ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผยการบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปีงบประมาณ 2558 ไม่กระทบผู้ป่วยโรคเฉพาะทาง ยืนยันได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนเดิม การปรับระบบการบริหารการเงิน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่น ลดความซ้ำซ้อน ความสิ้นเปลือง     

นพ.บัญชา ค้าของ

28 ส.ค. 57 นพ.บัญชา ค้าของ ผู้อำนวยการกลุ่มประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อมวลชน อ้างถึงกระทรวงสาธารณสุขเสนอตัดงบรักษาโรคเฉพาะด้านของบัตรทองเหลือ 4 กองทุนนั้น ตามข้อเสนอการบริหารจัดการงบกองทุน ยืนยันว่าจะไม่มีการยุบกองทุนรักษาโรคเฉพาะทางแน่นอน แต่จะเน้นการบูรณาการกองทุนย่อยให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้บริหารง่ายขึ้น ลดความซ้ำซ้อนสิ้นเปลือง โดยประชาชนยังคงได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนเดิมทุกประการ คุณภาพการให้บริการดีขึ้น  

นพ.บัญชา กล่าวต่อว่า   การจัดบริการที่เป็นมาตรฐานในระบบสุขภาพที่ทุกฝ่ายยอมรับ แบ่งเป็น 4 หมวด คือบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และมาตรา 41และอื่นๆ นั้น จะส่งผลดีต่อสถานบริการ โดยกองทุนย่อยๆ ที่กำหนดโดยกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา มีเป้าหมายให้ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด เป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่กลไกการจัดบริการแตกเป็นกองทุนย่อยๆ ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองจากการใช้ทรัพยากรและใช้อัตรากำลังบุคลากร เพื่อดูแลจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันโรงพยาบาลต้องจ้างคน จ่ายค่าตอบแทน และลงทุนด้านต่างๆ ส่งผลให้มีรายจ่ายติดลบ 30-60 เปอร์เซ็นต์ กระทรวงสาธารณสุข จึงต้องปรับระบบการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพที่สูงสุด บนเงื่อนไขที่ต้องไม่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ประชาชน และต้องได้รับบริการที่ดีขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2558 เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุข ได้ปฏิรูประบบการบริหารจัดการเป็นเขตบริการสุขภาพมี 12 เขตและกทม. มอบอำนาจการบริหารจัดการไปที่เขตบริการสุขภาพ ซึ่งได้มีการหารือระบบการประสานความร่วมมือต่างๆ ในการดูแลประชาชน ร่วมกับผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

นพ.บัญชา ได้กล่าวชี้แจงว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำข้อเสนอการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2558  ต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม2557 ซึ่งเป็นการระดมความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาค ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน  โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมทั้งการทำประชาพิจารณ์ 4 ภาค ซึ่งมิได้มีข้อเสนอยุบกองทุนตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด แต่เน้นการบูรณาการกองทุนย่อยให้เป็นหมวดหมู่ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น สามารถปรับเกลี่ยและลดความซ้ำซ้อนได้  กระจายการบริหารกองทุนเหล่านี้ลงสู่เขตสุขภาพ บริหารร่วมกันระหว่างเขตสุขภาพของกระทรวงฯ กับ สปสช. สาขาเขต ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

ประการสำคัญคือโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่ยังคงสิทธิประโยชน์ของประชาชนเหมือน มิได้มีเจตนาไปลดสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโรคไต โรคมะเร็ง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี วัณโรค ฮีโมฟีเลีย หรือผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่เคยได้รับสิทธิประโยชน์เดิมอยู่แล้ว ทุกกลุ่มยังได้รับการรักษาด้วยมาตรฐานเหมือนเดิม ได้รับยาเหมือนเดิม  รวมทั้งอาจจะมีผู้ป่วยโรคเฉพาะกลุ่มอื่นๆ ที่สปสช. ส่วนกลางยังมิได้กำหนดไว้ แต่เป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ เขตบริการสุขภาพก็สามารถกำหนดแนวทางการบริหารเองเพื่อให้เหมาะสมแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สธ.จี้สปสช.ตั้งกองทุนบัตรทองระดับเขต ปรับงบรายหัวเหลือ 4 รายการ

ภาคประชาชนค้านข้อเสนอสธ.ยุบกองทุนเฉพาะโรค หวั่นกระทบผู้ป่วย