ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากรางวัล อสม.ดีเด่นระดับชาติสาขานมแม่ สายใยรักแห่งครอบครัว ประจำปี 2557เป็นเครื่องหมายการันตีได้ว่า นางมารีนี อาเดอนาน อสม. อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส หรือที่คนในพื้นที่จะรู้จักกันดีในชื่อของ “เจ๊ะนิง” ผู้ที่อุทิศตนเพื่อยกระดับเรื่องของอนามัยแม่และเด็กของคนในชุมชนให้ดีขึ้นมาโดยตลอด

นางมารีนี อาเดอนาน

เจ๊ะนิง เล่าว่า  ตลอดระยะเวลา 15 ปี ของการทำงานเป็น อสม.ที่ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส นั้น เดิมการทำงานจะดูแลเรื่องของสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ทั่วไปเหมือน อสม.ในพื้นที่อื่นๆ จุดเริ่มต้นของการรณรงค์ให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือ มีข่าวออกมาว่าในภาพรวมของจังหวัดนราธิวาส เรื่องของอีคิวของคนในจังหวัดต่ำที่สุดในประเทศ ประกอบกับในช่วงนั้นตนมีลูกคนที่ 2 จึงได้ช่วยกันวิเคราะห์ถึงสาเหตุว่าทำไม จังหวัดนราธิวาสของเราเด็กจึงมีอีคิวต่ำที่สุด เมื่อมองไปรอบๆพื้นที่ จึงพบว่า แม่เริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมกระป๋องกันมากขึ้น ด้วยสาเหตุง่ายๆ คือ ความสะดวกสบาย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การรณรงค์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเกิดขึ้นมา โดยเจ๊ะนิงใช้ตัวเองเป็นตัวอย่างของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ที่สามารถทำงานได้อย่างไม่มีปัญหา

วันที่ 21 พฤษภาคม 2555 นายปีชา นวลน้อย นายอำเภอแว้ง ในขณะนั้น เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพในอำเภอแว้ง อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่า “จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมอยู่เย็นเป็นสุข” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนงานสาธารณสุขเป็นต้นมา

เจ๊ะนิง บอกว่า คนในพื้นที่ส่วนมากนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเขามีความเชื่อในอดีตว่า หญิงตั้งครรภ์จะต้องได้รับการดูแลและทำคลอดจาก “โต๊ะบีแด”  ที่เปรียบเสมือน “หมอตำแย” ด้วยความที่ไม่มีเครื่องมือทางการแพทย์ อาศัยเพียงความชำนาญที่สั่งสมกันมาจากรุ่นสู่รุ่นของโต๊ะบีแด ที่อาจส่งผลกระทบต่ออนามัยของแม่และเด็กได้ ในปี 2556 ทางเจ๊ะนิงและทีมงานจึงได้เริ่มวางแผนยุทธศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขึ้นมา โดยมี รพ.สต.โละจูด ทำหน้าที่ให้ความรู้ทางวิชาการแก่ โต๊ะบีแด

“คนมุสลิม มีความเชื่อในผู้นำศาสนาเป็นอย่างมาก เจ๊ะนิงจึงได้ขอความร่วมมือจากโต๊ะอิหม่าม ให้ทำหน้าที่ช่วยในการประชาสัมพันธ์งานอนามัยแม่และเด็ก ชี้ให้เห็นข้อดีข้อของครรภ์กับเจ้าหน้าโรงพยาบาล ผลดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สร้างความเข้าใจให้กับผู้ที่เป็นสามี โดยใช้เวลา 15 นาที ก่อน หรือหลังการละหมาดก็ได้ ซึ่งผลสะท้อนกลับมาเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก ผู้ชายในครอบครัวหรือสามี มีความเข้าใจเรื่องอนามัยแม่และเด็กมากขึ้น”

เมื่อได้ผู้นำทางศาสนาเข้ามาช่วยแล้ว การดำเนินงานปัญหาด้านสุขภาพแม่และเด็ก หรือปัญหาสุขภาพด้านต่างๆ ลดน้อยลง จากนั้นในพื้นที่ได้มีการทำข้อตกลง โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ข้อตกลงที่ว่า เราเรียนกันว่า “ฮูกมปากัต” หรือมาตรการที่ประชาชนในหมู่บ้านได้วางกติกาเพื่อให้แม่เกิดรอดลูกปลอดภัย ดังนี้

1.หญิงตั้งครรภ์ ฝากแก่ครรภ็เกิน 12 สัปดาห์ จะถูกปรับ 100 บาทเข้าชมรมสายใยรัก

2. หญิงตั้งครรภ์ ฝากครรภ์ครบ 5 ครั้ง ตามเกณฑ์จะได้รับของขวัญ

3.หญิงตั้งครรภ์ที่คลอดในโรงพยาบาล จะได้รับของขวัญ

4. หญิงหลังคลอดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน  มีของรางวัลมอบให้

5. หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุ 20-35 ปี มีของขวัญมอบให้

เจ๊ะนิง เชื่อว่า การรณรงค์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของตนที่ประสบความสำเร็จนั้นมาจาก “แม่ทุกคนที่ต้องการให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูก” จึงได้หยิบยกเอาคำว่าที่ นมแม่เป็นวัคซีนที่ดีที่สุดของลูก อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ของแม่และลูก ส่งผลต่อการพัฒนาทั้งทางด้านไอคิวและอีคิว

แม้แต่ศาสนาอิสลามยังได้ความสำคัญของของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานถึง 2 ปี ดังคำกล่าวที่ว่า า "จงให้ผู้หญิงที่มีมารยาทเหมาะสมทั้งภายในและภายนอก มาดูแลลูกน้อยของท่าน เพราะเด็กจะรับเอาคุณลักษณะต่างๆเหล่านั้นจากผู้ที่เลี้ยงดูพวกเขา"

เหตุผลที่อิสลามสนับสนุนให้ลูกเริ่มดูดนมแม่ในครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงแรกเมื่อเกิดมา เพราะว่าการดูดนมแม่ กระตุ้นสัญชาตญาณของมนุษย์และความเป็นแม่ กระตุ้นความผูกพันทางจิตใจของแม่และลูก กระตุ้นให้สร้างนมแม่และหลั่งอย่างเต็มที่เร็วขึ้น กระตุ้นการขับถ่ายขี้เทา และลดภาวะตัวเหลือง ให้ลูกได้รับสารต้านทานจากหัวน้ำนม  หรือแม้แต่ในช่วงถือศีลอด หญิงที่ให้นมบุตรจะได้รับการยกเว้น แล้วหลังจากนั้นให้ผู้เป็นแม่หาชดเชยในการถือศีลอดใสนช่วงเวลาที่เหมาะสมได้

“การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วงที่จะเป็นอุปสรรคมากที่สุดคือ ช่วง 3 เดือนแรกหลังคลอด ถ้าผ่านช่วงนี้ไปได้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะยาวจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าถามเรื่องของอุปสรรคในการทำงาน จะพบว่าในช่วงแรกคนในชุมชนจะไม่เข้าใจเรื่องของการทำงานของสาธารณสุขชุมชน ให้ความเชื่อมั่นกับโต๊ะบีแดมากกว่า เราจึงแก้ปัญหานี้ด้วยการจัดอบรมให้โต๊ะบีแดมีความเข้าใจเรื่องอนามัยแม่และเด็ก และเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆให้สอดคล้องกับความเชื่อตามหลักศาสนาอิสลาม ส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่คลอดในโรงพยาบาลครบ 100% ”

จุดเด่นของที่ตำบลโละจูดมีแต่ที่อื่นไม่มี คือ การที่เราสามารถดึงโต๊ะอิหม่ามทั้ง 18 ท่าน ให้มาช่วยในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และนี่คือ จุดแข็งและเด่นที่ทำให้พื้นที่ตำบลโละจูด ประสบความสำเร็จได้

ส่วนวิธีการสร้างกำลังใจในการทำงานของเจ๊ะนิง คือ จะทำงานทุกอย่างเพื่อชุมชน เพราะในชุมชนไม่มีคนอื่น มีแต่ญาติเรา พี่น้องเรา และจะทำให้ในทุกๆด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม ให้กับชุมชนของเราตลอดไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง