone โดย อย. ได้จำกัดข้อบ่งชี้ให้ใช้เฉพาะเพื่อรักษาผู้ป่วยเด็กเท่านั้น และให้ใช้เพื่อการรักษาภาวะขาดโกรทฮอร์โมน (Growth hormone) เพื่อการรักษาโรคทางพันธุกรรมชนิดโครโมโซมเพศเพียง X ตัวเดียว ซึ่งเป็นกลุ่มอาการ เทอร์เนอร์ซินโดม Turner syndrome (TS) และเพื่อการรักษาภาวะทารกตัวเล็กหรือคลอดก่อนกำหนดและมี น้ำหนักน้อย Born small for gestatonal age (SGA) ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ที่สำคัญ ยาโกรทฮอร์โมนให้ จำหน่ายได้เฉพาะโรงพยาบาลที่มีกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม์ที่ได้รับอนุมัติบัตรและ วุฒิบัตรอนุสาขาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม์จากแพทยสภาเท่านั้น โดยให้แพทย์เป็นผู้มีสิทธิ์สั่งยาและติดตาม ผลการรักษาเพื่อให้เกิดประสิทธิผลและความปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการอย. กล่าวต่อไปว่า การนำยาโกรทฮอร์โมนไปใช้เพื่อ การฉีดให้ชะลอวัย จึงเป็นการใช้ยานอกเหนือจากที่ระบุไว้ในเอกสารกำกับยา เนื่องจาก อย. ไม่ได้อนุญาตให้ใช้ยา โกรทฮอร์โมน เพื่อวัตถุประสงค์การฉีดให้ชะลอวัย อ่อนเยาว์ เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น ทำให้เกิดโรคเบาหวาน มะเร็งลำไส้ เป็นต้น จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาฉีดยาดังกล่าวเด็ดขาด นอกจากนี้ หากพบผู้ทำการฉีดยาโกรทฮอร์โมนที่ไม่ใช่แพทย์ ถือมีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบโรค ศิลปะและพระราชบัญญัติสถานพยาบาล โดยหากประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่ เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และประกอบโรคศิลปะโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับ อนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพบแพทย์เป็นผู้ใช้ยา นอกเหนือจากที่อนุญาตไว้ในเอกสารกำกับยา อาจถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตวิชาชีพจากแพทยสภา ทั้งนี้ หากผู้บริโภค พบเห็นการโฆษณาฉีดยาโกรทฮอร์โมน หรือขายยาดังกล่าวจากสื่อใดๆ ก็ตาม โปรดแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556