สธ.ยื่นข้อเสนอบริหารงบบัตรทองปี 58 เข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการเงินการคลัง บอร์ดสปสช. เสนอตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับเขตเพื่อจัดสรรเงินบัตรทองรายเขต ให้มีงบบริหารจัดการกลางระดับเขต 20% ส่วนอีก 80% เป็นงบตามภาระค่าใช้จ่ายหน่วยบริการ และงบเหมาจ่ายรายหัวปรับการจัดสรรใหม่ให้เหลือ 4 รายการ
28 ส.ค.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ ซึ่งจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการการเงินการคลังในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น มีรายงานว่ากระทรวงสาธารณสุขมีข้อเสนอการบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2558 เข้าสู่วาระการพิจารณาในที่ประชุม โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ อาทิ ให้มีกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับเขต จัดสรรรเงิน UC รายเขต ตัดเงินเดือนระดับเขต กำหนดว่าสปสช.ทำหน้าที่จ่ายเงิน สธ.รับผิดชอบจัดระบบบริการ งบเหมาจ่ายรายหัวไม่แยกหมวดมากเช่นเดิม แต่ให้เหลือ 4 ประเภท คือ งบผู้ป่วยนอก งบผู้ป่วยใน งบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค และงบช่วยเหลือเบื้องต้นมาตรา 41
ส่วนการจัดสรรเงินให้หน่วยบริการ แบ่งเป็น 2 หมวด คือ
1.งบบริหารจัดการกลางระดับเขตสัดส่วน 20% ให้อยู่ในดุลพินิจของเขตสุขภาพ คือ งบ AE/HC งบส่งต่อผู้ป่วย มาตรา 41 งบค่าเสื่อม งบปรับประสิทธิภาพ
2.งบตามภาระค่าใช้จ่ายหน่วยบริการ 80% คือ งบผู้ป่วยนอก งบผู้ป่วยใน และงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค
ทั้งนี้ สำหรับข้อเสนอการจัดงบเหมาจ่ายรายหัวให้เหลือ 4 ประเภทนั้น เคยมีการเสนอมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ครั้งนี้จะเป็นการเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการการเงินการคลัง ก่อนที่จะสรุปเป็นมติเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดสปสช.ต่อไป ซึ่งเมื่อดูการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2557 จะมีการแบ่ง 9 รายการ ดังนี้ 1.ผู้ป่วยนอก 2.ผู้ป่วยใน 3.กรณีเฉพาะ 4.สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค 5.ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ 6.บริการแพทย์แผนไทย 7.ค่าเสื่อม 8.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการ(มาตรา 41) และ 9.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการ ซึ่งได้รับการคัดค้านจากภาคประชาชนและกลุ่มแพทย์ชนบท โดยเกรงว่าจะทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการ
สำหรับรายละเอียดข้อเสนอทั้งหมดมีดังนี้
แนวทางการบริหารการเงินการคลังสุขภาพระดับเขต โดย
1.ให้จัดสรรเงิน UC รายเขต หมวดเหมาจ่ายรายหัวตาม Capitation ของเขต และตัดเงินเดือนระดับเขต ส่วนเงินจากกองทุนประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการฯ และแหล่งเงินอื่นๆ จัดให้หน่วยบริการตามหลักเกณฑ์เดิม
2.ให้มีการบริหารทรัพยากรร่วม ประกอบด้วยทรัพย์สินเดิม บุคลากร งบลงทุน จากกระทรวงสาธารณสุข และรายรับจากทุกกองทุน เพื่อกระจายการจัดสรรเกลี่ยทรัพยากรให้ประชาชนได้รับบริการที่มีความเท่าเทียม ทั่วถึงและเป็นธรรม
3.ให้มีการทำข้อตกลง มาตรฐานหน่วยบริการ และผลลัพธ์สุขภาพร่วมกัน ไตรภาคีระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กองทุน และเขตบริการสุขภาพ
4.ให้กำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการงบ UC ระดับเขตให้ชัดเจน ดังนี้
4.1 ให้มีกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับเขต โดยการดูแลของสปสช.เขต ในเบื้องต้นใช้งบของ UC เป็นหลัก ในอนาคตให้พิจารณางบจากแหล่งกองทุนอื่นๆ มาสนับสนุน
4.2 ให้มีการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับเขต และระดับเครือข่ายโรงพยาบาล
4.3 ให้มีการจัดสรรงบให้กับหน่วยบริการ เป็น 2 หมวด คือ
1.งบบริหารจัดการกลางระดับเขต วงเงินไม่เกินร้อยละ 20 ทั้งนี้อยู่ในดุลพินิจของเขตบริการสุขภาพ ประกอบด้วย งบAE/HC งบส่งต่อผู้ป่วย มาตรา 41 งบค่าเสื่อม งบปรับประสิทธิภาพ
2.งบตามภาระค่าใช้จ่ายเบื้องต้นของหน่วยบริการ วงเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ประกอบด้วย
1.งบบริการผู้ป่วยนอก
2.งบบริการผู้ป่วยใน
3.งบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
ข้อเสนอกระทรวงสธ.ว่าด้วยการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2558
ข้อสรุปจากการระดมความเห็นจากตัวแทนภูมิภาคและการประชุม 4 ภาค
ประเด็นที่ 1 หลักการบริหาร
1.เป็นการทำข้อตกลงระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสปสช.ภายใต้การกำหนดเป้าหมายผลลัพธ์สุขภาพระดับประเทศ โดยสปสช.ทำหน้าที่จ่ายเงิน ส่วนกระทรวงสธ.ทำหน้าที่รับผิดชอบจัดระบบบริการ
2.ในส่วนเหมาจ่ายรายหัว ไม่แยกหมวดรายการของกองทุนมากเช่นเดิม ให้เหลือ 4 ประเภท ได้แก่ 1.บริการผู้ป่วยนอก 2. บริการผู้ป่วยใน 3 การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค 4.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 และอื่นๆ
3.บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภายใต้การบริหารในรูปแบบเขตสุขภาพและบูรณาการงบประมาณจากทุกแหล่งเงิน โดยแนวทางปฏิบัติต่างๆ ให้ผ่าน provider health board ของแต่ละเขตและทำข้อตกลงกับอปสข.เป็นลำดับขั้น ตาม KPI ระดับประเทศ และเฉพาะเจาะจงตามปัญหาแต่ละเขต
ประเด็นที่ 2 การตัดเงินเดือน
ในเบื้องต้น สำหรับปี 2558 ให้ตัดเงินเดือนระดับเขต ก่อนจัดสรรให้หน่วยบริการ เพื่อความเป็นธรรมและประสิทธิภาพการบริหารทรัพยากร
ประเด็นที่ 3 การบริหารงบกองทุนในหมวดหลักตามภารกิจระดับเขต จังหวัด และอำเภอ
1.จัดสรรเงินกองทุนฯ ให้แต่ละเขตบริการสุขภาพแบบบูรณาการ ทั้ง 3 ประเภท โดย 1.เงินบริการผู้ป่วยในบริหารโดยเขต 2.เงินบริการผู้ป่วยนอกบริหารโดยจังหวัด และ 3.เงินบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค บริหารโดย คปสอ.
3.เครื่องมือที่ใช้ในการจัดสรร โดยหลักใช้ค่าใช้จ่ายขั้นต้นล่วงหน้าที่มีเกณฑ์ประสิทธิภาพกำกับ แต่เขตอาจใช้เครื่องมืออื่นๆ เพิ่มเติมได้ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา หรือเฉพาะกับพื้นที่
ประเด็นที่ 4 ระบบข้อมูลและการรายงาน
1.ให้มีการทบทวนและปรับรูปแบบการรายงานต้องเป็นระบบข้อมูลที่สอดคล้อง เชื่อมโยงภารกิจ ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาตามบริบทของชุมชน ทำแล้วประชาชนได้รับอะไร โดยเริ่มจากทบทวนระบบข้อมูลที่จำเป็น เช่น 43 แฟ้ม โดยเฉพาะในระดับสถานีอนามัยเพื่อการใช้งาน (ข้อมูลมีคุณภาพ ถูกต้อง ทันเวลา และสามารถนำมาใช้งานได้จริง) ระหว่างสป.สธ. กรมวิชาการ สปสช. ลดภาระการจัดทำข้อมูลเกินจำเป็นต่อการใช้งานและข้อมูลที่รายงานเกินจริงจากรายงานแลกเงิน)
2.สร้างให้เกิดศูนย์ข้อมูลในระดับเขต จังหวัด และอำเภอ เพื่อสนับสนุนในด้านบริหาร และบริการ มีระบบการจัดการข้อมูล เช่น ตรวจสอบคุณภาพ ประมวลผล สรุปรายงาน
3.มีการคืนข้อมูลกลับไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น จังหวัดให้กับอำเภอ อำเภอให้กับตำบล เพื่อสะท้อนสถานการณ์และนำไปใช้ประโยชน์
สำหรับข้อเสนอดังกล่าวนั้น ระบุว่า มาจากการที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวมาจากการประชุมระดมความเห็นจากหน่วยบริการในสังกัด 2 ครั้ง ในเดือนก.ค.57 และจัดทำประชาพิจารณ์ 4 ภาค ในเดือนมิ.ย.-ก.ค.57 เพื่อรับฟังข้อเสนอการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2558
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ภาคประชาชนค้านข้อเสนอสธ.ยุบกองทุนเฉพาะโรค หวั่นกระทบผู้ป่วย
หมอบัญชายัน ไม่ยุบกองทุนย่อย แต่จะบูรณาการ ไม่กระทบผู้ป่วยแน่นอน
- 20 views