ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรคมะเร็ง ใครๆ ก็ไม่อยากประสบพบเจอ แต่ในความเป็นจริงคงไม่มีใครที่ไม่มีญาติพี่น้องหรือคนรู้จักที่ไม่เป็นมะเร็ง ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบัน โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายเป็นอันดับหนึ่งของคนไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา โดยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โรคมะเร็งไม่ได้เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของมวลมนุษยชาติ โดยในปีพ.ศ.2555 องค์การอนามัยโลก พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั่วโลกจำนวน 14 ล้านรายและในจำนวนนี้เสียชีวิตถึง 8.2 ล้านราย

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยว่า ปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปีละประมาณ 60,000 รายหรือเฉลี่ย 7 รายต่อชั่วโมง ทุกวันนี้พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละ 100,000 กว่าราย โดยมะเร็งที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรกในเพศชาย คือ มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองตามลำดับ ส่วนมะเร็งที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรกในเพศหญิงได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักตามลำดับ โดยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งเต้านมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากวิถีชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบของชาวตะวันตกมากขึ้น ทำให้มีพฤติกรรมเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น เช่น การบริโภคเนื้อสัตว์และไขมันมากขึ้น บริโภคผักและผลไม้ลดลง ขาดการออกกำลังกาย รวมถึงสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยสารพิษและสารก่อมะเร็ง ทำให้โรคมะเร็งยังมีอุบัติการณ์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาโรคมะเร็งอย่างเป็นระบบ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ หนึ่งในหน่วยงานหลักที่สำคัญของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งระดับชาติ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2560 โดยอาศัยแนวทางการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งขององค์การอนามัยโลก ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 7 ด้าน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 แผนการป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ยุทธศาสตร์ที่ 2 แผนการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคมะเร็งระยะเริ่มต้น ยุทธศาสตร์ที่ 3 แผนการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ยุทธศาสตร์ที่ 4 แผนการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ยุทธศาสตร์ที่ 5 แผนการวิจัยด้านโรคมะเร็ง ยุทธศาสตร์ที่ 6 แผนสารสนเทศโรคมะเร็ง และยุทธศาสตร์สุดท้าย แผนการสร้างเสริมสมรรถนะองค์กรในการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญคือ การลดอัตราการป่วยด้วยโรคมะเร็ง ลดระยะเวลารอคอยการรักษา ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งให้ยาวนานมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

ทางด้าน นาวาตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม. มีการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2520 ปัจจุบันมีสมาชิก อสม.ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดย อสม.นั้น ถือเป็นหัวใจดวงใหญ่และสำคัญ เนื่องจากเป็นกลุ่มอาสาสมัครสุขภาพผู้เสียสละและมีจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านคนทั่วประเทศ ที่ทำงานในพื้นที่ชุมชน ประสานงานกับบุคลากรทางด้านสาธารณสุขและหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ในบทบาทเชิงรุกมากขึ้น กล่าวคือ อสม.จะต้องเป็นผู้นำทางความคิด ผู้นำในการแก้ปัญหาสุขภาพในตำบลมากขึ้น เพื่อให้การบริการด้านสาธารณสุขมีประสิทธิภาพและครอบคลุมประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น อสม. จึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพ โดยมุ่งเน้นใน 4 บทบาทหลักอันได้แก่

การส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก มุ่งส่งเสริมบทบาท อสม.ให้ปฏิบัติหน้าที่เชิงรุกเพื่อเสริมสร้างสุขภาพประชาชนในท้องถิ่นและชุมชน บทบาทการสร้างระบบความร่วมมือเน้นการทำงานเป็นทีมร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาพในชุมชนโดยใช้แผนสุขภาพตำบลในการแก้ไขปัญหา ผ่านเวทีชุมชนหรือทำข้อตกลงในการจัดการสุขภาพชุมชนร่วมกัน มุ่งเน้นการพัฒนาบทบาทประชาชน โดยเป็นแกนนำหลักในการจัดทำแผนสุขภาพตำบลและขับเคลื่อนร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผนและดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง และบทบาทการสร้างมาตรการทางสังคม มีการกำหนดข้อตกลงร่วมกับคนในชุมชนในการแก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้ อสม. ได้รับความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้องมาโดยตลอด ดังนั้น โครงการถ่ายทอดความรู้ด้านโรคมะเร็งให้แก่ อสม.ที่จัดโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติในครั้งแรกครั้งนี้ จึงเป็นโครงการสำคัญที่บูรณาการการทำงานระหว่างกรมการแพทย์และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยมุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดด้านสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก

ในส่วนของรายละเอียดของโครงการ อสม.เชี่ยวชาญโรคมะเร็งนั้น นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันมะเร็งแห่งชาตินอกจากจะเป็นหน่วยงานที่ให้บริการการตรวจคัดกรองค้นหามะเร็งในระยะเริ่มต้น ให้บริการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาโรคมะเร็งอย่างครบวงจรแล้ว ยังมีภารกิจหลักในด้านการกำหนดนโยบายการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งของประเทศ ที่ต้องครอบคลุมทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่การรณรงค์ให้ความรู้เพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งสำหรับประชาชนคนปกติที่ยังไม่ป่วยเป็นมะเร็ง และกิจกรรมต่างๆ ทุกแผนยุทธศาสตร์ ไปจนถึงการดูแลแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งแล้วในระยะสุดท้าย โดยมุ่งเน้นการวิจัยและการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก

“ในส่วนของการสร้างเครือข่ายกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งนั้น เครือข่าย อสม.ทั่วประเทศนับเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพที่ถูกต้องและสามารถเข้าถึงพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ จึงร่วมกับเครือข่าย อสม. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดโครงการ อสม.เชี่ยวชาญมะเร็ง ให้แก่ตัวแทน อสม.จากทุกจังหวัดทั่วประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีจำนวน อสม.ที่เข้าร่วมโครงการกว่า 500 คน มีหัวข้อการอบรมที่น่าสนใจ เช่น การปฏิบัติตัวเพื่อให้ห่างไกลโรคมะเร็งโดยใช้หลักการ 5 ทำ 5 ไม่ ห่างไกลมะเร็ง การสังเกตความผิดปกติของร่างกายตามหลัก 7 สัญญาณอันตรายที่มีโอกาสเป็นมะเร็ง การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มต้นในกลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยง การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อลบล้างความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับโรคมะเร็ง และความรู้เรื่องโรคมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย โดยโครงการ อสม.เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง จัดขึ้นในวันที่ 21-22 สิงหาคม 2557 ณ ห้องจูปิเตอร์ 4-7 ชั้น 1 อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี นอกจากนั้นในงานยังมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้จากเครือข่ายสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและการบำบัดรักษาโรคมะเร็งอีกหลายองค์กร โดยเชื่อมั่นว่ากิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ตัวแทน อสม.จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ได้นำความรู้ความเข้าใจด้านโรคมะเร็งที่ถูกต้องไปถ่ายทอดให้แก่ประชาชนรากหญ้า นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและสามารถลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต” นพ.วีรวุฒิ กล่าว