ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในช่วงที่ผ่านมา ความร้อนแรงของกระแสข่าวของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการให้ประชาชนร่วมจ่ายในการรักษาพยาบาล(co-pay) ได้สร้างความสับสนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก แม้ว่าล่าสุด เจ้ากระทรวงชั่วคราวอย่าง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒณ์ ปลัดกระทรวงสธ. ในฐานะรักษาการรมว.สธ. จะออกมาชี้แจงแล้วว่า สธ.และ คสช.ไม่มีแนวคิดจะให้ประชาชนร่วมจ่ายแต่อย่างใด แต่ข่าวที่ออกมานั้นได้บั่นทอนความรู้สึกของทุกฝ่าย จนภาคประชาชนต้องออกมาเรียกร้องความชัดเจน

นส.สุภัทรา นาคะผิว 

นส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า  จากกรณีที่มีข่าวที่ สธ.ได้นำเสนอ คสช.ให้ประชาชนต้องร่วมจ่าย (co-pay) ในอัตรา 30-50%  นั้น และได้มีการออกมาปฏิเสธในเวลาต่อมานั้น ตนเห็นว่า  ที่ผ่านมาปลัด สธ.ควรแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะในอดีตปลัด สธ.มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีที่มาจากพรรคเพื่อไทย ที่เคยมีแนวคิดจะผลักดันให้เกิดการร่วมจ่ายอีกครั้ง  จึงทำให้เกิดเป็นภาพของการเล่นเกมทางเมือง

ที่ผ่านมา มีงานวิจัยที่ระบุว่า ณ เวลานี้ยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสมในการให้ประชาชนร่วมจ่ายในค่ารักษาพยาบาล  เพราะประชานทุกคนเสียภาษีเหมือนกันหมดทั้งคนรวย คนจน เสียทั้งในทางตรงและทางอ้อมแตกต่างกันไป จึงเปรียบเหมือนกับการนำเงินภาษีของคนทั้งประเทศส่วนหนึ่งมาจัดสรรระบบริการสุขภาพให้กับประชาชน

 “การเก็บเงิน 30 บาทนั้น ไม่มีนัยยะที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารการจัดการในภาพรวม มันเปรียบเทียบกันไม่ได้” โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าว

ในปี 2545 เป็นปีที่เริ่มมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถือว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบสุขภาพในประเทศไทย ทำให้คนที่ไม่เคยมีสิทธิใด ได้มีสิทธิในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ จากเดิมมีแค่กลุ่มราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และประกันสังคมเท่านั้น  ซึ่งเท่ากับเป็นการจัดสรรภาษีมาใช้จ่าย เป็นรัฐสวัสดิการที่ดี ช่วยให้ประชาชนไม่ต้องล้มละลายจากการรักษาพยาบาล ให้ผลที่คุ้มค่า ที่ทำให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพดีขึ้น

เมื่อมาถึงในยุคการปฏิรูป เราควรจะมาพูดเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพ เราจะมีโจทย์ใหญ่อยู่ 3 โจทย์ คือ 1.กลุ่มราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ 2.กลุ่มประกันสังคม 3.กลุ่มบัตรทอง ในปัจจุบันการรักษาโรคเดียวกันของคน 3 กลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า เมื่อจะปฏิรูปแล้วจะทำอย่างไรให้ลดความเหลื่อมล้ำและเป็นธรรมกับทุกกลุ่ม  โฆษกคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดคนระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กับ สปสช. ที่เคยมีหนังสือจากกระทรวงสาธารณสุขมีหนังสือลงวันที่  4 ก.ค. 2557 สั่ง สสจ.และ ผอ.รพ.ทุกแห่งงดทำข้อตกลงและทบทวนการเข้าร่วมกิจกรรมทุกประเภทกับ สปสช. ในพื้นที่ จนกว่าจะมีข้อตกลงการบริหารงบประมาณที่ชัดเจนระหว่าง สธ. กับ สปสช. ส่วนกลาง นั้น อาจเป็นเรื่องของการเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ในเรื่องดังกล่าว สุภัทรา มองว่า เดิม สธ.มีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการ ซึ่งคนที่เข้ามาบริหารจะมาจากฝ่ายการเมือง ซึ่งมีการตรวจสอบได้ยากจึงมีปัญหาการทุกจริตต่างตามที่เห็นในข่าว แต่เมื่อมี สปสช.แยกออกมา จึงเป็นการถ่วงดุลอำนาจ แยกให้ผู้กับผู้รับบริการออกจากกัน การทำงานของ สปสช. จะต้องผ่านบอร์ดคณะทำงานที่มาจากทุกภาคส่วน  ทำให้ตรวจตรวจสอบทำได้ง่ายขึ้น

ในขณะเดียวกันการแบ่งเขตระบบสุขภาพของ สธ. นั้น พื้นที่จะต้องมีการคุยกัน  มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา  ให้ท้องถิ่นเข้ามามีบทบาท ร่วมจ่ายเงินสมทบด้านการส่งเสริมและป้องกันโรคของคนในพื้นที่  ในอดีตเราทราบกันดีว่า ระบบสุขภาพของไทยมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งเรื่องบุคลากร  ทำให้การรักษาพยาบาลไม่ได้มาตรฐาน แต่หากเราใช้ประชาชนให้เข้ามาร่วมบริหารจัดการด้านบริการมากกว่าเป็นผู้รับบริการอย่างเดียว ซึ่งจะให้ผลดีกับพื้นที่เป็นอย่างมาก

“ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของผู้บริหาร การออกหนังสือเวียนดังกล่าว ที่มาจากคนระดับปลัด หรือรองปลัดกระทรวง จะทำให้คนภายในเกิดความสับสน แต่จะขัดแย้งกันอย่างไร ก็ไม่ควรมีผลกระทบกระเทือนกับประชาชนในพื้นที่”

นอกจากนี้  โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ยังได้ฝากข้อความถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า พวกเราทุกคนควรจะพยายามมีเป้าหมายเดียวกันทั้ง สธ. สปสช. ภาคประชาชน และ คสช. ต่างต้องร่วมมือกันช่วยผลักดันให้รัฐธรรมนูญใหม่ที่จะเกิดขึ้น มีแนวทางเรื่องของระบบสุขภาพที่ชัดเจนขึ้น เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้ง 3 กองทุน ตนอยากเห็นคนไทยทุกกลุ่มมีสิทธิการรักษาเท่าเทียมกันทุกกลุ่ม