ผลประชุมเกณฑ์บรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการ สธ.ยันยังใช้เกณฑ์และใช้ตัวเลขการปรับเกลี่ยเดิม ไม่มีการจัดสรรใหม่ เพราะจะเสียเวลามากกว่าเดิม รับยังมีจุดอ่อนแต่เยียวยาได้ด้วยการเร่งเสนอบรรจุรอบ 3 แถมอีก 1 พันกว่าตำแหน่ง จากผู้เกษียณแล้ว พร้อมเชิญลูกจ้างชั่วคราว 21 สายงาน หารือทำความเข้าใจสัปดาห์หน้า
ภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) อนุมัติอัตรากำลังข้าราชการรอบที่ 2 ปีงบประมาณ 2557 ให้กับกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 9,074 ตำแหน่ง ซึ่งในจำนวนนี้ 1,527 ตำแหน่งเป็นของนักเรียนทุน 3 วิชาชีพคือ แพทย์ ทันตแพทย์และเภสัชกร ส่วนอีก 7,547 ตำแหน่ง จะนำมาปรับเปลี่ยนให้กับลูกจ้างชั่วคราว 21 สายงาน โดยกระจายไปยังโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป 2,289 ตำแหน่ง โรงพยาบาลชุมชน 3,126 ตำแหน่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 2,036 ตำแหน่ง และอื่นๆ จำนวน 87 ตำแหน่ง นั้น แต่มีลูกจ้างชั่วคราวหลายสาขาวิชาชีพออกมาเรียกร้องให้มีการปรับเกลี่ยใหม่เนื่องจากตัวเลขการปรับเกลี่ยอัตรากำลังที่ออกมานั้นไม่มีความเป็นธรรม
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์
26 ก.ค. 57 ล่าสุด นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลการประชุมเรื่องการจัดสรรอัตรากำลังข้าราชการซึ่งได้รับการอนุมัติในรอบที่ 2 จำนวน 7,547 ตำแหน่ง ว่า ยืนยันเกณฑ์การจัดสรรเดิมที่จังหวัดและเขตบริการสุขภาพทำเรียบร้อยแล้ว ไม่มีการจัดสรรใหม่เพราะไม่อย่างนั้นจะเสียเวลามากกว่าเดิม ซึ่งต้องยอมรับว่ามีจุดอ่อนไปบ้างแต่สามารถเยียวยาได้ด้วยการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการรอบที่ 3 ปีงบประมาณ 2558 ซึ่ง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อที่จะได้สามารถเสนอให้ คสช.พิจารณาในเดือนกันยายนและดำเนินการบรรจุในเดือนตุลาคม นี่คือกรอบระยะเวลาในการทำงานในรอบที่ 3 รวมถึงนำเอาตำแหน่งข้าราชการที่ว่างลงจากการเกษียณราชการหลังจากเดือนตุลาคมไปแล้วมาจัดสรรเพิ่มเติมซึ่งทราบตัวเลขคร่าวๆ ว่ามีประมาณ 1 พันกว่าตำแหน่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเยียวยาได้
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่ารับฟังเสียงสะท้อนจากน้องๆ ลูกจ้างชั่วคราวทุกคน แต่ในกรณีที่ยังเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน เช่น การจัดสรรตำแหน่งให้กับวิชาชีพพยาบาลมากที่สุดประมาณ 3,700 กว่าตำแหน่งนั้นก็เพราะพยาบาลเป็นกลุ่มวิชาชีพใหญ่ มีคนเยอะกว่า เพราะฉะนั้นในสัปดาห์หน้าจะเชิญลูกจ้างชั่วคราวทั้ง 21 สายวิชาชีพมาหารือ ทำความเข้าใจกัน ส่วนกรณีข้อท้วงติงว่าความไม่เป็นธรรมเกิดจากการบรรจุรุ่นน้องที่จบมาทีหลังก่อนรุ่นพี่นั้นไม่เป็นความจริง เพราะรอบนี้จัดสรรด้วยการเอาตำแหน่งไปลงพื้นที่ที่ยังต้องการกำลังคน เช่น โรงพยาบาล ก. มีลูกจ้างชั่วคราวที่จบมาตั้งแต่ปี 2552 โรงพยาบาล ข. มีคนจบมาในปี 2553 -2554 แต่ได้รับการจัดสรรตำแหน่งลงไป ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกจ้างชั่วคราวในโรงพยาบาล ข.จะได้รับการบรรจุเลย เพราะหากลูกจ้างชั่วคราวที่จบมาตั้งแต่ 2552 ที่มีอายุการทำงานมากกว่าไปสมัครทำที่ โรงพยาบาล ข. ก็สามารถทำได้ คือตำแหน่งกับคนนั้นคนละขั้นตอนกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าเช่นนั้นแล้วจะเกิดความไม่เป็นธรรมกับลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานในโรงพยาบาล ข. ตั้งแต่แรกหรือไม่ นพ.วชิระ กล่าวว่า ตำแหน่งที่ส่งลงไปเป็นของทุกคนที่อยู่ในจังหวัดนั้นๆ เพราะประเมินตามกรอบที่ควรมี โรงพยาบาล ก.อาจจะมีอัตรากำลังอิ่มตัวแล้ว แต่มีการจ้างลูกจ้างชั่วคราวในภายหลังถือว่าเกินกรอบ แต่โรงพยาบาล ข. กรอบยังไม่เต็ม ทางจังหวัดต้องเกลี่ยกำลังคนลงไป ใครอยากบรรจุต้องลงไปตรงนั้น และตามเกณฑ์ของ ก.พ.คือ คนที่ผ่านการสอบบรรจุ แล้วจะได้รับการจัดสรรตามปี ทั้งนี้ที่ว่างมากคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เราอยากให้คนลงไปตามตำแหน่งที่จัดสรรลงไปในพื้นที่ ไม่อย่างนั้นพื้นที่ไหนขาดก็จะขาดอยู่อย่างนั้นเรื่อยๆ
“รอบที่แล้วถึงแม้จะมีคนบอกว่าเกณฑ์การจัดสรรไม่เที่ยงตรง แต่ต้องบอกว่าเป็นเกณฑ์ที่ดีที่สุดในห้วงเวลานั้น เพราะดู 3 อย่างทั้งภาระงาน แผนพัฒนาระบบบริการปัจจุบันต่ออนาคต และพิจารณาจากฐานประชากร ซึ่งบางวิชาชีพไม่ได้ใช้เกณฑ์ภาระงานเลย อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขรับฟังเสียงสะท้อนจากน้องๆ ทุกคน ตอนนี้น้องๆ ยังไม่เข้าใจ ก็ต้องทำความเข้าใจว่าตอนนี้เราจัดตามความต้องการตำแหน่ง ไม่ได้จัดตามคน การจัดคนก็จะจัดให้เสร็จภายใน 1 เดือน โดยดูภาพรวมของจังหวัด” นพ.วชิระ กล่าว
- 4 views